ปลูกป่าในใจคน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ก่อเกิดการเกื้อกูลพึ่งพาระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างสมดุล ดั่งเช่น ด้านการอนุรักษ์ป่า พระองค์พระราชทานทฤษฏีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง อันเป็นการปลูกป่าในลักษณะของสวนป่า ที่มีทั้งไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำไว้ให้คงอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เหนืออื่นใดทรงสร้างจิตสำนึกรักผืนป่าให้เกิดขึ้นในใจของผู้คน ให้ราษฎรเข้าใจในคุณค่าของผืนป่า และมีส่วนร่วมทำหน้าที่ดูแลรักษา เพื่อให้คนกับป่าสามารถดำรงอยู่และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน.....สืบไป เขื่อนขุนด่านปราการชลฯ วันที่ 4 ธันวาคม เมื่อพุทธศักราช 2536 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน เพื่อช่วยให้ราษฎรทางตอนล่างมีน้ำใช้ทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครนายกเป็นประจำทุกปี “ขุนด่านปราการชล” คือนามพระราชทาน ให้แก่โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้สร้างความหวังและความสุขให้แก่ราษฎรบนลุ่มน้ำนครนายก ... อันเป็นที่ประจักษ์แล้วในวันนี้ กษัตริย์นักพัฒนา ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมุ่งมั่นวางโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาทุกข์และสร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรไทย ...ทรงปรับแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ผืนแผ่นดินคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ ด้วยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ , การแก้ไขปัญหาดินในลักษณะต่างๆ , การฟื้นฟูรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ... ทรงส่งเสริมให้ราษฎรทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความรอบรู้และพึ่งตนเอง ด้วยแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งเพื่อเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ให้แก่ราษฎรในแต่ละภูมิภาค .. .ทรงวางรากฐานแห่งอนาคตด้วยโครงการด้านพลังงานทดแทน เพื่อแก้ไขปัญหาในยามที่น้ำมันขาดแคลน ด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 4,000 โครงการ ได้นำความเจริญมาสู่ผืนแผ่นดินไทย และสร้างสุขให้แก่ชีวิตของราษฎรไทยแล้วในวันนี้ โรงโคนมพระราชทาน วันที่ 7 ธันวาคม 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงงานนมในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และพระราชทานชื่อว่าโรงนมผงสวนดุสิต พร้อมทั้งมีพระราชกระแสรับสั่งในพิธีเปิดโรงงานว่า “โรงงานนี้เป็นโรงงานตัวอย่างและจะดำเนินการเป็นตัวอย่างสำหรับพสกนิกรและผู้ที่สนใจในการผลิตนมในประเทศไทย โรงงานนี้เป็นแห่งแรกที่ทำขึ้นในเมืองไทยและก็เป็นที่น่าภูมิใจว่าคนไทยได้ออกแบบและเป็นผู้สร้าง ขอให้ถือว่าโรงงานนี้เป็นโรงงานตัวอย่าง ใครอยากได้ความรู้ ใครอยากที่จะทำกิจการโคนมให้สำเร็จ ให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์แก่ตน แก่เศรษฐกิจของบ้านเมือง ก็ให้มาดูกิจการได้ทุกเมื่อ “ จากพระราชกระแสรับสั่งนี้ นอกจากเจ้าหน้าที่ที่ประจำโรงนม และศูนย์รวมนมจะทำหน้าที่ผลิตนมแล้ว ยังเป็นแหล่งความรู้ให้ผู้ที่สนใจ เข้ามาศึกษาดูงานได้อีกด้วย ซึ่งงานอุตสาหกรรมนมนั้นจะประกอบไปด้วยโรงโคนมสวนจิตรลดา ศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงเนยแข็งสวนจิตรลดา โรงนม UHT ที่อยู่ในรูปแบบกล่องสีเหลืองประทับตราว่า สวนจิตรลดา ซึ่งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงช่วยทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีที่ส่งนมเพื่อแก้ปัญหานมสดล้นตลาด และทรงช่วยให้คนไทยได้บริโภคนมที่มีคุณภาพ พลังงานทดแทน นับเป็นเวลาอันยาวนาน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสนพระราชหฤทัยศึกษาทดลองเรื่องพลังงานทดแทน เพื่อนำมารองรับปัญหาน้ำมันขาดแคลนและมีราคาแพงในอนาคต ดั่งเช่น เมื่อ พ.ศ.2528 ได้พระราชทานพระราชดำริให้นำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ เรียกว่าแก๊สโซฮอล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเบนซิน เช่นเดียวกับพระราชดำริให้ศึกษาทดลองใช้ไบโอดีเซล โดยนำน้ำมันจากไขสัตว์หรือพืช มาเป็นเชื้อเพลิง ดั่งเช่น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ได้จัดตั้งโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก เพื่อทดลองใช้น้ำมันปาล์มผสมน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงแก่เครื่องจักรกลการเกษตร และพัฒนาไปสู่พลังงานเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ทั่วไป รวมทั้งแนวพระราชดำริอีกในหลายโครงการ ซึ่งได้สร้างองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนให้แก่ประเทศไทย อันเป็นรากฐานในการพัฒนาและสร้างสุขให้แก่ราษฎรไทย ... สืบไป ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2525 ได้ถือเป็นวันก่อกำเนิดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงถือว่านี่คือ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิต และสร้างสุขให้แก่ราษฎรในภาคเหนือ ได้อย่างสมบรูณ์ ด้วยแนวพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่ ฟื้นฟูป่า ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น รวมถึงทฤษฎีการปลูกป่า 3 อย่าง 4 ประโยชน์ การส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ได้สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผืนแผ่นดิน เช่นเดียวกับการเผยแพร่ความรู้ในด้านเกษตรกรรมรูปแบบต่างๆไปสู่ราษฎร ทั้งด้านการพัฒนาดิน การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์และการประมง เพื่อนำไปประกอบอาชีพจนประสบผลสำเร็จ .. เหนืออื่นใด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ ได้ขยายผลแห่งความสำเร็จ ไปสู่พื้นที่ต่างๆของภาคเหนือ ซึ่งสร้างสุข ให้แก่ราษฎรและผืนแผ่นดินไทยแล้ว ในวันนี้ เศรษฐกิจพอเพียงฯ ด้วยเป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาซึ่งทรงงานด้วยฐานข้อมูลที่ละเอียด ถูกต้องทั้งสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละภาค โดยแนวทางการพัฒนาของพระองค์ทรงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนเป็นปัจจัยแรก ดังที่ทรงกำหนดทฤษฎีที่เรียกว่า “การระเบิดจากข้างใน” ซึ่งหมายถึงให้คนเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ก่อน แล้วจึงค่อยขยายการพัฒนามาสู่ชุมชนและประเทศชาติตามลำดับแนวทางการพัฒนาแบบพออยู่พอกิน หรือความพอเพียงนั้น พระองค์ได้ทรงเน้นย้ำผ่านพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสต่างๆมาเป็นระยะๆ .. และเมื่อประเทศไทยต้องบอบช้ำกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงเน้น ความพอเพียง ความพอประมาณ และความมีเหตุผล จึงเป็นเสมือนหลักยึดเหนี่ยวแก่ประชาชนและประเทศชาติในเวลานั้น และกลายเป็นปรัชญาที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายหันกลับมาทบทวนอย่าง จริงจัง .. ถึงวันนี้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯได้กลายเป็นหนทางอันแจ่มชัดในการพัฒนาประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน.. สืบไป สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ห้วยแก้ว ย้อนกลับไปในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ไปยังสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีกรมปศุสัตว์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และได้กราบบังคมทูลเบิกนายโชคชัย บุลกุล และภรรยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโคพ่อพันธุ์แซนต์ต้าเตอร์ ทูดิส 4 ตัว โคพันธุ์อเมริกันบรามัน 2 ตัว และอธิบดีกรมปศุสัตว์น้อมเกล้าฯ ถวายแกะพ่อพันธุ์ 29 ตัว แกะแม่พันธุ์ 19 ตัว และแพะพ่อพันธุ์ 1 ตัว จากนั้นทรงพระดำเนินทอดพระเนตรสัตว์พันธุ์ต่างๆ และมีพระราชปฏิสันถารกับผู้ที่น้อมเกล้าฯ ถวายพันธุ์สัตว์ และสมาชิกสหกรณ์โคนม เชียงใหม่ ที่มาเฝ้าฯรับเสด็จในวันนั้นด้วย ซึ่งพระราชกรณียกิจในวันนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยในกิจการงานปศุสัตว์ของเกษตรกร อีกทั้งยังเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ให้มีกำลังใจในการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระองค์อย่างไม่ย่อท้อ.