“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระปฐมบรมราชโองการแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 นับเนื่องแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ดำรงสิริราชสมบัติ ถึงวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 รวมเวลา 70 ปี 4 เดือน 7 วัน เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณล้ำเลิศ เป็นคุณูปการใหญ่หลวงแก่ชาติ ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ เป็นพลังรักและพลังศรัทธายิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย สุดพรรณนาหาที่สุดมิได้ ในด้านพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ในวาระต่างๆ ตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์ ล้วนเสมือนเข็มทิศให้กับประชาชนในแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนและการดำเนินชีวิต หนังสือ “99 พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์ขึ้น ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ในด้าน ชาติ บ้านเมือง ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน ความกตัญญู ความสามัคคี การรักษาวัฒนธรรม เศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ มาใส่ไว้ในรูปเล่มขนาดพกพาสะดวก นอกจากนี้มีหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ แบบฉบับย่อ ทั้ง 2 เล่ม แจกให้กับประชาชน สามารถรับได้ที่นิทรรศการ “ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำหรับพื้นที่ตรงนี้นำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในเล่มดังกล่าว คัดมาเพียงสังเขป ในด้านประเทศชาติ “...ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวงที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อย ทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้ เพราะสถาบันต่างๆ ตั้งมั่น และปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ โดยพร้อมมูลอย่างนั้น...” พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และอาสาสมัครพลเรือน ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก วันอังคาร ที่ 8 มิถุนายน 2514 ในด้านศาสนา “...ศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ทราบกันอยู่แล้วว่าต้องมี และถึงว่าศาสนามีความหมายได้หลายอย่าง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นศาสนาที่มีชื่อหรือที่ต้องเคร่งครัดตามแนวทางการสั่งสอนอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นแต่ต้องเป็นแนวคิดที่แน่วแน่ที่ดี และไม่เบียดเบียน อย่างนี้ก็ถือเป็นศาสนาได้ทั้งนั้น ...เมืองไทยนี้ที่อยู่ได้ก็เพราะไม่มีการกีดกันว่าคนโน้นศาสนาโน้นคนนี้ศาสนานี้ แต่ว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าทุกคนปฏิบัติศาสนกิจของตนๆ ด้วยความมุ่งดีหวังดี ตั้งใจที่จะให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวม ศาสนาทุกศาสนาจึงใช้ได้ทั้งนั้น ขอแต่เพียงอย่าให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน...” พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้แทนองค์การศาสนาและผู้แทนสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาผกาภิรมย์ พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดี ที่ 4 ธันวาคม 2512 ในด้านผู้ให้ผู้รับ “...ประเทศหรือสังคมจะอยู่ได้ก็เพราะมีผู้ที่ให้ คือในหมู่มนุษย์ต้องมีพวกที่ให้กับพวกที่รับ พวกที่ให้ที่สำคัญที่สุดได้แก่บิดามารดา ต่อมาก็มีครูบาอาจารย์ ผู้ที่ให้นั้น เพราะได้รับก่อนจึงให้ได้ ทุกคนเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะได้รับกำเนิดจากบิดามารดา ได้มาเป็นครูบาอาจารย์ก็เพราะได้รับวิชาความรู้ตกทอดลงมา...” พระบรมราโชวาท พระราชทานศึกษาธิการจังหวัดและผู้ตรวจการศึกษาทั่วราชอาณาจักร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต วันศุกร์ ที่ 13 ธันวาคม 2511 “...การที่คนสมัยใหม่บอกว่าคนสมัยเก่ามีความรู้น้อยก็อาจเป็นจริง แล้วก็คนสมัยใหม่จึงเรียกว่าดูถูกหรือเหยียดหยามคนสมัยเก่าได้ มีสิทธิ์ แต่ว่าถ้าพูดตามความจริงแล้ว สิทธิ์ที่จะเหยียดหยามคนรุ่นเก่าก็ไม่ควรจะมี ด้วยเหตุว่าคนรุ่นเก่านี้เองที่ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้ ทั้งทำให้คนรุ่นใหม่นี้มีโอกาสได้หาความรู้สร้างตัวขึ้นมา อันนี้คนเก่าก็น่าจะมีความภูมิใจได้ และคนใหม่ก็น่าจะสำนึกว่าคนเก่านี้มีพระคุณ...” พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันอาทิตย์ ที่ 4 ธันวาคม 2531 ในด้านรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม “...ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่ง และช่วยกันส่งเสริมและรักษาไว้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ...” พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2502 วันพฤหัสบดี ที่ 21 เมษายน 2503 “...ถึงอย่างไรความเป็นไทยนั้นก็เป็นสมบัติอย่างหนึ่งที่มีค่าประดับโลกอยู่ ไม่ควรที่ใครจะละเลยทำลายเสีย เพราะจะทำให้สูญเสียสมบัติมีค่านั้นไป คนที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดีและเหมาะที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด คนไทยมีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทยเสมอ ทั้งทางวัตถุ ทางจริยธรรม และภูมิปัญญา...” พระบรมราโชวาท พระราชทานสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการประชุมสามัญประจำปี ณ ห้องประชุมสมาพันธ์เยาวชนญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันอาทิตย์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2537 ในด้านศีลธรรม “...ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบ และการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะต้องมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการงาน สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติงานให้ชอบ คือให้ถูกต้องและเป็นธรรม...” พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม 4 จังหวัดภาคใต้ ณ มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี วันอังคาร ที่ 24 สิงหาคม 2519 พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสนี้ได้ยกมาเป็นตัวอย่างเข็มทิศแนวทางดำเนินชีวิตคนไทย ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง