เวลา ๑๕.๕๒ น. ของวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ นับเป็นวันมหาวิปโยคจากความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแผ่นดินไทย ชาวไทยทั้งภายในและต่างประเทศต่างตกใจ ใจหาย โศกสลด เสียใจ น้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัวกับการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่เป็นหนึ่งในโลก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ด้วยพระชนมพรรษา ๘๙ พรรษา ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานต่างๆ ประชาชนทุกภาคส่วน ได้ร่วมใจกันในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด ร่วมกันสวดมนต์เพื่อถวายพระพรแด่พระองค์ให้ทรงหายจากอาการพระประชวรที่สร้างความไม่สบายใจแก่พสกนิกรทั่วหล้ามานานนับเดือน ๗๐ ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ นับตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ จนถึงวันเสด็จสวรรคตนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความมุ่งมั่นพระราชหฤทัยในการสร้างชีวิตของเหล่าราษฎรของพระองค์สู่ชีวิตแห่งความหวัง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ที่ดี โดยเฉพาะในเรื่อง “น้ำ” ที่พระองค์ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยมาก เพราะเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการดำรงชีวิต น้ำคือปัจจัยที่สร้างความเจริญงอกงามให้สรรพชีวิต เฉพาะอย่างยิ่งด้านเกษตรกรรม ประเทศไทยมีความเหมาะสมในการประกอบอาชีพนี้และราษฎรส่วนใหญ่ต่างมีอาชีพการเกษตร ด้วยเหตุนี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ในเรื่องของ “น้ำ” จึงมีถึงเกือบ ๓,๐๐๐ โครงการจากจำนวนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีทั้งสิ้นกว่า ๔,๓๕๐ โครงการโดยประมาณ กระทั่งพระองค์ทรงได้รับการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญานามว่า “ปราชญ์แห่งน้ำ” “อ่างเก็บน้ำห้วยตองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ถือเป็น ๑ ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าม้งในพื้นที่ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ แม้ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดความจุไม่ใหญ่โตมากนัก ในยุคที่สร้างเสร็จใหม่ๆ เมื่อปี ๒๕๒๒ แต่ผลประโยชน์ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงและราษฎรชาวไทยภูเขาได้รับนั้น ถือได้ว่ามากมายมหาศาลและมีความยั่งยืนมากว่า ๓๗ ปี วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา๓มิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่บ้านห้วยตอง บ้านหนองเต่าและบ้านขุนวาง ในพื้นที่ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ วันนั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรลำห้วยตองอยู่ชั่วครู่ จากนั้นทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแก่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี โดยมีนายอนันต์ สงวนนาม เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) อธิบดีกรมชลประทานและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในพื้นที่นั้นด้วย พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สำนักงาน รพช. เป็นผู้จัดสร้างแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนในเรื่องน้ำแก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้จัดหน่วยเครื่องจักรกลในการก่อสร้างเข้าพื้นที่ทันที ภายหลังจากได้ออกแบบอ่างเก็บน้ำและจัดหางบประมาณในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว และได้เข้าก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตองอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๒ ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยตอง หมู่ที่ ๑๐ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ หลังจากที่ สำนักงาน รพช.ได้ระดมทั้งบุคลากรและเครื่องจักรกลเข้าก่อสร้างเพื่อให้ทันหน้าฝนในปีนั้น อ่างเก็บน้ำห้วยตองฯจึงแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ๒๕๒๒ มีสันเขื่อนกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๓๐ เมตรและสูง ๑๘.๕ เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้กว่า ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มากเพียงพอกับพื้นที่ไม่เกิน ๑,๐๐๐ ไร่ในการเพาะปลูกพืชผัก ไม้ผลและการทำนาเพื่อการบริโภค ในปี ๒๕๕๘ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๑ (ลำปาง) กรมทรัพยากรน้ำ ได้จัดงบประมาณเพื่อทำการฟื้นฟูด้วยการขุดลอกและขยายแหล่งน้ำออกไปเพื่อประโยชน์ในการใช้น้ำของโครงการและราษฎรในพื้นที่ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นายทวีศักดิ์ สุขธงไชยกูล ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์ พร้อมนางสาวฐิตาพร สิ่วไธสง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และนายฉลอง สังคำ ช่างภาพ กองสื่อสารพัฒนาการ กรมทรัพยากรน้ำ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๑ (ลำปาง) ได้ไปเยี่ยมชมและติดตามผลการใช้ประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำห้วยตองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายหลังที่กรมทรัพยากรน้ำได้เข้ารับผิดชอบโครงการต่อจาก รพช. โดยเข้าดำเนินการฟื้นฟูด้วยการขุดลอกแหล่งน้ำและจัดระบบนิเวศเพื่อการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้น สนองพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแหล่งน้ำดังกล่าวโดยการฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำฯให้มีศักยภาพสามารถก่อประโยชน์สูงสุดเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศลทำให้การเก็บกักน้ำมีประสิทธิภาพได้ดีและมีระบบนิเวศที่ดีขึ้น หลังจากที่ใช้งานมานานกว่า ๓๗ ปี นายสุติ๊บ โกพาลี เกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วยตอง ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่มากว่า ๑๐ ปี ได้กล่าวขณะกำลังเตรียมจัดวางโครงเหล็กสำหรับการเพาะปลูกพืชในร่มว่า “มาอยู่ในพื้นที่นี้หลายปี ได้ปลูกพืชหลายอย่าง ทั้งกระเทียม ผักต่างๆ ตลอดจนผักสลัด โดยใช้น้ำจาก อ่างเก็บน้ำห้วยตองแห่งนี้ ไม่เคยขาดแคลนเรื่องน้ำ เพียงแต่บางปีอาจจะมีน้อยลงแค่นั้นเอง ดีใจครับที่มีน้ำในพื้นที่แห่งนี้ ทำให้ปลูกพืชได้ดี มีรายได้ที่น่าพอใจมากครับ...” ในขณะที่นายบุญศรี ปัญญาขันธ์ รองหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบรวม ๑๒ หมู่บ้านได้กล่าวถึงอ่างเก็บน้ำห้วยตองอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ใช้ประโยชน์มานานเกือบ ๓๗ปีว่า “อ่างเก็บน้ำห้วยตองแห่งนี้ ถือเป็นอ่างเก็บน้ำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้มีน้ำใช้ในโครงการนี้มายาวนาน และอ่างเก็บน้ำห้วยตองฯถือเป็นแหล่งน้ำแห่งเดียวที่โครงการหลวงแห่งนี้ได้รับประโยชน์รวมทั้งเกษตรกรชาวไทยภูเขารวม ๒ หมู่บ้าน คือบ้านห้วยตองและบ้านห้วยเกี๋ยง ซึ่งมีประชากรรวม ๑๘๘ ครัวเรือน จำนวน ๗๗๕ คน เป็นเผ่ากะเหรี่ยงทั้ง ๒ หมู่บ้าน โดยมีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์กว่า ๔๐๐ ไร่ รวมกับพื้นที่ของศูนย์ฯอีกประมาณ ๒๐๐ กว่าไร่ ซึ่งมีทั้งแปลงสาธิต แปลงทดสอบ เพื่อการเรียนรู้อีกส่วนหนึ่ง ปีที่ผ่านมาที่ศูนย์ฯแห่งนี้มียอดขายผลิตผลกว่า ๔๐ ล้านบาท อ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะมีน้ำใช้ไม่เคยขาด แต่อาจจะมีลดลงไปบ้างเพียงบางปีเท่านั้น บางครั้งก็ล้นระดับเก็บกักน้ำหรือสปิลล์เวย์ ...” นอกจากนี้ รองหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ยังได้กล่าวสรุปถึงประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำห้วยตองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า “ถ้าพื้นที่นี้ไม่มีแหล่งน้ำแห่งนี้ ก็บอกได้เลยว่า ทั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงและราษฎรของทั้ง ๒ หมู่บ้านคือ บ้านห้วยตองและบ้านห้วยเกี๋ยง คงจะลำบากไม่น้อยแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำเพื่อการเกษตรและน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งทุกวันนี้เราก็เอาน้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มาทำน้ำประปาหมู่บ้านเพื่อแจกจ่ายไปใช้ในการดื่มกินและใช้ในกิจกรรมต่างๆของศูนย์ฯและราษฎรในหมู่บ้านด้วย ...” ซึ่งเป็นไปดังพระราชดำรัส “น้ำ คือชีวิต” เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...” “อ่างเก็บน้ำห้วยตองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ถือเป็นโครงการตามพระราชกระแสของพระองค์ที่กรมทรัพยากรน้ำได้ปรับปรุงฟื้นฟูต่อจาก รพช.นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ของแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการปลูกพืชต่างๆด้านเกษตรกรรมที่ทำให้ราษฎรในโครงการหลวงทุ่งหลวงต่างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีความสุขอย่างยั่งยืนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เป็นไปดั่งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อราษฎรมาตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ นายทวีศักดิ์ สุขธงไชยกูล / น.ส. ฐิตาพร สิ่วไธสง เรื่อง นายฉลอง สังคำ ภาพ