พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน ๖ ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๑ ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำห้วยพระปรง และลุ่มน้ำห้วยโสมง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรี พร้อมทั้งได้พระราชทานข้อมูลที่ทรงวางโครงการไว้ให้อธิบดีกรมชลประทานใช้ประกอบการพิจารณาด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อให้ว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” (อ่านว่านะ-รึ-บอ-ดิน-ทระ-จิน-ดา)มีความหมายว่า “อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เมื่อปีพ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาต้นน้ำลำธารปราจีนบุรี โดยทรงให้พิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 เขื่อน ได้แก่เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยางและเขื่อนห้วยโสมง เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง พร้อมทั้งมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคตลอดปี และได้มีพระราชดำรัสเพิ่มเติมอีกหลายโอกาส ล่วงเลยมาถึงปี2552 วันที่ 27 ตุลาคม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงฯระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2561 งบประมาณ 8,300 ล้านบาท หลังสร้างเสร็จอ่างสามารถเก็บน้ำจุได้ถึง 295 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล.ลบม.)พื้นที่รับประโยชน์ 111,300 ไร่ ต้นปีที่ผ่านมาการดำเนินงานก่อสร้างทั้งตัวเขื่อนและอาคารประกอบลุล่วงไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วโดยมีความหวังว่าจะสามารถลุล่วงไปถึงการเก็บกักน้ำได้ในเดือนสิงหาคม 2559 นี้ “ความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาหรือห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรีขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 86.74 % ของแผนงานก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2559 ทั้งนี้จะเริ่มเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม นี้เป็นต้นไป ส่วนระบบส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวาครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี2558 คาดจะไปแล้วเสร็จในปี2561” เป็นการสรุปของทางงานชลประทานขนาดใหญ่ที่7 ผลปรากฏว่าสามารถเก็บน้ำได้ตามที่กรมชลประทานกำหนดไว้ โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดปราจีนบุรี ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่าตัวเขื่อนสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 295 ล.ลบม. จากปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 319 ล.ลบม.ต่อปี เมื่อแล้วเสร็จจะบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีบางส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเขตอำเภอนาดี อำเภอกบิลบุรี ส่งน้ำพื้นที่เกษตรกรรมเกิน 1 แสนไร่ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและผลผลิตดังกล่าวมีคุณภาพดีขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์ในการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเพราะมีน้ำเพื่อพัฒนาการเกษตรดังกล่าว มีการสรุปจากการก่อสร้างโดยชลประทานขนาดใหญ่ที่ 7 ต่อไปอีกว่าเมื่ออ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาฯดังกล่าวเก็บกักน้ำได้จะเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญเพื่อการอุปโภคบริโภคและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสีย ผลักดันน้ำเค็มที่มีความเป็นไปได้สูงว่ากำลังลุกเข้ามาที่แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง อีกทั้งจะเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอันเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูกสำหรับประชาชนและจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรี ที่สามารถให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 12.02 เมื่อวันพุธที่ 22 มิถุนายน 2559มานายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(เลขาธิการ กปร.) ติดตามการดำเนินงานของอ่างเก็บน้ำ นฤบดินทรจินดาฯ การก่อสร้างในขณะนั้น ภาพรวมเกินร้อยละ 85% งานก่อสร้างระบบชลประทานฝั่งซ้ายดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ (ความยาวประมาณ 47 กิโลเมตร) และคลองส่งน้ำสายซอย 12 สาย (รวมความยาว ประมาณ 37 กิโลเมตร) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจัดฝึกอบรมอาชีพและให้ความรู้ทางวิชาการโดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ความรู้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ อาทิ ด้านการปลูกพืช ด้านการแปรรูป ด้านปศุสัตว์ และการเกษตรผสมผสาน ส่งผลให้ราษฎรมีความรู้และมีความพร้อมในการสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น “ยืนยันว่าแนวพระราชดำริทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะช่วยชาวบ้านด้านการประกอบอาชีพน้ำกินน้ำใช้ที่สุด ผลพลอยได้ก็ลดผลกระทบแก่สวนผลไม้ น้ำประปา อุตสาหกรรมจะมีน้ำพอตลอดฤดูแล้ง และต่อไปกบิลจะปลอดน้ำท่วมตลอดไป ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบอกจะพัฒนาร่วมกับกรมชล กรมอุทยานพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยทรัพยากรธรรมชาติย่านนี้เช่นปางสีดาแต่ก็ต้องวางแผนดี ตามแผนกรมชลสร้างอ่างก่อนแล้วสร้างระบบส่งน้ำตามมา เพื่อเช็คระบบเก็บกักน้ำไปด้วย ต้องบอกว่าเกษตรกรไม่ต้องห่วงเพราะทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดนี้เป็นมรดกของท่านเองที่สำคัญมาก” นายพลากร สุวรรณรัฐองคมนตรี กล่าว (อ่านต่อ) เสกสรร สิทธาคม