เสด็จวัดดอยแม่ปั๋ง ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์ทรงหยุดที่วัดดอยแม่ปั๋ง ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว แล้วเสด็จฯขึ้นสู่อุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วทรงประเคนผ้าห่ม จากนั้นจึงมีพระราชดำรัสกับพระภิกษุแหวน สุจิณฺโณ และเจ้าอาวาสวัดดอยแม่ปั๋ง แล้วทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในบริเวณวัด ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังหน่วยสหกรณ์นิคมพร้าว ต.แม่แวน เพื่อทอดพระเนตรพื้นที่นิคมและมีพระราชดำรัสแนะนำให้สมาชิกนิคมปลูกข้าวไร่ซึ่งเหมาะสมกับพื้นที่ดอน พร้อมพระราชทานลิ้นจี่และมะม่วงแก่สมาชิกนิคมด้วย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังภูมิภาคต่างๆ พระองค์ทรงเข้าถึงประชาชนและทรงสนพระทัยในทุกๆ ด้าน ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศาสนา เพื่อทรงรับทราบข้อมูลที่เป็นจริงและนำไปเป็นโจทย์ในการแก้ไข ทั้งหมดนั้นก็เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ราษฎรของพระองค์อย่างยั่งยืน. บ้านปู่หมื่นใน ย้อนกลับไปในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ไปทรงเยี่ยมชาวเขาเป็นการส่วนพระองค์ที่บ้านปู่หมื่นใน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ในวันนั้นสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานสมุด ดินสอและขนมหวานแก่เด็กๆ ในหมู่บ้านอย่างทั่วถึงกัน ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแกะและไก่พันธุ์โรดไอร์แลนด์ แก่หัวหน้าหมู่บ้านเพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อไป หลังจากนั้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับระบบการนำน้ำจากภูเขามาใช้ในหมู่บ้าน เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคและเลี้ยงสัตว์ได้อย่างเหมาะสม แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 40 ปี และความหอมหวานของขนมที่พระราชทานในวันนั้นได้หายไปตามกาลเวลา แต่พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อชาวเขาเผ่ามูเซอแดง แห่งบ้านปู่หมื่นใน ก็ยังคงอบอวลด้วยกลิ่นอายแห่งความสุขและความอบอุ่นอยู่ในหัวใจของพวกเขาเหล่านั้นตลอดมา. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา “ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปและโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล” จากพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานไว้ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ. พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504 แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าพระองค์ ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะพิพิธภัณฑ์ถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่เก็บรวบรวมสิ่งล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้คนรุ่นหลังทราบถึงชาติไทยแต่อดีตได้อย่างแจ่มชัด อีกทั้งยังได้ระลึกถึงคุณค่าของศิลปวัตถุโบราณวัตถุต่างๆ กันมากขึ้น และพยายามสงวนรักษาไว้เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศสืบไป.