วันที่ 4 พ.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านเหล่ามะเขียว ตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เป็นชุมชนอยู่เรียบง่ายตามวิถีชีวิตที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรและการประมงเพราะชุมชนติดลุ่มน้ำจะทำนาปลูกข้าวทั้งนาปีและข้าวนาปรังส่วนนาปรังทำได้ปีละ2 ครั้งอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติไม่มีระบบชลประธาน ส่วนนาปีทำได้ครั้งเดียวเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็ปลูกแตงโมอินทรีย์และปลูกได้ปีละสองครั้งของฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวจึงทำให้ชุมชนบ้านเหล่ามะเขียวดำเนินชีวิตตามวิถีชาวชนบทจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน เมื่อว่างจากการทำนาทำสวนแล้วก็จะชักชวนกันไปหาปลาตามคลองน้ำสาธารณะมาประกอบอาหารรับประทานร่วมกันเหลือก็แบ่งปันปลาที่หาได้ไปฝากญาติพี่น้องในหมู่บ้าน

ส่วนการหาปลานั้นจะช่วยกันตัดกิ่งไม้ที่แห้งลงไปกองรวมกันไว้ในน้ำทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ก็จะพากันไปจับปลาเรียกว่า"ไปกินข้าวป่า"คือไปกินกันที่จับปลา ในส่วนขั้นตอนการเอาปลาก็จะนำตาข่ายล้อมรอบกองไม่ที่แช่น้ำอยู่ จากนั้นก็เอาไม้ออกให้หมดก็จะเหลือแต่ปลาแล้วค่อยเอาตาข่ายขึ้นปลาจะมารวมกันแล้วเอาตะกร้าตักปลาขึ้นมาซึ่งจะมีทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่

จากนั้นก็นำปลามาช่วยกันแยกปลาชนิดต่างๆออกจากกัน อีกส่วนก็จะประกอบอาหาร เช่นทำก้อยปลา ย่างปลา ต้มปลา เมื่อสุกแล้วก็จะจัดอาหารมาวางเป็นทางยาวแล้วนั่งรับประทานอาหารร่วมกันเรียกว่า"กินข้าวป่า"ส่วนปลาที่เหลือก็จะแบ่งกันไปกินหรือนำไปฝากญาติพี่น้องภายในหมู่บ้านเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่มีความสุขรักสามัคคีกันของคนชุมชนบ้านเหล่ามะเขียว ตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร