ช่วงที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางขึ้นเหนือหยอกเย้าสายหมอกช่วงปลายฝนต้นหนาว ณ จังหวัดเชียงราย กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และช่างเป็นความโชคดีเหลือล้น เมื่อจุดหมายแต่ละแห่งที่แวะเที่ยวชม คือ สถานที่ที่สำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญ และราษฎร จนในเวลานี้กลายมาเป็นเส้นทางที่ประชาชนคนไทยนิยมเดินทางไปเคารพ และเทิดทูนอยู่เหนือเกล้าอย่างไม่มีสิ่งใดมาเสมอเหมือน วัดร่องเสือเต้น เริ่มต้นที่เมืองเชียงรายในช่วงเช้าตรู่ ด้วยการแวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ วัดร่องเสือเต้น ที่ตำบลริมกก อำเภอเมือง ชื่นชมกับพระวิหารหลังใหม่ ที่มีศิลปะที่มีความสวยงดงามแปลกตา เป็นศิลปะประยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ ใช้เฉดสีเป็นสีน้ำเงินฟ้า ด้วยฝีมือการรังสรรค์ของ นายพุทธา กาบแก้ว หรือ สล่านก ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ลูกศิษย์ของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัดร่องเสือเต้น เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกนัก ถ้ารูปแบบ ศิลปะของวัดดังกล่าว โดยเฉพาะพระวิหาร จะมีส่วนผสมของผลงานสองศิลปินแห่งชาติชื่อดังชาวเชียงราย คือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนีย์ ที่รังสรรค์ผลงานอยู่ที่วัดร่องขุ่น ตำบลป่าอ้อดอนชัย และพิพธภัณฑ์บ้านดำ ตำบลนางแล รวมอยู่ด้วยกัน พระพุทธรูปในรัชกาลที่ 9 อีกทั้งด้วยเส้นทางที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงทำให้มีเวลาพอที่จะแวะเข้าไปชื่นชมความสวยงามของ พระพุทธรูปในรัชกาลที่ 9 ณ วัดร่องขุ่น โดยพระพุทธรูปดังกล่าวมีลักษณะงดงามและมีลวดลายที่อ่อนช้อยตามรูปแบบศิลปะที่สร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัยที่ไม่เหมือนศิลปะใดๆ ซึ่งอาจารย์เฉลิมชัยระบุว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะประจำรัชกาลที่ 9 และตั้งใจจะนำขึ้นทูลเกล้าถวายพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ วัดร่องขุ่น แต่เมื่อพระองค์ทรงเสด็จสวรรคต ก็คงจะสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ให้ได้ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และเมื่อแล้วเสร็จแล้วก็จะนำไปประดิษฐานเพื่อความเป็นสิริมงคลภายในวัดร่องขุ่น ที่ปัจจุบันได้มีการจัดทำสถานที่ที่เป็นเนินแห่งหนึ่งภายในวัดลักษณะเป็นเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ บนเกาะมีมหาวิหารที่งดงามจากนั้นจะได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานไว้บริเวณด้านหน้ามหาวิหารเพื่อให้ผู้คนได้เข้าชมและสักการะบูชาต่อไป รอยพระบาทหนึ่งเดียวในไทย ส่วนจุดหมายปลายทางในช่วงบ่ายแ คือ ไฮไลท์ของวัน เพราะมีโอกาสได้ไปชื่นชม รอยพระบาทขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่ จังหวัดเชียงรายอย่างใกล้ชิด พร้อมรับฟังเรื่องราวความเป็นมาของรอยพระบาทดังกล่าว จากคำบอกเล่าของ พันโท รัชตะ ท้าวคำลือ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนี อย่างละเอียด พันโท รัชตะ ท้าวคำลือ สำหรับที่มาของการก่อกำเนิดรอยพระบาทขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ แห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งบนดอยพญาพิภักดิ์ บนพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ใน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เคยเป็นพื้นที่สีแดง และมีการรบพุ่งกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ โดยทางรัฐบาลได้ส่งกองกำลังไปปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ.2510 จนในปีพ.ศ. 2524 ทาง พันโท วิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17ได้นำกำลัง(พัน ร. 473) เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ตามแผนการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จนเกิดเป็นยุทธการยึดเนิน 1188 บนดอยดอย พญาพิภักดิ์ ขึ้น ยังผลให้สามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นั้นได้สำเร็จในที่สุด แต่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ต้องสูญเสียเหล่าทหารหาญที่พลีชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยไปจำนวนมาก โดยอัฐิของทหารส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาบรรจุไว้ในอนุสาวรีย์ผู้เสียสละที่ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญ และราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการดอยพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานประทับรอยพระบาท ของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ทางทหารได้เตรียมไว้ เพื่อเป็นดังขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ รอยพระบาทในหลวง	ซึ่งปัจจุบันรอยพระบาทบนปูนปลาสเตอร์นั้นได้ถูกนำมาเก็บไว้ที่ศาลารอยพระบาท ณ ค่ายเม็งรายมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยเดิมทีนั้นรอยพระบาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ นั้นจะเป็นที่รู้กันในหมู่ทหารค่ายเม็งรายฯ แต่เมื่อทหารเปลี่ยนนโยบายจากเขตทหารห้ามเข้า มาเป็นเขตทหารยินดีต้อนรับ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวและรู้จักวิถีชีวิตในรั้วสีเขียว จึงทำให้เรื่องราวของ รอยพระบาทในหลวง ที่ถือได้ว่ามีหนึ่งเดียวในเมืองไทย มีคนเดินทางไปเที่ยวชมและสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลมากขึ้น อย่างไรก็ตามในพื้นที่ค่ายเม็งรายมหาราช ดังกล่าวนอกจากจะมีรอยพระบาทอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ให้สักการะแล้ว ยังมีจุดเที่ยวอื่นๆ เช่น กาดไม้ ที่มีงานไม้และวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรขายแก่คนที่ผ่านไป-มา โครงการสวนกำกึ๊ดหลวง ซึ่งเป็นโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ รวมถึงกิจกรรมแนวผจญภัยแบบทหารให้นักท่องเที่ยวได้พิสูจน์ในความสามารถ ไม่ว่าจะเป็น ขี่ม้า ยิงปืนพายเรือ ตกปลา กระโดดหอ รวมไปถึงสนามกอล์ฟ ซึ่งถ้าใครมีโอกาสไปเที่ยวเชียงราย สามารถแวะเที่ยวชม และค้างคืนภายในค่ายเม็งรายมหาราช ด้ เพราะมีที่พักสะดวกสบายในราคาประหยัดอีกด้วย ขณะที่จุดต่างๆ บริเวณใกล้เคียงให้เลือกเที่ยวชมและทำกิจกรรมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วัดพระธาตุดอยทอง ที่มีพระธาตุดอยทอง สีทองเหลืองอร่าม และมีเสาสะดือเมืองที่แปลก ตาถึง 108 ต้น อีกทั้งยังมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นบางส่วนของเชียงรายได้อย่างสวยงามอีกด้วย ต้นแบบพัฒนาทางเลือกยั่งยืน เช้าวันใหม่กับการเดินทางสู่ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ได้ยกย่องให้ เป็น ต้นแบบการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2530 เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนดอยตุง ซึ่งขณะนั้นเป็นพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยชาวเขาอาศัยอยู่ และเป็นพื้นที่ปลูกพืชยาเสพติด สวนแม่ฟ้าหลวง ในครั้งนั้นทรงเล็งเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมบนดอยตุง คือ ความยากจนและการขาดโอกาสในการดำรงชีวิต จึงทรงมีพระราชดำริที่จะนำผืนป่ากลับคืนสู่ดอยตุง และฟื้นฟูดอยตุงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นับเป็นการให้โอกาสคนทุกหมู่เหล่าไม่จำกัดว่าเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือสัญชาติใด ยังประโยชน์แก่ชนกลุ่มน้อย โดยมีหลักการทรงงาน คือ พัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาดอยตุง จึงเป็นโครงการระยะยาว 30 ปีตั้งแต่ปี 2531 - 2560 ซึ่งระยะแรกเน้นแก้ไขปัญหาสาธารณสุข ระยะที่สองเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพให้ชุมชนดอยตุง ให้ชุมชนสร้างสินค้าจากผลผลิตทางการเกษตร ระยะที่สาม เตรียมความพร้อมให้ผู้นำรุ่นใหม่เป็นผู้บริหารจัดการธุรกิจและกิจกรรมการพัฒนาได้ด้วยตนเองหลังจบโครงการ นอกจากนี้ ให้ความสำคัญต่อการศึกษา ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนในท้องถิ่น เตรียมความพร้อมการทำงานในอนาคต เพื่อพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน จนถึงเวลานี้ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กลายเป็นศุนย์ผลิต และจำหน่ายงานมือ ทั้งการทอผ้า โรงงงานกาแฟ และการทำเซรามิค สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชนกลุ่มน้อยชาวเขาอย่างยั่งยืนตลอดไป กิจกรรมใหม่ล่าสุดของดอยตุง อีกทั้งในวันนี้ยังมีโอกาสสัมผัสความแปลกใหม่ของโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายในสวนแม่ฟ้าหลวง ด้วย ดอยตุง ทรี ท็อป วอค หรือ ทางเดินเรือนยอดไม้ดอยตุง กิจกรรมแอดเวนเจอร์ใหม่ล่าสุดของดอยตุงที่มอบความตื่นเต้น และประสบการณ์การเรียนรู้พื้นที่ป่าและพรรณไม้ป่าตามฤดูกาล ผ่านเส้นทางเดินบนสะพานไม้ระยะทาง 295 เมตร บนความสูงกว่า 30 เมตรจากพื้นดิน ทางเดินเรือนยอดไม้ดอยตุง เริ่มตั้งแต่โซนแรกที่เป็นโซนป่าดึกดำบรรพ์ เป็นการเดินบนสะพานไม้ที่ยึดกับต้นไม้ใหญ่ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของป่าดั้งเดิม อายุตั้งแต่ 30-100 กว่าปี มีทั้งเถาวัลย์ต้นสะบ้า นอกจากนั้นยังมีต้นเต่าร้างยักษ์ โซนถัดมาก็จะเห็น แปลงกาแฟ ซึ่งจะเป็นการปลูกแบบดอยตุงจริงๆ คือปลูกใต้ป่า อาศัยไม้ใหญ่บังร่ม เพื่อให้กาแฟที่อยู่ข้างใต้ได้รับแสงแดดรำไร กำลังดี สำหรับการปลูกกาแฟบนดอยตุง ถือเป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมองเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะกับอากาศ ระดับความสูง สามารถสร้างเงินให้ชาวบ้านได้ และสามารถนำมาปลูกทดแทนฝิ่น ขณะที่โซนถัดไปจะมองเห็นฝาย ซึ่งแสดงถึงการบริหารจัดการน้ำของคนบนดอยตุง โซนสุดท้ายก่อนถึงทางออกคือ แปลงหญ้าแฝก ที่ถือเป็นพืชที่สำคัญของดอยตุง เพราะเป็นพืชที่ช่วยป้องกันการชะล้างดินทลาย ช่วยรักษาหน้าดินด้วย ซึ่งการปลูกแฝกลดการพังทลายของหน้าดิน เป็นการดำเนินตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนมาถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ โดยสามารถทำให้ดอยตุงกลายเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝกที่ใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ดอยตุง ทรี ท็อป วอค หรือ ทางเดินเรือนยอดไม้ดอยตุงสามารถแวะสัมผัสได้ตั้งแต่ เวลา 08.30-17.00 น. โดยเปิดให้บริการรอบละ 30 นาทีตลอดวัน ค่าเข้าร่วมกิจกรรมท่านละ 150 บาท ไม่รวมค่าบัตรเข้าชมสวนแม่ฟ้าหลวงในอัตราท่านละ90 บาท โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป นักเรียนนักศึกษา นักบวชทุกศาสนา ลด 50% เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือบุคคลที่มีความสูงไม่ถึง120 เซนติเมตร ไม่สามารถร่วมกิจกรรมได้ ส่วนกลุ่มคนที่มาเป็นหมู่คณะ สามารถร่วมกิจกรรมไม่เกิน 13 ท่านต่อรอบ และกรุณาโทร. ส่ารองล่วงหน้า สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 -5376 -7015-16