หมายเหตุ : “ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม” วุฒิสมาชิก ให้สัมภาษณ์รายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงประเด็นความเคลื่อนไหวที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยจะมีการทำประชามติ 3ครั้ง นั้นจะส่งผลอย่างไร รวมถึงการเลือกสว.ชุดใหม่ จากนี้จะมีจุดใดที่ต้องจับตาหรือไม่ ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

- รัฐบาลเดินหน้าในการทำประชามติ ด้วยกัน 3 ครั้ง โดยเว้นในส่วนของหมวด 1และหมวด 2 ในมุมมองส่วนตัวเห็นอย่างไร

เรื่องนี้ได้เคยเตือนรัฐบาลแล้ว ในช่วงของการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลที่ผ่านมา  ซึ่งพื้นฐานสำคัญเราต้องไม่อคติต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เนื่องจากการเลือกตั้งสามารถผ่านไปได้เรียบร้อย มีรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญนี้เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันกลไกต่างๆตามรัฐธรรมนูญได้ดำเนินไป และสว.ตามบทเฉพาะกาลก็ได้หมดลงแล้ว จากนี้ก็จะมีสว.ชุดใหม่ขึ้นมา

ดังนั้นการที่เราไปปักธงว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้รับการยอมรับ ผมคิดว่าประเด็นนี้น่าจะคิดใหม่ เราได้เคยเตือนรัฐบาลไปแล้ว  แต่รัฐบาลก็ยังจะมีมติครม. และจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้มีส.ส.ร.มาเขียน โดยกลไกขั้นตอนของรัฐบาล จะให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ก่อนที่รัฐสภาจะมีอำนาจในการแก้ไข ดังนั้นตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/64 ก็ต้องไปทำก่อนที่ร่างกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ครั้งที่ 2 เมื่อนำเข้ารัฐสภาแล้ว มีกฎหมายมาตรา 256(8) ระบุว่าถ้ากระทบต่อสถาบันหลัก การใช้อำนาจอธิปไตยหลักๆก็ต้องไปถามประชามติก่อน  และครั้งที่3  เมื่อมีส.ส.ร.แล้ว เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว ก็ต้องไปทำประชามติเป็นครั้งที่ 3  รัฐบาลกำลังเดินหน้าไปอย่างนี้ ซึ่งความเห็นของสว.หลายท่าน ตลอดจนความเห็นของผมเองเห็นว่าเรื่องนี้เกิดความเสียหายมาก

ประเด็นแรกคืองบประมาณที่ต้องนำมาใช้ในการทำประชามติ 3 ครั้งเป็นเงินนับหมื่นล้าน มันเสียไปโดยเปล่าประโยชน์  ประการที่สอง การที่จะทำประชามติ 3 ครั้งได้สร้างความขัดแย้งต่อพี่น้องประชาชน  เพราะแต่ละครั้งก็จะมีประเด็นในการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของคนทั้งประเทศ  การทำประชามติจะต้องให้คนที่มีสิทธิ 50 กว่าล้านคนออกมาใช้สิทธิ มากกว่าครึ่งหนึ่ง และเสียงที่ออกมาก็จะต้องมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกเสียงอีก เพราะฉะนั้นประชาชนทั้งประเทศก็จะได้รับการรณรงค์ในความเชื่อต่างๆ การให้ข้อมูล และเหตุผลที่แตกต่างกัน  ก็เป็นปัญหาใหญ่

สุดท้ายก็คือว่าทำไม เราไม่แก้ไขโดยรัฐสภา  เมื่อยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 อยู่แล้วก็เหลือไม่กี่มาตราเท่านั้นเอง ฉะนั้นตรงนี้ผมว่า เรากลับไปให้รัฐสภาที่มีอำนาจหน้าที่อยู่แล้วดำเนินการไม่ดีกว่าหรือ  ซึ่งรัฐสภาก็จะมีทั้งสส.และสว.ที่จะมาใหม่ เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนอย่างครบถ้วนอยู่แล้ว ก็ให้รัฐสภาทำหน้าที่ดีกว่า  นี่คือสิ่งที่เราอยากเตือนรัฐบาลและอยากเรียกร้องให้รัฐบาลได้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่

-มองในมุมที่ว่าอาจจะเกิดความสับสน วุ่นวาย กระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของพี่น้องประชาชนด้วย

ถูกต้อง นี่คือเรื่องสำคัญ  นอกจากการใช้ประมาณก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็เหมือนกับการจ้างคนในประเทศอยู่แล้วไม่ได้ติดใจมากนัก  แต่ประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างหากที่จะเป็นปัญหา สร้างความขัดแย้ง  ยกตัวอย่าง เรื่องสถาบันหลักของชาติ ที่แม้จะบอกว่าไม่แก้หมวด 1 -2 ก็ตาม แต่ยังมีอีก 39 มาตรา ที่ว่าด้วยพระราชอำนาจที่จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันหลักของเรากับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น สส.,สว. หรือการกำหนดให้ครม.ต้องเข้าถวายสัตย์ฯ และต้องทำในพระปรมาภิไธย การเปิด-ปิด สภาฯ หรือการประกาศสงครามกับต่างประเทศ ประเด็นต่างๆเหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้นจึงมีพระราชอำนาจในอีก 39มาตรา  ตรงนี้นี่แหละ ที่คุณจะแก้ไขได้ หากเป็นแนวทางที่ให้ส.ส.ร.มาแก้ ตรงนี้ก็จะโกลาหลทั้งประเทศ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เรื่องที่สอง รัฐธรรมนูญนี้ ปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ดังนั้นจึงจะมีกระบวนการเอาผิดนักการเมืองอย่างรุนแรง ในมาตรา 235 ตรงนี้ก็ไม่ได้พูดถึงไว้ และเมื่อมีการรณรงค์  สองฝ่ายที่อยากปกป้อง รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงก็จะรณรงค์เหมือนกัน ฉะนั้นผมคิดว่า ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นมากมาย

-ถ้าเช่นนั้น ทำไมรัฐบาลจึงต้องปักธงที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง

ผมคิดว่ามีสองเรื่อง  เรื่องแรกคือการหาเสียงที่ผ่านมา ซึ่งมีบางพรรคการเมือง เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ได้ปักธงเรื่องนี้ไว้ ในขณะนั้นการจัดตั้งรัฐบาล เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีการใช้เสียงสว.ไปร่วมโหวตนายกฯด้วย จึงมีการปักธงว่า เห็นไหมว่าร่มเงาเผด็จการ และต้นไม้พิษยังมีอยู่ ถ้าได้เข้ามาเป็นรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย  จุดนี้ก็เป็นผลพวง

อีกด้านหนึ่ง เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส ว่าจะมอบอำนาจสำคัญให้กับประชาชน แต่ผมว่าตรงนั้นมันได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญไปแล้ว คือบทเฉพาะกาลได้หมดลงไปแล้ว สว.ชุดที่อยู่นี้ก็ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และจะครบวาระลงในวันที่ 11 พ.ค.นี้ และวันที่ 10 พ.ค.นี้ก็จะมีการเลือกใหม่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยอมรับ หรือเนื้อหาบางมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมันได้หมดไปแล้ว  ดังนั้นจึงคิดว่ากระแสที่คุณเคยรับปากประชาชนเอาไว้ เราก็อธิบายประชาชนได้  อะไรที่อยากแก้ไขก็นำมาสู่อำนาจปกติของรัฐสภา จุดนี้จะเป็นความเป็นงดงามมากกว่า  อย่าไปดึงดันเพื่อที่รักษาสิ่งที่หาเสียงไว้เพียงเท่านั้น เพื่อเป็นภาพลักษณ์ ว่าใครพูดจริง ทำจริง ทำได้ ซึ่งผมคิดว่ามันจะไม่คุ้มค่ากัน

- ประเด็นเรื่องของสว.เอง ยังมีปัญหาอยู่หรือไม่ ในเรื่องของการเลือกสว. รวมถึงอาจจะมีการให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ทางสว.เองที่กำลังจะพ้นวาระนี้ ไม่มีปัญหาอะไร เราทำงานจนวินาทีสุดท้ายอยู่แล้ว แต่ประเด็นก็คือ จะเป็นเรื่องของกระบวนการเลือกกันเอง การจัดให้มีการเลือกกันเอง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะต้องดูกฎหมายให้ชัดเจน ไม่ให้ขัดแย้ง กับรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บอกให้เลือกกันเอง จำเป็นที่จะต้องให้ผู้ที่อยากจะเป็นสว.เข้ามาเลือกกันเอง เขาจะเลือกคนที่ดีที่สุด ที่เขายอมรับกัน ขึ้นมาเป็นสว.

แต่ขณะนี้ที่ผมได้ชี้ประเด็น คือต้องดูให้ดีเนื่องจากมีบางพรรคการเมือง  บางกลุ่มการเมืองไปเชิญชวนประชาชน บอกว่าคุณไม่ต้องไปเป็นสว.หรอก แต่คุณเลือกคนอื่น ซึ่งตรงนี้ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ  เพราะในเมื่อคุณไม่ได้อยากเป็นแล้วมาเลือก มันก็ขัดแย้ง เพราะเขาให้คนที่อยากเป็นไปเลือกกัน เมื่อคุณไม่อยากเป็นแล้วคุณจะไปเลือกได้อย่างไร ดังนั้นตรงนี้ที่คิดว่าจะเป็นปัญหามากทั้งตัวบทกฎหมาย และการบังคับใช้ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

-เท่ากับว่าเวลานี้มีสองประเด็น คือ คนที่ไม่ได้อยากเป็นแต่เสนอตัวเข้าไปเยอะ และอาจจะมีเรื่องของพรรคการเมืองเข้าไปด้วย แต่ที่น่าสนใจคือ เราจะได้เลือกสว.กันเมื่อใด แม้ล่าสุดมติจากที่ประชุมครม.จะออกไทม์ไลน์ชัดเจน แต่มีความพยายามที่จะไปยื่นเรื่องให้ตีความเรื่องอายุสว.ชุดปัจจุบัน จะมีปัญหาหรือไม่

ไม่กระทบเลย เพราะเป็นเรื่องคู่ขนานที่ไปด้วยกันได้ และทันที ที่มีการเลือกสว.ชุดใหม่ 200 คนขึ้นมา เมื่อมีการประกาศรายชื่อ สว.ชุดปัจจุบันก็จะสิ้นสภาพไปทันที แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศ อำนาจสามฝ่าย คือบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ไม่มีอำนาจใดที่เกิดสุญญากาศได้ เพราะต้องมีคนดูแลซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ชัดเจน