สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามเมื่อแรกประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน พ.ศ. 2495 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2495 เช้าวันรุ่งขึ้น (15 กันยายน) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เริ่มด้วยพอถึงพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทองลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศตามประเพณีพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณีแล้ว พระมหาราชครูเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ฯ ขึ้นพระอู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียนครบรอบตามประเพณี สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย ในการนี้มีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร” สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชธิดา 2 พระองค์ พระราชโอรส 1 พระองค์ คือ 1. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 2. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 3. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ประสูติเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 พระราชภารกิจด้านการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่พระราชวังดุสิต และโรงเรียนจิตรลดา ต่อมาในพุทธศักราช 2499 – 2509 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงค์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ในพุทธศักราช 2513 – 2514 และระดับอุดมศึกษา พุทธศักราช 2515 – 2519 ทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต (การศึกษาด้านการทหาร) มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย พุทธศักราช 2520 – 2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 56 จากนั้น ทรงศึกษาและรับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประเทศไทย ในปีพุทธศักราช 2527 – 2531 รวมทั้งทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร ในพุทธศักราช 2533 พระราชภาระหน้าที่ทางราชการ ทธศักราช 2518 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำการ กรมทหารบก กระทรวงกลาโหม ทรงมีพระราชภาระหน้าที่ทางราชการและทรงได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับ ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับพระราชทานพระยศเป็น พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก และ นายกองใหญ่ กองอาสารักษาดินแดน สำนักอำนวยการอาสารักษาดินแดน นอกจากนี้ ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ 5-อี/เอฟ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2537 พระราชภารกิจด้านการฝึกอบรม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงตั้งพระทัยและมีพระวิริยะเพื่อการทหารอย่างแน่วแน่ ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและศึกษางานด้านการทหารและตำรวจในประเทศต่างๆ ตั้งแต่พุทธศักราช 2519 – 2526 อาทิ ทรงศึกษางานการทหารและทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ธ ออสเตรเลีย ด้วยหลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ อาวุธประจำกายและเครื่องยิงพิเศษ อาวุธพิเศษ การลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง การต่อต้านก่อการร้าย การสงครามแบบกองโจร การส่งทางอากาศ (ทางบกและทะเล) โดยสนพระทัยในเรื่องการบิน ทรงเข้ารับการศึกษาและฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบต่างๆ เครื่องบินปีกติดลำตัว เครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ-5 (พิเศษ) และเครื่องบินขับไล่ชั้นสูงจากฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ มลรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา จำนวนชั่วโมงบินกว่า 2,000 ชั่วโมง พระราชภารกิจด้านศาสนา ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พุทธศักราช 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ มีพระหฤทัยศรัทธาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2521 ประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) เป็นพระอุปัธยาจารย์ ได้รับถวายพระราชฉายาว่า “วชิราลงฺกรโณ” นอกจากนี้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงปฏิบัติพระราชกิจทางศาสนาเป็นประจำ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พระราชภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเกิดเหตุการณ์คุกคามความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ได้ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชาที่เขาล้าน จังหวัดตราด พระราชกรณียกิจสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงยึดมั่นในพระปฏิญญา ทรงพระวิริยะอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยโดยมิได้ย่อท้อ ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานการแพทย์ สาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทรงโปรดให้จัดตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วประเทศและพระราชทานแนวทางว่า “จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้เกิดจากความปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ต้องการให้ผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ปลอดภัยจากความเจ็บไข้ โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน” ทรงรับโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติมงคลเฉลิมพระชนมายุ 50พรรษา พุทธศักราช 2545 พระราชทานชื่อว่า “โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” ให้บริการตรวจสุขภาพพระภิกษุ สามเณร กว่าสามแสนรูปทั่วประเทศ รวมทั้ง เสด็จฯไปเยี่ยมผู้ป่วยและพระราชทานเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ด้านการเกษตร เกษตร คือ อาชีพหลักของคนไทย เป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจหลักที่ทรงตั้งพระทัยมุ่งมั่นช่วยเหลือเกษตรกรไทย ให้มีความรู้ รู้จักการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ พระราชทานอุปกรณ์ทำนา พันธุ์ข้าว ปุ๋ยหมัก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2529 ทรงเป็นประธานการทำนาสาธิตที่ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ทรงสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธุ์ข้าว ปุ๋ยหมักในแปลงสาธิต โดยมิได้มีกำหนดการไว้ก่อน สร้างความปลาบปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรแก่ข้าราชการและประชาชนที่มาเฝ้าทูลละองพระบาท ทรงมีแนวพระราชดำริแก้ปัญหาเกษตรกรในด้านแหล่งน้ำเพาะปลูก อุปโภค-บริโภค และเลี้ยงสัตว์ เพื่อราษฎรมีรายได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น อาทิ โครงการคลินิกเกษตร เกษตรวิชญา โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูด โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านภูแบซีรา อ่างเก็บน้ำลำพันชาดน้อยเป็นต้น ในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอพระราชานุญาตจัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่กราบบังคมทูลถวาย และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ และทรงพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ ด้านการต่างประเทศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระวิริยะอุตสาหะประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญ ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เสมอมา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำ และในส่วนของพระองค์เองจำนวนมาก การเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง ทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจกรรมต่างๆ ที่จะมุ่งนำมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเมือง ทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร การจราจรทางอากาศ กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การป้องกันสาธารณภัย รวมทั้ง เสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้เอกอัครทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาทถวายอักษรสาส์นตราตั้ง/สาส์นตราตั้ง ด้านการศึกษา ด้วยพระราชปณิธานทรงมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดี แต่มีฐานะยากจน ทรงพระราชทาน “โครงการทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2552 จัดสรรทุนพระราชทานให้ทุกจังหวัดๆละ 2 ทุนต่อปี ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน รวมถึงได้น้อมนำพระราชดำรัสในพระองค์เป็นแนวทางชีวิต คือ “เรียนดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ มีความสุข” ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานอุปกรณ์ทางการศึกษา พระราชทานพระนามพระราชโอรส พระธิดา ให้เป็นชื่อโรงเรียน นอกจากนี้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นจำนวนมาก ด้านกีฬา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระอัธยาศัยรักการผจญภัยที่ต้องออกกำลังพระวรกายมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงร่วมกิจกรรมกีฬากับพระสหายทั้งฟุตบอล รักบี้ เรือพาย ทรงวิ่ง ทรงกีฬาต่างๆ เช่น ทรงฟุตบอลร่วมทีมกับทหารและข้าราชการ ในการนี้ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และส่วนพระองค์ สร้างขวัญและกำลังใจให้นักกีฬาไทยในการนำความสำเร็จ นำเกียรติยศมาสู่ประเทศชาติและวงศ์ตระกูล ทรงพระราชทานรางวัลเกียรติยศ ถ้วยพระราชทานกีฬาประเภทต่างๆ รวมทั้ง ทรงรับสมาคมกีฬาไว้ในพระราชูปถัมภ์ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกอุปถัมภ์ฯ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม ในพุทธศักราช 2558 ทรงมีพระราชปณิธานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 ด้วยกิจกรรม Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่ ทรงเปิดโอกาสให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระบรมหากษัตริย์ ความรักที่มีต่อแม่และแม่ของแผ่นดิน โดยปั่นเพื่อแม่พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2558 เวลา 15.00 น. กิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ เป็นการเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการร่วมออกกำลังกาย สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และปลูกฝังให้รักการออกกำลังกาย และความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา สร้างสถิติจำนวนนักปั่นลงบันทึกสถิติโลก กินเนสส์เวิล์ด เร็คคอร์ด (The Guinness World Records) งาน Bike for Mom ของประเทศไทย 146,290 คน/คัน ปั่นจักรยานพร้อมกันทั่วประเทศ 77 จังหวัด ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 ทรงมีพระราชปณิธานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยกิจกรรม BIKE FOR DAD ปั่นเพื่อพ่อ ในวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2558 ทรงเชิญชวนพสกนิกรร่วมแสดงความจงรักภักดีและเทิดพระเกียรติในสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์และวิดีโอ แสดงพระราชปณิธานรวมพลัง “ปั่นเพื่อพ่อ” ภาพฝีพระหัตถ์ความห่วงใย พระราชทานชุดทหารช่างซ่อมบำรุงจักรยานให้แก่พสกนิกรที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และชุดช่างซ่อมจักรยานพระราชทาน รวมทั้งอาหารว่างและน้ำดื่มตลอดเส้นทางปั่น ด้านสังคมสงเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาห่วงใยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาสและขาดแคลน ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯหลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดเขตพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา เป็นต้น ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง โปรดเกล้าฯให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ ร่วมกับประชาชนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย เพื่อให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้นเติบโตเป็นพลเมืองดีและเป็นทรัพยากรบุคคลทีมีคุณค่าในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต พระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงมีพระปรีชาญาณในวิทยาการด้านการบิน ซึ่งทรงสนพระทัยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักบินขับไล่ไอพ่น” พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศเกือบทุกรูปแบบ ทรงผ่านหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง (F-5E) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงนำความรู้และประสบการณ์จัดทำหลักสูตรการฝึกบิน และทรงพระกรุณาปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน เครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ–5 อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2537 เป็นต้นมา รวมทั้งทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตั้งแต่พุทธศักราช 2547 ทรงผ่านการสอบใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก (Certified Aircraft Type B-734) หลักสูตรกัปตันการบินไทยสำหรับมาตรฐานการฝึกบินของการบินไทย ได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศนียบัตรผู้ตรวจสอบภาคอากาศและประกาศนียบัตรครูการบินสำหรับเครื่องบินพาณิชย์แบบโบอิ้ง 737 – 400 ครบ 3,000 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พุทธศักราช 2552โดยมีพระราชประสงค์ถวายงานปรับปรุงฝูงบินพระที่นั่งแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบิน ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดเที่ยวบินพิเศษมหากุศลเพื่อช่วยเหลือพสกนิกร พระราชทานโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ทรงเป็นนักบินที่ 1 อาทิ • 5 มกราคม พุทธศักราช 2550 TG 8870 กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ • 13 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2553 TG 8842 กรุงเทพฯ – คยา (อินเดีย) – กรุงเทพฯ สักการะพุทธสังเวชนียสถาน พุทธคยา เนื่องในโอกาส 50 ปี การบินไทย • 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2555 TG 8866 กรุงเทพฯ – ขอนแก่น – กรุงเทพฯ เพื่อสมทบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ.