ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ด้วยเป็นเดือนแห่งวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น กระผมขอนำเรียนทุกท่านเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้านศิลปาชีพ โดยได้รับความสนับสนุนด้านข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน ก.ป.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดังนี้ครับ พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๕ ความตอนหนึ่งว่า “...การที่ข้าพเจ้าเริ่มงานศิลปาชีพขึ้นนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะสรรหาอาชีพให้ชาวนาที่ยากจน เลี้ยงตนเองได้เป็นเบื้องต้น ทั้งนี้ เนื่องจากข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมราษฎรตามชนบทมาหลายสิบปี ได้พบว่าราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ที่ต้องทำงานหนัก และต้องเผชิญอุปสรรคจากภัยธรรมชาติมากมาย เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ศัตรูพืชระบาด เป็นต้น ทำให้ชาวนาชาวไร่เหล่านี้มีฝีมือทางหัตถกรรมส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เขาใช้สอยอยู่ในชีวิตประจำวัน... สิ่งนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเริ่มงานส่งเสริมการทอผ้าไหมขึ้น เพื่อใช้ชาวนาชาวไร่นำความสามารถของเขาเองมายกระดับความเป็นอยู่ รวมทั้งเพิ่มพูนศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในงานของเขา จนในที่สุดจึงเกิดเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ...” ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเห็นศักยภาพของคนไทย และทรงตระหนักถึงคุณประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับทรงซาบซึ้งในความงดงามของศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น พระองค์จึงทรงมีแนวพระราชดำริให้ฟื้นฟูและพัฒนางานฝีมือพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาค ภายใต้ชื่อ “ศิลปาชีพ” เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีรายได้เสริมนอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลงานคุณภาพจากฝีมือช่างชาวไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งในและต่างประเทศ จุดเริ่มต้นพระราชกรณียกิจในงานศิลปาชีพ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านเขาเต่า จังหวัดเพชรบุรี และทรงทอดพระเนตรเห็นว่า ราษฎรส่วนใหญ่ยากจน หากมีอาชีพเสริมจะทำให้สถานะความเป็นอยู่ดีขึ้น พระองค์จึงทรงชักชวนหญิงชาวบ้านเขาเต่ามาหัดทอผ้าขาวม้าและผ้าซิ่นขายเป็นอาชีพเสริม และโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงทอผ้าง่ายๆ ขึ้นที่บริเวณท้ายวังไกลกังวล หลังจากนั้น ราษฎรชาวเขาเต่าได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินให้เป็นที่ตั้งโครงการทอผ้าถาวร โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรงาน และทรงรับซื้อผ้าของชาวบ้านไว้ นับเป็นการทอผ้าฝ้ายของชาวบ้านเขาเต่าเป็นพระราชกรณียกิจแรกด้านการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมแก่ราษฎร พระมหากรุณาธิคุณในการสนับสนุนผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทอดพระเนตรผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ที่ชาวบ้านใส่มารับเสด็จด้วยความสนพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าฯ คณะเจ้าหน้าที่ออกไปติดต่อรับซื้อผ้าไหมของชาวบ้านในราคาสูง เพื่อสนับสนุนให้มีกำลังใจที่จะทอผ้าไหมต่อไป นับเป็นการส่งเสริมการทอผ้าไหมมัดหมี่เป็นอาชีพเสริม ดังพระราชดำรัสพระราชทานเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๗ ความตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าบอกว่า ผ้าที่เขาใส่นี่สวยมาก ทอให้พระราชินีได้ไหม ชาวบ้านก็บอกว่า พระราชินีจะเอาไปทำอะไร เพราะว่า ผ้าแบบนี้ที่คนเขานุ่งห่มก็มีแต่คนยากจนเท่านั้น คนใช้ที่กรุงเทพฯ นั่นแหละเขาใส่กัน พระราชินีจะใส่ไปทำไม ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า ทอให้พระราชินีจะใส่ตลอด เขาก็ได้ตกลง มีการเข้าชื่อกันว่า ใครบ้างจะรับอาสาทอผ้าไหมมัดหมี่ถวายแบบที่เขาใส่กันลายแปลกๆ ข้าพเจ้าได้ให้เงินล่วงหน้าไว้กับคนที่จะทอผ้าให้ข้าพเจ้าทุกคน สังเกตเห็นว่า แววตาของเขาทั้งหลายมีความหวังว่าเขามีงานทำ...” พระมหากรุณาธิคุณในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทอดพระเนตรเห็นย่านลิเภาที่มีอยู่ทั่วไปในป่า จังหวัดนราธิวาส และด้วยทรงตระหนักว่าเป็นงานจักสานชั้นเยี่ยมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ศิลปะการจัดสานประเภทนี้กำลังจะสูญหายไป เนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยความประณีตและความละเอียดอ่อนในการผลิต พระองค์จึงทรงส่งเสริมอาชีพการจักสานย่านลิเภาที่อำเภอยี่ง้อ อำเภอระแงะ อำเภอบาเจาะ และอำเภอเมืองจังหวัดนราธิวาส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงให้จัดครูไปสอนการจักสานย่านลิเภาให้แก่ราษฎรภาคใต้ โดยออกแบบให้เป็นเครื่องใช้หลากหลายชนิด ซึ่งมีราษฎรสนใจสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้เครื่องใช้ย่านลิเภาเป็นที่นิยมของประชาชนอีกครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สนับสนุนการจักสานด้วยหวายและไม้ไผ่ ทอเสื่อกระจูด การเย็บปักถักร้อย การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย การปักผ้าและการปั้นดินเผาควบคู่ไปกับพระราชดำริในการฟื้นฟูหัตถกรรมแขนงต่างๆ ตลอดจนทรงสนับสนุนให้กลุ่มสตรีในนิคมสร้างตนเอง ที่อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทำดอกไม้ประดิษฐ์จำหน่าย ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน มั่นคงขึ้น แล้วจึงขยายผลไปสู่ราษฎรตำบลดอนขุนห้วย ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีและอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามด้วย ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ โดยทรงรับเป็นประธานมูลนิธิ และให้อยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยได้พระราชทานทุนเริ่มแรกเป็นเงิน ๑ ล้านบาท ต่อมารัฐบาลจึงได้ตั้งกองศิลปาชีพ ในสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อหาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูกหรือว่างจากฤดูกาลเพาะปลูกได้มีงานทำที่บ้าน และไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนไปเป็นคนเร่ร่อนจรจัดในเมือง รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ และเพื่อฟื้นฟูหัตถกรรมไทยโบราณ ตลอดจนธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยด้วย หลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านศิลปาชีพมากว่า ๑๐ ปี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริให้ตั้งโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดาขึ้น ภายในเขตพระราชทานจิตรลดา เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนการสอนศิลปาชีพแขนงต่างๆ และเป็นศูนย์รวมการผลิตผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพจากราษฎรทั่วประเทศด้วย ต่อมา จึงได้ตั้งศูนย์ฝึกศิลปาชีพในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา อำเภอดุสิต กรุงเทพฯ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์ศิลปาชีพแม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ศูนย์ศิลปาชีพทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส และศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีอยุธยา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นผู้นำในการใช้ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพอยู่เสมอ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับรู้ถึงคุณค่าและความงดงามของผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ดังจะเห็นได้จาก การตั้งร้านจิตรลดาขึ้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปาชีพ และการส่งผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าหรืองานแสดงสินค้าในที่ต่างๆ ทรงมีพระราชดำริเผยแพร่งานศิลปาชีพแก่ชาวต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น การพระราชทานผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพเป็นของขวัญแก่พระราชอาคันตุกะและชาวต่างประเทศ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ ศิลปาชีพในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศหลายครั้ง ดังพระราชดำรัสพระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๕ ความตอนหนึ่งว่า “...นับเป็นสิ่งน่าปลื้มใจที่ขณะนี้ชาวไทยและชาวต่างประเทศหันมานิยมศิลปหัตถกรรมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะผ้าที่ทอด้วยมือ ซึ่งหากเราร่วมมือกันศึกษา อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งทอของเราให้มีคุณค่ายิ่งๆขึ้น ศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ก็จะสืบทอดเป็นมรดกชิ้นงามทางวัฒนธรรมไปจนถึงลูกหลานของเราในอนาคต...” นับเป็นบุญของพสกนิกรชาวไทยที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถที่ทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย ทรงตั้งพระทัยมุ่งมั่นในการช่วยเหลือราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง