วันนี้ ( 3 พ.ค.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล   เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ   กล่าวถึงการติดตามตรวจสอบโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท   หลังรัฐบาลออกมาแถลงความชัดเจนในการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ    โดยยืนยัน   ว่า  ป.ป.ช.จะดำเนินการเฝ้าระวังต่อไป    หลังจากที่ได้มีการเสนอมาตรการไปแล้วก่อนหน้านี้    โดยจะดูว่ารัฐบาลได้นำข้อสังเกตอะไรที่  ป.ป.ช.ได้ให้ไว้ไปปรับปรุง   ดำเนินการอย่างไรบ้าง   โดยเฉพาะประเด็นของการกู้เงิน   การใช้ระบบบล็อกเชน( Blockchain )    แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอการขับเคลื่อนที่ชัดเจนมากกว่านี้

ป.ป.ช.ได้รวบรวมข่าวสารอยู่ตลอดเวลา   ซึ่งการดำเนินการของ  ป.ป.ช.อยู่ในการป้องปราม เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้น    โดยหากมีประเด็น ก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ก่อนแนะนำไปยังรัฐบาล   เพราะ  ป.ป.ช.ไม่สามารถห้ามหมดทุกเรื่องได้    รัฐบาลก็มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน    จำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งข้อกังวล ถึงการใช้งบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์  หรือ ธ.ก.ส.นั้น   นายนิวัติไชย ยืนยันว่า ป.ช.ช มีอำนาจติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย  เพราะงบฯ ของธนาคาร ธ.ก.ส. เป็นงบที่ใช้สำหรับกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก    จำเป็นต้องไปดูระเบียบของ ธ.ก.ส. ว่าสามารถใช้งบฯดังกล่าวกับโครงการนี้ได้หรือไม่    ซึ่ง  ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ  ป.ป.ช.อยู่แล้ว    ต้องไปดูข้อกฎหมาย วันนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าใครผิดใครถูก

ส่วนที่มองว่าฝ่ายการเมืองมีความต้องการให้ใช้งบประมาณส่วนนี้แล้วทำให้   ธ.ก.ส. ต้องยินยอม     เลขาธิการ  ป.ป.ช.เชื่อว่าฝ่ายการเมืองก็คงไม่กล้าที่จะทำผิดกฎหมาย   เพราะมันสุ่มเสี่ยง    โดยเฉพาะถ้ากฎหมายบอกว่าทำไม่ได้    ก็อย่าไปฝืน อันตราย  “หากผมเป็นรัฐบาลผมก็ไม่ทำหรอก มันตรวจสอบได้ง่าย” 

อย่างไรก็ตามเลขาธิการ  ป.ป.ช.ระบุว่า เวลานี้ยังมองไม่เห็นช่องทางการทุจริตในโครงการดังกล่าว     ส่วนที่มีความกังวลว่าจะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าวนั้น    เลขาธิการป.ป.ช.ยืนยัน    ว่าโครงการนี้แตกต่างจากโครงการจำนำข้าว    แต่ก็มีประเด็นที่จะต้องจับตา   เพราะงบประมาณส่วนนี้สนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรของเกษตรกร ดังนั้นต้องดูว่าจะมีปัญหาการฮั้วกับผู้ประกอบการหรือไม่   มีหลายเจ้าหรือไม่     ถ้ากำหนดว่าจะต้องซื้อปุ๋ยจากเจ้านี้   นั่นแปลว่าล็อค    ก็ถือว่ามีการเอื้อประโยชน์    หากมีผู้ประกอบการหลายเจ้า    เกษตรกรสามารถเลือกซื้อได้โดยที่ไม่มีการบังคับ  ก็ถือว่าเป็นอิสระ    มีเม็ดเงินเพิ่มเข้ามาในการหมุนเวียนทำการเกษตร    ส่วนจะเป็นเกษตรกรจริงหรือไม่   เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องไปดู