“พระบารมีปกเกล้าฯ” เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท : พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทสู่การพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ โดยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของพสกนิกรชาวไทย ด้วยทรงถือว่าทุกข์สุขของราษฎรนั้นประดุจดังทุกข์สุขของพระองค์เอง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ กระผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ศึกษาพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทพระราชทานในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเอง สู่การเป็นพลังสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างสมดุล มั่นคงมั่'คั่งยั่งยืน ในวันนี้ กระผมขออัญเชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองและสังคมที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ โดยได้รับความสนับสนุนด้านข้อมูลจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ดังนี้ครับ พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๘ ความตอนหนึ่งว่า “...ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็ก เพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไปเจออุปสรรคอะไรก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้ แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็งในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆนั้นได้...” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ความตอนหนึ่งว่า “...สุขภาพจิตและสุขภาพกายนั้น พูดได้ว่าสุขภาพจิตสำคัญกว่าสุขภาพกายด้วยซ้ำ เพราะว่าคนไหนที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแต่จิตใจฟั่นเฟือน ไม่ได้เรื่องนั้น ถ้าทำอะไรก็จะยุ่งกันได้ กายที่แข็งแรงนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคมอย่างใด ส่วนคนที่สุขภาพกายไม่สู้จะแข็งแรงแต่สุขภาพจิตดี หมายความว่า จิตใจดี รู้จักจิตใจของตัว และรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมาก และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มาก ในที่สุดสุขภาพจิตที่ดีก็อาจจะพามาซึ่งสุขภาพทางกายได้ หรือถ้าสุขภาพกายไม่ดีนักก็ไม่ต้องถือว่าเป็นของสำคัญ...” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๓ ความตอนหนึ่งว่า “...ถ้าเรามาดูในตัวเราเอง ร่างกายของเรา เรามีแขน มีขา มีหัว มีลำตัว มีอวัยวะต่างๆ ทั้งภายนอก ภายใน ถ้าส่วนใดไม่สอดคล้องกัน เราก็บอกว่าไม่สบาย ป่วย แล้วคนเราที่จะมีความสบายจริงๆ ก็หาเวลาน้อย ต้องนึกถึงว่าทุกส่วนของร่างกายของเรา จะต้องทำงานให้พร้อมกัน ให้มีความสามัคคีกัน ถ้าไม่มีความสามัคคีกัน ร่างกายของเราต่างคนต่างทำ หรือต่างส่วนต่างทำงานของตัวก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้ ถ้าดูเฉพาะกาย แต่ว่าอีกส่วนก็มีใจ คือ จิตใจของเรา ซึ่งจะต้องทำงานเหมือนกัน เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับร่างกาย...” พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่สามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเชิญไปอ่านในการประชุมสามัญประจำปี ในระหว่างวันที่ ๗-๘ เมษายน ๒๕๒๗ความตอนหนึ่งว่า “...สติ คือ ความรู้สึกระลึกได้ว่า อะไรเป็นอะไรนั้นสำคัญมาก ที่จะช่วยให้บุคคลหยุดคิดพิจารณาก่อนที่จะพูด จะทำหรือแม้จะคิดอ่านในเรื่องใดๆ อีกข้อหนึ่งที่จะช่วยให้ระลึกได้ คิดอ่านได้ถูกจุดและถูกต้อง ก็คือจิตใจที่ตั้งมั่นและหนักแน่นเป็นกลางเพราะไม่มีอคติ สองสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดของการศึกษาดี มีหน้าที่สูง ที่จะต้องเป็นบุคคลชั้นนำในวงงานต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต...” พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานเพื่ออัญเชิญไปอ่านในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ความตอนหนึ่งว่า “...การรู้จักประมาณตน ได้แก่การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น ส่วนการรู้จักประมาณสถานการณ์นั้น ได้แก่ การรู้จักพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ทราบชัดถึงความเป็นมา และที่เป็นอยู่ รวมทั้งที่คาดว่าจะเป็นไปในอนาคต การรู้จักประมาณสถานการณ์ได้นี้ จะทำให้สามารถวางแผนงานและปฏิบัติการได้ถูกตรงกับปัญหา ทันแก่สถานการณ์ และความจำเป็น อันจะทำให้งานที่ทำได้ประโยชน์ที่สมบูรณ์คุ้มค่า การรู้จักประมาณตนและรู้จักประมาณสถานการณ์จึงเป็นอุปการะอย่างสำคัญ ที่จะเกื้อกูลให้บุคคลดำเนินชีวิตและกิจการงานไปได้อย่างราบรื่นและก้าวหน้า...” ขอน้อมเกล้าฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ กระผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านน้อมนำพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาสุขภาพจิตและสุขภาพกายให้เข้มแข็งเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ร่วมกันคิดดี ทำดีเพื่อสังคมพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างสมดุล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป ดังพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๑๒ ความตอนหนึ่งว่า “...ทุกคนมีชาติบ้านเมืองเป็นที่เกิดที่อาศัย ทุกคนจะมีความสุข ความเจริญได้ ก็เพราะบ้านเมืองเป็นปรกติมั่นคง ผู้ที่ทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมย่อมได้รับประโยชน์เป็นส่วนของตนด้วย ผู้ที่ทำงานโดยเห็นแก่ตัวเบียดเบียนประโยชน์ส่วนรวม ย่อมบั่นทอนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติ และที่สุดตนเองก็จะเอาตัวไม่รอด ขอให้ทุกคนเตรียมกายเตรียมใจทำงานเพื่ออนาคตของชาติไทยของเราต่อไป...”