ช่วงที่ผ่านมา มีโอกาสร่วมทริปเดินทางตามรอยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ณ อุทยานเทิดพรเกียรติบ้านหมากแข้ง ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย กับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อผลักดันชุมชนต้นแบบนำร่อง เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ชมอุทยานเทิดพระเกียรติ เริ่มต้นเช้าตรู่บินลัดฟ้าจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดเลย และนั่งรตู้เดินทางต่อไปยัง ชุมชนกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย ก่อนจะไปเปลี่ยนเป็นรถโฟวล์วีลตรงทางขึ้นไปยัง อุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง ซึ่งชาวบ้านนำมาบริการนำเที่ยวใช้เวลาประมาณ 20 นาทีก็ถึงที่หมายสนนราคาต่อเที่ยวประมาณ 6 คนประมาณ 1,500 บาท สูงสุดรับได้ประมาณ 7- 10 คนประมาณ 2,000 บาท โดยราคาดังกล่าวเป็นแบบเหมาจ่าย ซึ่งจะมีกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งการชมวิวภูลมโล และการไปชมอุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง นั้นเอง เส้นทางไปชุมชนกกสะทอน ณ สถานที่แห่งนี้ นายสมพงษ์ ศรีอภัย ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน ได้เล่า ว่า เมื่อครั้งอดีตในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2516 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่บ้านหมากแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง และอยู่ระหว่างการสู้รบของทหารไทยกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ในขณะนั้น บ้านหมากแข้ง มีบ้านอยู่ประมาณ 60 หลังคาเรือน ไปมาไม่สะดวก ต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นวัน เป็นถนนทางเกษตร และเป็นพื้นที่สีแดง มีการต่อสู้ระหว่างทหารไทยและผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) จนชาวบ้านถูกคอมมิวนิสต์ยิงตาย ทำมาหากินไม่ได้ ชาวบ้านหลบหนีภัยสงครามไปอยู่บ้านตูบค้อ บ้านน้ำเย็น บ้านน้ำหมัน ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย และ อำเภอหล่มเก่า โดยไม่มีข้าราชการผู้ใหญ่คนไหนเข้ามาดูแลชาวบ้านเลย อุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง  ซึ่งทั้ง 4 พระองค์เสด็จฯ ไปยังโรงเรียนบ้านหมากแข้ง ที่ประทับชั่วคราว โดยมีชาวบ้านนำสิ่งของมาถวาย ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานข้าวสาร เสื้อผ้า เครื่องมือทำการเกษตร พันธุ์พืช และอื่นๆ อีกมากแก่ชาวบ้านหมากแข้ง อีกทั้งพระองค์ยังได้มีพระราชดำริตั้งโครงการเย็นศิระขึ้นมา ให้มีการสร้างโรงเรียนในระดับประถมขึ้นที่บ้านหมากแข้งเป็นแห่งแรกของตำบลกกสะทอน และเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัคราชกุมารี ทรงเสด็จแทนพระองค์มาเป็นประธานในพิธี ในการเปิดป้ายโรงเรียนพระราชทานและโครงการเย็นศีระ บ้านหมากแข้ง จนถึงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2519 ฝ่าย ผกค. ได้ปะทะยิงสู้รบเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเหตุให้เครื่องบินตก 1 ลำ เป็นเหตุให้เช้าวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2519 และวันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2519 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร ได้ทรงเสด็จเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการสู้รบกับ ผกค. โดยได้ประทับแรมที่ฐานปฏิบัติการบ้านหมากแข้งเป็นเวลา 1 คืน ก่อนจะเสด็จกลับ และเสด็จมาเยี่ยมเยือนอีกครั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2519 ในที่สุดสงครามคอมมิวนิสต์ได้สิ้นสุดลง ในปี พ.ศ.2525 โดยฝ่ายทหารได้ใช้ระบบการเมืองนำการทหารตามนโยบายที่ 66/23 และ 25/25 นั้นเอง ชุมชนต้นแบบของ อพท. ปัจจุบัน นายสมพงษ์ กล่าวว่า ทางชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบของ อพท. ได้บริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมตามรอยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายใต้กิจกรรมเที่ยวกกสะทอนสุขใจ เทิดไท้องค์ราชัน ณ อุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง ซึ่งเป็นสถานที่พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จสร้างขวัญกำลังใจแก่ราษฎรชาวบ้านหมากแข้ง และยังเป็นสถานที่ ที่แสดงออกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร ในการเสด็จเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการสู้รบกับ ผกค. วีรกรรมกล้าหาญของสมเด็จพระบรม สำหรับ อุทยานเทิดพระเกียรติ อยู่ที่ หมู่ที่ 4 บ้านหมากแข้ง ตำบลกกสะทอน ถือเป็นฐานปฏิบัติการของทหารไทยในสมรภูมิภูหินร่องกล้า มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยอย่างมาก คือเมื่อครั้งยังมีการสู้รบคอมมิวนิสต์ ที่มาอาศัยอยู่ในป่าที่ภูหินร่องกล้า เคยเป็นฐานตั้งมั่นของทหารไทยที่สู้รบกับคอมมิวนิสต์ ในครั้งนั้น พร้อมกันนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร ได้เสด็จมาประทับพักแรมเพื่อบัญชาในการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ และเป็นขวัญกำลังใจดูแลทุกข์สุขราษฎรที่ฐานปฏิบัติการแห่งนี้อีกด้วย สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช้าวันใหม่ในอำเภอด่านซ้ายลมหนาวพัดมาบางเบา ก่อนจะเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการแวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ พระธาตุศรีสองรัก บนเนินริมน้ำหมัน ซึ่งเป็นวัดที่ไม่มีพระภิกษุพำนักอยู่ในวัดนอกจากองค์พระเจดีย์แล้ว ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีโบสถ์ 1 หลัง ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นสักขีพยานในการทำสัญยาทางพระราชไมตรีระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) แห่งอาณาจักรล้านช้างในอดีต สำหรับ พระธาตุศรีสองรัก ถือเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนในท้องถิ่น และจังหวัดใกล้เคียงในทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ชาวอำเภอด่านซ้ายจะทำพิธีล้างพระธาตุ โดยจะนำต้นผึ้งที่ทุกตนทำขึ้นนั้น ไปถวายพระธาตุเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะธิเบตให้ทุกคนกราบไหว้อีกด้วย วัดป่าเนรมิตรวิปัสสนา รวมทั้งยังมีเวลาแวะนมัสการ หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อพระมหาพันธ์สีลวิสุทโธ หรือพระครูภาวนาวิสุทธิญาน ที่ วัดป่าเนรมิตรวิปัสสนา แม้จะมรณภาพภาพลง แต่ร่างของท่านไม่เน่าเปื่อย ปัจจุบันถูกเก็บอยู่ใน มณฑปด้านหลังอุโบสถ โดยวัดจะตั้งอยู่สูงเด่นบนเนินเขา ห่างจากพระธาตุศรีสองรัก เพียงเล็กน้อย ซึ่งพระอุโบสถและเจดีย์ภายในวัดก่อสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ในหลวงกับพระครูภาวนาวิสุทธิญาน ในวันนี้ถือโอกาสจุดธุปจุดเทียนไหว้พระบริเวณหน้าโบสถ์ และเข้าไปสักการะกราบไหว้พระพุทธชินราชจำลอง พร้อมและเดินเยี่ยมชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยๆ ภายในอุโบสถ หลังจากนั้นเดินไปทางสวนหย่อม ซึ่งมีสนามหญ้าสีเขียวสดและพุ่มไม้ดอกไม้สีสวย สร้างความร่มรื่นและเงียบสงบเป็นอย่างมาก ก่อนจะพบกับมณฑปพระครูภาวนาวิสุทธิญาณ บริเวณด้านหลังเยื้องกับอุโบสถ สร้างด้วยศิลาแลง ภายในเป็นที่ตั้งของของหีบบรจุสังขารและหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุทโธ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวัดเนรมิตวิปัสสนาแห่งนี้นั้นเอง ชมโครงการพระราชดำริ ในช่วงบ่ายของวันหลังจากอิ่มบุญ และอิ่มท้องกันถ้วนหน้าก็ถึงเวลาแวะเยี่ยมชม ศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตามพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ โดยใน พ.ศ.2525 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้ทดลองปลูกผลไม้เมืองหนาว เพื่อสาธิตและเผยแพร่แก่เกษตรกรที่หลักกิโลเมตรที่ 2 ถนนด่านซ้าย บ้านเดิ่น ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในที่ดินจำนวน 39 ไร่ ซึ่งกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จังหวัดชลบุรี ได้เข้าไปดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริ โดยใช้ชื่อโครงการว่า โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาการเกษตรตามพระราชดำริ ศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเห็นว่า บริเวณข้างเคียงเป็นที่ดินสาธารณะสำหรับเลี้ยงสัตว์ที่อำเภอด่านซ้ายสงวนไว้ จำนวนประมาณ 1,200 ไร่ จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมปศุสัตว์เข้าไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์สาธิตด้านปศุสัตว์ และพระราชทานเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โรงเลี้ยงหมูพันธุ์ดี และเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริ ให้ศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ที่จำเป็น และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และขยายพันธุ์สัตว์ ไปยังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ขาดแคลน รวมทั้งให้กับราษฎรที่ยากจนในเขตพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 11 หมู่บ้าน เกษตรกรประมาณ 493 ครัวเรือน ได้มีอาชีพ และเพิ่มพูนรายได้ จนถึงเวลานี้ โรงเรียนและเกษตรกรในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยและเกษตรกรพื้นที่ดำเนินการในรัศมี 200กิโลเมตรจาก ศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย ได้รับประโยชน์จำนวน 7 จังหวัด ทั้งด้านปศุสัตว์ที่มีทั้ง พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ หมูพันธุ์ดี วัวพันธุ์เนื้อ ส่วนด้านการประมง มีการติดตั้งกระชังเลี้ยงปลานิลแปลงเพศ จำ ปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดในอ่างเก็บน้ำ เช่น ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว ปลากระแห ปลาตะเพียนทอง ปลาแกง เป็นต้น ขณะที่ด้านเกษตร จะมีโรงเรือนเพาะเห็ด และจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเห็ด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และฝึกอบรมให้เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป รวมถึงพืชผักผลไม้อื่นๆ ที่เหมาะสำหรับพื้นที่ในการทำวิจัย ก่อนจะนำไปให้เกษตรกรทดลองปลุกต่อไป วัวพันธุ์เนื้อ จากการผลักดันชุมชนต้นแบบนำร่อง เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นการเน้นย้ำถึงเส้นทางตามรอยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่กับประชาชนชาวไทยไปอีกนานแสนนนาน โต๊ะท่องเที่ยว เรื่อง/ภาพ [email protected]