ย้อนอดีตไปกว่า ๒๙ ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ไปยังห้วยแม่ลานในพื้นที่บ้านปง หมู่ที่ ๘ ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลาบ่ายคล้อยของวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่บ้านปงและใกล้เคียง ซึ่งเดือดร้อนจากการขาดแคลนปัจจัยสำคัญยิ่งในชีวิตนั่นคือ “น้ำ” สำหรับการอุปโภคบริโภค และเพื่อเสริมการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาที่เป็นอาชีพของราษฎรจำนวนมากในขณะนั้น ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสรับสั่งแก่ราษฎรทั้งใกล้และไกลที่มาร่วมรับเสด็จอย่างล้นหลามแน่นหนา เพื่อชื่นชมพระบารมี จากการบอกเล่าของกำนันนิคม ยะคำวัย ๕๘ ปี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเด็กหนุ่มที่ได้เฝ้ารับเสด็จในเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งได้ยินพระราชกระแสรับสั่งชัดเจนและยังจดจำได้อย่างแม่นยำกับเหตุการณ์ในวันนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านมายาวนานกว่า ๒๙ ปีแล้วก็ตาม ว่า “ ต่อไปเราจะมีน้ำกินน้ำใช้แล้วนะ...” พระราชกระแสรับสั่งนี้ของพระองค์ในวันนั้น ได้สร้างความปลาบปลื้มยินดีอย่างยิ่งแก่เหล่าราษฎรชายหญิงจากหลายหมู่บ้านที่มาร่วมรับเสด็จในวันนั้น ซึ่งต่างล้วนพนมมือเหนือหัวด้วยความปลาบปลื้ม ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระเมตตาแก่เหล่าราษฎรที่เดือดร้อน เพราะว่าปัญหาสำคัญในขณะนั้นก็คือ ไม่มี “น้ำ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความพออยู่พอกินในชีวิต ในเวลาต่อมา พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรพื้นที่รอบๆ ห้วยแม่ลานที่เป็นเพียงลำห้วยเล็ก ๆ ซึ่งจะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรมานานหลายปี หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศรอบๆ และทรงสอบถามข้อมูลในพื้นที่แล้ว จึงทรงมีพระวินิจฉัยความเหมาะสมของสภาพพื้นที่บริเวณโดยรอบห้วยแม่ลาน จากนั้นพระองค์จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับนายทวี ชูทรัพย์ เลขาธิการ รพช. และนายสุเมธ ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ กปร. ในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระราชกระแสสำคัญที่ได้กล่าวขวัญและเล่าสู่กันฟังมายาวนานในหมู่ชาว รพช. เป็นระยะเวลาเกือบ ๓ ทศวรรษ ว่า “...ให้สำนักงาน รพช. พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยลานก่อนเป็นลำดับแรก โดยให้เก็บกักน้ำไว้ได้ประมาณ ๕ ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อส่งไปเลี้ยงพื้นที่เกษตรของบ้านปงหมู่ ๘ บ้านป่าห้า หมู่ ๙ บ้านป่าตึงหมู่ ๗ บ้านริมออนใต้ หมู่ ๕ บ้านป่าแงะ หมู่ ๔ บ้านป่าเหียง หมู่ ๑ ในพื้นที่ตำบลออนใต้ และอีกบางส่วนของตำบลแช่ช้าง ซึ่งหมู่บ้านเหล่านี้เป็นพื้นที่กันดาร แห้งแล้ง และเป็นพื้นที่ที่โครงการชลประทานแม่กวงไม่สามารถส่งน้ำมาถึงพื้นที่ของชาวบ้าน โดยให้ก่อสร้างแล้วเสร็จทันฤดูฝนที่จะถึงนี้...” ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ เพียง ๓ วันให้หลัง สำนักงาน รพช.ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการ รพช.ลำปาง เข้าดำเนินการสำรวจและออกแบบ จากนั้นงานก่อสร้างได้เริ่มขึ้นทันทีโดยได้รับอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างจากคณะกรรมการประสานงานพิเศษโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน ๒๕,๕๗๔,๓๗๐ บาท เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีปริมาณงานดินค่อนข้างมาก เพราะเขื่อนดินของอ่างเก็บน้ำห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำนักงาน รพช.จะก่อสร้างแห่งนี้มีความสูงถึง ๒๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๗ เมตร ยาว ๕๔๒ เมตร แต่มีเวลาทำงานเพียงไม่นานนัก โดยจะต้องให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนในปีนั้นตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและเสริมการเกษตรในปีนั้น ในช่วงนั้น คณะผู้บริหารของสำนักงาน รพช. ได้ร่วมปรึกษาวางแผนการปฏิบัติงานอย่างรีบด่วนในการกำหนดแผนปฏิบัติการ จากนั้นจึงได้สั่งให้ระดมเครื่องจักรกลจากศูนย์ปฏิบัติการ รพช.มาปฏิบัติงานในโครงการนี้จำนวน ๔ ศูนย์ ซึ่งมีทั้งศูนย์ปฏิบัติการ รพช. ลำปาง ศูนย์ปฏิบัติการ รพช.สุพรรณบุรี ศูนย์ปฏิบัติการ รพช.ขอนแก่น และศูนย์ปฏิบัติการ รพช.นครราชสีมา โดยมีเจ้าหน้าที่ รพช.ที่เกี่ยวข้องกว่า ๒๐๐ คนเข้าร่วมปฏิบัติงานโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฏิบัติงานทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน รวมจำนวน ๓ ผลัด โดยมีการจ้างชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยงาน เป็นการสร้างรายได้ให้ราษฎรอีกทางหนึ่งด้วย การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามพระราชกระแสรับสั่ง สามารถดำเนินการก่อสร้างคืบหน้าด้วยความรวดเร็ว มีการควบคุมการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนงานและเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนของปีนั้น โดยมีปริมาณเก็บกักน้ำทั้งสิ้น ๔,๘๙๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สำหรับระบบกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรของราษฎรนั้น สำนักงาน รพช. ในขณะนั้นได้ก่อสร้างระบบส่งน้ำ ๒ แบบด้วยกัน คือ ท่อส่งน้ำและคลองส่งน้ำ โดยแยกออกเป็น ๔ สาย มีความยาวทั้งสิ้นรวม ๙,๔๑๓ เมตร สามารถส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ ทำให้ราษฎรในพื้นที่รวม ๗ หมู่บ้านได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างเต็มที่ มีน้ำในการอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการท้ายเขื่อนอีกด้วย สร้างความพอพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างมากในคราวที่พระองค์เสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรในเวลาต่อมา จากการที่สำนักงาน รพช. สามารถปฏิบัติงานได้รวดเร็วและมีคุณภาพ สร้างความปลื้มปีติแก่ราษฎรจำนวนมากที่มีน้ำใช้ไม่ขาดแคลนอีกต่อไป นอกจากนี้ สำนักงาน รพช.ยังได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก ๒ แห่งด้านบนของอ่างเก็บน้ำ ห้วยลานตามพระราชกระแสรับสั่ง คือ อ่างเก็บน้ำดอยโตนอันเนื่องมาจากพระราชดำริและอ่างเก็บน้ำห้วยป่าไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ และแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายนในปีเดียวกัน สามารถเก็บกักน้ำได้จำนวน ๔๕๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร และ ๔๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรตามลำดับ และส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำให้แก่สถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้ของกรมป่าไม้บริเวณด้านท้ายอ่างได้ประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่และเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการเพาะเลี้ยงปลาของกรมประมงด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชกระแสรับสั่งในเรื่องนี้ว่า “...ตามแผนการที่ทำ ๒ อ่างข้างบน คือ อ่างเก็บน้ำห้วยดอยโตนและอ่างเก็บน้ำห้วยป่าไร่ก็ได้ผล เริ่มแรกทำ ๒ อ่างนี้ อาจจะคิดว่าเมื่อมีอ่างเก็บน้ำห้วยลานแล้วทำไมจึงต้องทำอีก แต่ ๒ อ่างนี้มีความคุ้มค่า คือใช้ในการดักตะกอนและด้านบนนี้ก็ได้ทำกิน ทำการเพาะปลูกป่าไม้และการประมง คือเขาได้ใช้และใช้จริงๆ ไม่ใช่ของเล่น ที่ว่าได้ใช้เพราะว่าที่นี่เป็นลุ่มน้ำใหญ่ ลุ่มน้ำนี้ชอบใจมากเพราะว่าเป็นลุ่มน้ำตัวอย่างของการพัฒนาป่าไม้ และการประมง รวมทั้งการเกษตร เป็นศูนย์ที่พัฒนาได้คุ้มค่า คือ เป็นตัวอย่างสำหรับลุ่มน้ำอื่นๆ เป็นตัวอย่างสำหรับนักวิชาการได้มาศึกษาได้...” กำนันนิคม ยะคำ ได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อเกือบ ๒๙ ปีก่อน ครั้งที่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเล่าเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๘ ณ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำ ว่า “วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เครื่องจักรของสำนักงาน รพช.เข้ามาดำเนินการ ขุดแกนอ่างเก็บน้ำห้วยลาน ก่อนหน้านั้นน้ำกินน้ำใช้แทบจะไม่มีใช้ คงมีเพียงบ่อน้ำตื้น ๓ – ๔ บ่อที่ใช้สำหรับกินและใช้เท่านั้น และต้องตื่นเช้าด้วย เพราะเมื่อถึงเวลาสาย น้ำจะหมด ตอนเย็นก็จะไปหาน้ำอาบตามหนองบึง ส่วนการทำนานั้น บางปีก็แทบไม่ได้ทำกัน บางปีก็ได้ข้าวซึ่งได้สูงสุดก็เพียง ๕๐๐กว่ากิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันหลังจากมีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้แล้วสามารถผลิตข้าวได้ถึงกว่า ๑,๐๐๐ - ๑,๒๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ และสามารถทำได้ ๒ ครั้งต่อปีด้วย ถ้าจะพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ก็บอกได้ว่าดีขึ้นมาก ๆ และการทำนาทุกวันนี้ก็ปลอดสารพิษอีกด้วย...” กำนันนิคม ยะคำ ยังได้กล่าวถึงมูลค่าที่ได้รับของราษฎรจากโครงการนี้ว่า “โครงการนี้สร้างประโยชน์ให้กับราษฎรในพื้นที่ตำบลออนใต้มากมาย ถ้าพูดถึงมูลค่าเป็นตัวเงินแล้วน่าจะได้ถึงพันล้านบาทหรือกว่านั้นนะ เพราะเป็นโครงการที่ดีมีคุณค่ามหาศาลมาก จากความแห้งแล้งสู่ความอุดมสมบูรณ์ จากความไม่มีในอดีต ปัจจุบันหลังจากที่ผ่านมา ๒๙ ปี ผู้คนที่นี่มีความพอเพียงในความเป็นอยู่อย่างมีความสุขครับ” ภายหลังการใช้ประโยชน์มานานเกือบ ๓๐ ปี สร้างประโยชน์แก่ราษฎรมากมายทั้งในเรื่องของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เสริมการเกษตรตลอดจนเป็นแหล่งพักผ่อนของราษฎรจากหลายพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่ามาก กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รับผิดชอบในการดูแลอ่างเก็บน้ำห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่อจาก รพช. ได้จัดทำแผนในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ในการปรับปรุงและซ่อมแซมระบบส่งน้ำ โดยได้รับงบประมาณกว่า ๓๐ ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงซ่อมแซมระบบส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เกิดการชำรุด โดยการเปลี่ยนจากระบบท่อกระจายน้ำเดิมที่เป็นท่อใยหินมาเป็นท่อ PE ซึ่งเป็นท่อยางที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันเพราะมีความทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม เพื่อสนองพระราชดำริในการช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำไว้ใช้ในการสร้างอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และยังเป็นการสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศในเรื่อง “น้ำ คือชีวิต” ที่ว่า “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ถ้ามีน้ำไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...” จากพื้นที่เดิมที่มีแต่ความแห้งแล้ง ราษฎรหลายหมู่บ้านสามารถทำการเกษตรได้เฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น เมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยลาน อ่างเก็บน้ำดอยโตน และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าไร่ พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่ห้วยลานตามพระราชดำริแล้ว ทำให้พื้นดินมีความชุ่มชื้น ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น บ่อน้ำตื้น บ่อน้ำบาดาลมีปริมาณน้ำมากขึ้น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคสมบูรณ์มากขึ้น และราษฎรสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปีในพื้นที่กว่า ๓,๐๐๐ ไร่ ตลอดจนการบุกรุกทำลายป่าก็ลดน้อยลง ทั้งไฟป่าก็หมดไป มีการสร้างฝายกักตะกอนหลายจุด ความสมดุลในระบบนิเวศดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้พระราชทานแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริและหลักการและแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลต่อเนื่องมาตราบจนทุกวันนี้ / นายทวีศักดิ์ สุขธงไชยกูล เรื่อง / นายธวัชชัย จารุเพ็ง ภาพ