วันที่ 2 พ.ค. 2567 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีที่ จ.อยุธยา และที่อื่นๆ แบบซ้ำซาก ว่า บริษัทสารเคมีต่างๆที่เกิดเหตุไฟไหม้ ซึ่งเกิดเหตุบ่อยครั้ง จนมีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเป็นไฟไหม้ เพื่อหลบเลี่ยงประเด็นอื่นหรือไม่ เช่น การถูกสั่งให้ย้ายสารเคมีแล้วไม่อยากเคลื่อนย้าย จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ ตนไม่ได้บอกว่าเกิดจากความตั้งใจ แต่เป็นการตั้งข้อสังเกตว่าหากเกิดเหตุบ่อยครั้งขึ้น เมื่อมีคำสั่งให้ขนย้าย หรือมีคำสั่งให้ป้องกันสารเคมีของโรงงานท่าน มันก็อดคิดไม่ได้ว่าทุกครั้งทำไมต้องจบด้วยเพลิงไหม้ คิดว่าถ้านายทุน กลุ่มทุนเหล่านี้ แก้ปัญหาโดยการเอารัดเอาเปรียบสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ ควรจะลงรายละเอียดเชิงลึกไปถึงว่าเจ้าของโรงงานเดียวกันที่อยู่ในหลายจังหวัด มีพฤติกรรมแก้ไขปัญหาแบบเดียวกันทั้งหมดหรือไม่ ถ้าจุดจบอยู่ที่เพลิงไหม้ทุกครั้ง คิดว่าต้องหาความจริงให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้ ไม่อย่างนั้นกลุ่มทุนก็จะเอารัดเอาเปรียบโดยการแก้ปัญหาแบบเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

เมื่อถามว่าล่าสุด นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลาออกจากราชการ รัฐบาลจะสานต่องานในการแก้ปัญหาได้หรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า บรรทัดฐานความรับผิดชอบของไทยกับต่างชาติต่างกัน ในต่างประเทศ ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้น จะแก้ไขปัญหาอย่างสุดความสามารถให้เสร็จก่อนที่จะลาออกขึ้น วันนี้พอเกิดเหตุปุ๊บออกปั๊บ มันลอยแพลูกน้องด้วยว่าจะไปในทิศทางไหน แล้วทิศทางในการแก้ไขปัญหายังไม่รู้เลยว่าจะไปทางไหน คิดว่าใจเย็นๆ สักเล็กน้อย ถ้าเกิดมีปัญหาแล้วช่วยกันแก้ปัญหาก่อน และเราอยากประกาศสปิริตแสดงความรับผิดชอบก็ทำได้เลย

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า คนระดับอธิบดี ข้าราชการระดับสูงคงไม่ประกาศลาออกง่ายๆ ตนคิดว่าน่าจะมีแรงกดดันภายในสูงพอสมควร ทั้งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือภายในองค์กรเองที่ไม่สามารถตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดได้ รวมถึงไม่สามารถแก้ไขไปในทิศทางไหนได้ จนแรงกดดันทำให้เกิดการลาออก ซึ่งตนคิดว่าควรจะช่วยกันแก้ปัญหาให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้หลุดพ้นจากปัญหา เนื่องจากเป็นภารกิจของอธิบดีโดยตรง

เมื่อถามว่าการลาออกในครั้งนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตว่าให้ความผิดนั้นพ้นตัว นายณัฐชา กล่าวว่า ลาออกไปแล้วความผิดก็สามารถตามกันไปได้  ถ้าเป็นการกระทำความผิดในห้วงเวลาที่มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบ และเข้าไปมีส่วนรู้เห็นในการกระทำครั้งนี้ ไม่ว่าจะลาออกไปหรือหนีไปที่ไหนก็สามารถกลับมาถูกดำเนินคดีได้ เราเห็นข้าราชการหลายคนที่ลาออกไปแล้ว สุดท้ายก็มาเป็นคดีความ หลังจากนั้น 4-5 ปี มีการตัดสินคดีก็ต้องกลับมารับโทษอยู่ดี