สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงานกปร.) สนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีที่พระราชทานเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 เพื่อให้ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานไวัทั่วประเทศเพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎร “ควรมีการติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเก่าๆเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ใช้ประโยชน์ของโครงการฯ เพื่อโครงการฯจะได้มีการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี สำนักงานกปร.จัดให้มีการจัดประชุมสนองแนวพระราชดำริขึ้นทั้งสี่ภาค ในช่วงต่อเนื่องหลังกระแสพระราชดำรัสไม่นานทั่วทุกภาค หนหนึ่งจัดการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานส่วนหนึ่งมีจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สกลนคร มุกดาหารแล้วก็นครพนม ฯพณฯองคมนตรีนายสวัสดิ์ วัฒนายากร(ก่อนเสียชีวิตไม่นาน)ประธานการประชุม ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณ จากพระเมตตาอันลึกซึ้งยิ่งใหญ่ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรจากการที่ได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมฟังขอนำมาเผยแพร่สู่กันเพื่อร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานไว้มีมากกว่า4พันโครงการ ผมเคยไปเล่าให้ฝรั่งฟังเขาไม่เชื่อ แต่ได้ยืนยันให้เขาเข้าใจว่านั่นคือเรื่องจริง ผมเองก็แปลกใจและคนจำนวนมากก็แปลกใจว่าทำไมถึงทรงงานได้มากมายอย่างนั้น 3 พันกว่าโครงการนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่แล้วจึงพระราชทานโครงการ เพราะทรงเห็นด้วยพระองค์เองว่าการทำมาหากินและความเป็นอยู่ของประชาชนลำบากมาก แล้วอีกส่วนหนึ่งก็มีชาวบ้านกราบทูลถึงความเป็นอยู่และทำมาหากินยากมาก หลายโครงการพระราชทานพระราชดำริเอง เช่นการแก้ปัญหารถติดแถวสะพานพระปิ่นเกล้า ยาวไปถึงถนนราชดำเนิน พระราชทานพระราชดำริให้ทำถนนลอยฟ้าแล้วตัดไปทำสะพานข้ามตรงบางยี่ขันที่เป็นสะพานพระราม8 ก็แก้ปัญหาการจราจรได้มากมายมหาศาล หรืออย่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อก่อนคนที่ประสบปัญหาเร่งด่วนที่ต้องใช้ถนนอย่างคนไม่สบายตายก่อนถึงโรงพยาบาลก็มี หลายคนจะถึงบ้านอยู่แล้วเห็นหลังคาบ้านตัวเองอยู่ แต่กว่าจะถึงตั้งชั่วโมงเพราะรถติด วันนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว”นายสวัสดิ์ เล่า ฯพณฯองคมนตรีบอกว่าเป็นคนโชคดีที่สุดที่ได้ถวายงานตั้งแต่เมื่อปี2535 เป็นอธิบดีกรมชลประทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชาวบ้านตลอดทั้งปี เสด็จฯไปภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือแล้วก็ภาคกลาง พวกเราที่เป็นหน่วยงานเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องฝน ได้ตามเสด็จ มีรับสั่งว่าประเทศไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรมทำนากันเป็นหลัก น้ำจึงมีความสำคัญ ไม่มีน้ำก็อยู่ไม่ได้คนอยู่ไม่ได้ อะไรก็อยู่ไม่ได้ “ข้าราชการก่อนที่จะตามเสด็จ ต้องไปคอยเตรียมการทุกคนต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะรู้ดีว่าพระองค์ท่านทรงศึกษาพื้นที่แล้วด้วยพระองค์เองทรงทำการบ้านไม่ใช่ทรงรอความรู้จากพวกเรา แล้วทรงรู้ดีกว่าพวกเรามากนัก พวกเราก็ต้องทำการบ้านให้พร้อมต่างก็เครียดกัน พระองค์ท่านทรงทำการบ้านทรงรู้หมดภูมิประเทศเป็นยังไง ที่สำคัญมักเสด็จฯนอกเส้นทางตลอดเสด็จฯนอกเส้นทางที่มิได้มีการเตรียมไม่มีหมายล่วงหน้า แม้ว่าสมุหราชองครักษ์จะกราบบังคมทูลว่าเสด็จฯไม่ได้พระพุทธเจ้าค่ะ แต่ก็เสด็จฯ หลายครั้งรถพระที่นั่งติดหล่มเพราะทรงโปรดขับรถเอง หลายคราวฝนตกก็ทรงติดฝนแต่ไม่มีอะไรจะช่วยป้องกันเพราะไม่ได้มีการเตรียมการไว้ ก็ไม่ทรงย่อท้อ”เล่าไปยิ้มไป ฯพณฯองคมนตรีเล่าว่าเจอประจำเวลาถวายงาน คือเมื่อตรัสถามอะไรห้ามกราบบังคมทูลตอบแบบเดาเด็ดขาด โดยเฉพาะกรมชลฯต้องวางรากฐานให้ดี แผนที่ที่ทรงถืออัตราส่วน 1 ต่อ 5 หมื่น ทรงพระปรีชาในเรื่องภูมิประเทศอย่างยิ่ง อย่างคราวหนึ่งตรัสถามว่าสันฝายนี้สูงเท่าไหร่ นายช่างซึ่งก็เตรียมตัวไปเป็นอย่างดีคิดว่าไม่อะไรที่ไม่รู้อีกแล้ว แต่ไม่นึกว่าจะทรงถามเรื่องนี้ที่ปรากฏว่าไม่ได้เตรียมไปเพราะคิดไม่ถึง จึงจำไม่ได้ จะไม่กราบบังคมทูลตอบก็ไม่ได้จึงกราบทูลว่าบวก 80 พุทธเจ้าค่ะ(หมายถึงสูงกว่าน้ำทะเล) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงหันไปทอดพระเนตรแผนที่แล้วตรัสว่า ถ้าสูง 80 ก็ท่วมทั้งหมู่บ้านเพราะพื้นที่นี้สูงแค่70 กว่าๆเท่านั้นเอง หน้าแตกเลย นี่แหละผลของการเดา “ผมจบมาทางวิศวกรเครื่องกลก็ไม่ค่อยรู้เรื่องอย่างนี้นัก ก็ไม่อยากเดาเวลารับเสด็จเมื่อจะต้องมีพระราชดำรัสถามจึงไปยืนอยู่หลังๆคนอื่นอย่างยืนอยู่หลังคุณปราโมท ไม้กลัด เพราะถ้าขืนไปยืนอยู่หน้าก็เสร็จเลยเพราะเวลาทรงถามตอบไม่ได้ วันหนึ่งผมได้มีโอกาสได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ร่วมโต๊ะเสวย ตรัสว่าอธิบดีมีฝายแห่งหนึ่งควรรีบสร้างนะจะช่วยราษฎรได้เยอะ ที่จริงก็มีพระดำรัสแบบธรรมดาน่าจะไม่ทรงตั้งพระราชหฤทัยถามผมเงียบซะก็ได้ แต่นึกในใจว่าเป็นอธิบดีนี่ ก็กราบบังคมทูลว่า “ลำปลายมาศพุทธเจ้าค่ะ” องคมนตรีสวัสดิ์ วัฒนายากรหยุดนิดหนึ่งแล้วเล่าต่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าอธิบดีเสียชื่อนะ “ผมก็หันไปกระซิบถามคนรู้บอกว่าเป็น ลำพันชาด(ที่ตั้ง  ตำบลหนองกุงทับม้า  อำเภอวังสามหมอ  จังหวัดอุดรธานี  สำนักชลประทานที่5เป็นโครงการ พระราชดำริของ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประเภท  พระราชดำริตรงก่อสร้างเมื่อ  2539 ) อีกหลายแห่งที่ผมไม่รู้แต่ทรงรู้หมดอย่างอ่างเก็บน้ำห้วยประจันเพชรบุรีผมก็ใบ้กินเลย มารู้ทีหลังว่าคือห้วยผากนั่นเอง”องคมนตรีสวัสดิ์ยิ้ม ถึงตรงนี้สังเกตได้ว่าทุกคนในที่ประชุมราวๆสองร้อยชีวิตฟังฯพณฯนายสวัสดิ์ วัฒนายากรองคมนตรีเล่าอย่างตั้งอกตั้งใจ หลายคนฟังไปอมยิ้มตลอด เพราะเรื่องที่เล่านั้นคงมีไม่มากคนนักที่เคยได้สัมผัสมาและคงไม่คาดคิดกระมังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงงานหนักจริงๆและทรงงานด้วยพระอัจฉริยภาพอันเกิดจากการทุ่มเทพระองค์ ที่หมายถึงทรงมุมานะ ทรงทุ่มเทเวลาพระวรกาย ทรงศึกษาหาวิธีแล้วทรงศึกษาเรียนรู้พื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยประกอบอาชีพแล้วมีสุขหรือมีทุกข์เพราะทรงต้องการจะสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎรของพระองค์อย่างแท้จริงทำให้ได้สัมผัสถึงพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระเมตตาและพระราชหฤทัยห่วงใยอย่างยากที่จะหาคำกล่าวใดมาสื่อได้ตามความเป็นจริง ฯพณฯองคมนตรีกล่าวด้วยน้ำเสียงเนิบ นุ่มนวลแฝงด้วยเมตตาต่อไปว่าอยากจะเล่าให้ฟังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอารมณ์ขันด้วยเพราะพระเมตตาที่ลึกซึ้งมาก ที่จำติดตรึงใจเลยคือเสด็จฯทรงงานในพื้นที่กันดาร ชาวบ้านยากจนมากก็ตรัสว่าไม่ใช่เพราะเขาอยากมาทำที่นี่แต่เพราะเขาไม่มีที่ทำกิน ฉันก็ช่วยเขาเพราะเขาไม่มีที่จะไป ต้องการให้เขาช่วยตัวเองได้ มาถึงตรงนี้เหมือนฯพณฯนายสวัสดิ์นึกขึ้นได้ถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วที่จังหวัดกาฬสินธุ์ นั่นคือที่มาของพระราชดำรัสว่า “ถนนดิสโก้” (อ่านต่อ) เสกสรร สิทธาคม ….....................................................