อัยการ สั่งฟ้อง “ศุภชัย-พระธัมมชโย” และพวก 5 คน ผิดฟอกเงิน-รับของโจร นัดผู้ต้องหา 3-4 ยื่นฟ้องศาล 30 พ.ย.นี้ ประสานดีเอสไอตามจับผู้ต้องหาที่หนี ศุภชัย ฟ้องแพ่งให้คืนเงินกว่า 1,500 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 พ. ย.59 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นาย ชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ร่วมกันแถลงข่าวการสั่งคดีนาย ศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาที่ 1 พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 น.ส.ศรัญญา มานหมัด ผู้ต้องหาที่ 3 นาง ทองพิน กันล้อม ผู้ต้องหาที่ 4 และ นาง ศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 กระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจรว่า หลังจากพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาให้อัยการเมื่อวันที่ 11 พ.ย. คณะทำงานอัยการพิจารณาหลักฐานจากการสอบสวนและผลสอบสวนเพิ่มเติมทั้งหมดรวมถึงหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาแล้ว ได้มีความเห็นสั่งคดีเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีความเห็นสั่งฟ้อง นาย ศุภชัย ผู้ต้องหาที่ 1 น.ส.ศรัญญา ผู้ต้องหาที่ 3 นาง ทองพิน ผู้ต้องหาที่ 4 ในความผิดฐาน สมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงินตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้นัด น.ส.ศรัญญา ผู้ต้องหาที่ 3 นาง ทองพิน ผู้ต้องหาที่ 4 มารายงานตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 30 พ.ย. เวลา 9.30 น. ส่วนนาย ศุภชัย ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว เรือโท สมนึก กล่าวอีกว่า คณะทำงานยังมีความเห็นควรสั่งฟ้อง พระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 และ น.ส. ศศิธร ผู้ต้องหาที่ 5 (ที่ยังหลบหนี)ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 ,83 และแจ้งให้ ดีเอสไอดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาที่ 2 และ 5 มาส่งให้อัยการเพื่อดำเนินการต่อไปภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันที่กระทำผิด คือเดือนมกราคม 2552 นายชาติพงษ์ กล่าวว่า นอกจากคดีนี้ทางอัยการยังมีคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน คลองจั่น ทั้งคดีแพ่งและอาญา ซึ่งจุดมุ่งหมายในการทำคดีไม่ได้เพียงแค่ต้องการนำเอาคนผิดมาลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์ที่ต้องคุ้มครองดูแลผู้เสียหายในคดีนี้ด้วย โดยคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมากและมีผู้เสียหายหลายคนที่เดือดร้อน อัยการได้มุ่งติดตามตรวจสอบเส้นทางการเงินให้ชัดเจนจึงต้องสอบสวนให้ละเอียดรอบคอบเพื่อให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินทั้งหมดให้กับผู้เสียหาย นายชาติพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาอัยการได้ยื่นฟ้องและสั่งคดีแล้ว ประกอบด้วย คดีอาญา ได้แก่ 1 .คดีที่พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องนายศุภชัย กับพวกรวม 12 คนต่อศาลอาญาแล้วเมื่อวันที่ 11 ต.ค.และวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหาย 5,612,237,157.62 บาท ซึ่งอัยการขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่ถูก 2.คดีที่พนักงานอัยการ เพิ่งจะมีคำสั่งฟ้องนายศุภชัย กับพวกรวม 4 คน ฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง และร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม มูลค่าความเสียหาย 13,000 ล้านบาทเศษ และคดีแพ่ง ที่ ปปง.ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดาภิเษก แล้วรวม 2 สำนวน คือ 1.คดีหมายเลขดำ ฟ.173/2559 ที่อัยการยื่นเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของนายศุภชัย กับพวก ตกเป็นของแผ่นดิน จากที่มีการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 85,769,438.25 บาท ซึ่งศาลแพ่ง นัดไต่สวนในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.คดีหมายเลขดำ ฟ.208/2559 ที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของนายศุภชัย กับพวก ตกเป็นของแผ่นดิน จากที่มีการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 1,585,000,000 บาท โดยศาลแพ่งนัดไต่สวนในวันที่ 20 ก.พ.2560 เวลา 09.00 น. นอกจากนี้ในส่วนของ นายศุภชัย อดีตประธานสหกรณ์ฯ ก็ยังมีคดีที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 14 ปี 24 เดือน ในคดีหมายเลขแดง อ.706/2559 ที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายศุภชัย ฐานยักยอกทรัพย์มูลค่า 27 ล้านบาทเศษ กรณีที่ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมโดยอ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่การฟอกเงินจะถือเป็นคำให้การของผู้ต้องหาหรือไม่ นายชาติพงษ์ กล่าวว่า หลักการของคดีอาญาจะต้องฟังความทั้งสองฝ่าย และผู้ต้องหาต้องมาให้การด้วยตนเอง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ผู้ต้องหาที่ 2 และ 5 มาสอบ และหนังสือขอความเป็นธรรมนั้นเป็นเพียงแค่อัยการรับฟังความมา อัยการจึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 2 และ 5 ไว้ เพราะเมื่อฟังความจากผู้กล่าวหาแล้วเห็นว่าพอฟังได้ ดังนั้น ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องให้พนักงานสอบสวนจับกุมตัวผู้ต้องหามาสอบคำให้การและส่งให้อัยการ เมื่อมีหลักฐานและคำชี้แจงของผู้ต้องหา อัยการจะพิจารณาชั่งน้ำหนักอีกครั้งว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ คล้ายกับการสั่งคดีของแกนนำกปปส. เมื่อถามว่า จากพยานหลักฐานที่ ดีเอสไอและ ปปง. ส่งมาในเรื่องเส้นทางการเงินของพระเทพญาณมหามุนี มีการนำเงินไปฟอกในธุรกิจใดบ้าง มูลค่าเท่าใด นายชาติพงษ์ กล่าวว่า ในเรื่องเส้นทางการเงินนั้นเป็นเรื่องในสำนวนที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดี ส่วนมูลค่าความเสียหายจากพยานหลักฐานที่อัยการได้รับมาเป็นเช็ค 27 ฉบับมูลค่า 1,400 ล้านบาท