“หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่าถนนดิสโก้นะ อยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตอนนั้นผมเป็นอธิบดีกรมชลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถไปยังพื้นที่ดังกล่าว พวกเราก็ไปรอรับเสด็จ ใกล้ค่ำเฮลิค็อปเตอร์มาก็รู้ว่าเสด็จฯแล้ว พอเฮลิค็อปเตอร์จอดสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จลงแต่ไม่เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ได้เห็นเฮลิค็อปเตอร์อีกลำหนึ่งบินอยู่บนฟ้าโน่น บินอยู่สักพักก็ลงจอด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯลงมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าเมื่อกี้บินวนดูเห็นลำพะยังแห้งขอด เห็นว่าตอนหน้าน้ำน้ำท่วม พอหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำอย่างนี้ฉันจะหาวิธีช่วย “พระองค์ตรัสว่าอยากจะไปทอดพระเนตร จะไปยังไงเพราะพื้นที่ที่จะไปได้เป็นหน้าผาแล้วก็กำลังมืดด้วย ไม่มีใครชำนาญทางจำได้ว่าพื้นที่นั้นเป็นบ้านกุดตอแก่น ก็ต้องหาเจ้าของพื้นที่คือกำนัน เพื่อให้มานำเสด็จก็ให้คนพาไปที่บ้านกำนัน แต่ก็ไม่เจอเพราะกำนันไปกรุงเทพฯ เจอชาวบ้านสองสามคนคนหนึ่งนุ่งผ้าขาวม้า ถามว่ารู้จักลำพะยังมั้ยพอบอกว่ารู้เท่านั้นแหละอุ้มขึ้นรถมาเลย แล่นไปตามถนนที่ไม่น่าจะเป็นถนน โรยด้วยลูกรัง แล้วเลี้ยวเข้าไปอีกเส้นทางหนึ่งคราวนี้เห็นทีจะเรียกถนนไม่ได้จริงๆแต่เป็นทางเกวียนมากกว่า รถวิ่งไปแบบกระเด็นกระดอนแกว่งไปแกว่งมา พวกเราก็ยิ่งใจไม่ดี สักพักทางตัน” ฯพณฯองคมนตรีนายสวัสดิ์ วัฒนายากรเล่าต่อว่าพอถึงทางตัน เราก็ใจไม่ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จลงมา แล้วตรัสถามว่า“อธิบดีจะพาฉันไปดิสโก้ที่ไหน” องคมนตรีบอกว่าตอนนั้นดิสโก้ กำลังฮิต ก็กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่าที่ไหนพระพุทธเจ้าค่ะ” พระองค์ท่านก็ตรัสว่า “เลี้ยวมาผิด บ้านกุดตอแก่น ต้องเลี้ยวขวา แต่รถนำเลี้ยวซ้าย ฉันก็เลยต้องขับตามมา” นายสวัสดิ์ วัฒนายากรเล่าว่าก็ต้องไปตามที่รับสั่งพอเลี้ยวขวาก็สัก 2-3 กม. และก็ถามราษฎรที่นำว่าไปได้ไหม ราษฎรบอกว่าไปได้แต่ต้องย้อนกลับไป 5-6 กม. แต่จะต้องเดิน ซึ่งตอนนั้นประมาณ ทุ่มครึ่ง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ถามถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ว่าตอนนี้ทรงงานอยู่ที่ไหนแล้ว ซึ่งตอนนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถยังไม่ได้ทรงงานเลย กำลังทรงเยี่ยมราษฎรอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงล้อว่า ยังงี้ก็ต้อง Good morning พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงให้กลับไปหาจุดลำพะยังที่เป็นหน้าผาลึกให้ได้ ขบวนรถก็กลับกันแบบทุลักทุเลบนถนนลูกรัง ประมาณ 4-5 กม. และอีกประมาณ 4 กม. ก็ต้องเดินไปโดยมีไก๊ด์คนเดิมนำไป “ในขณะที่เดินไปก็ต้องผ่านบ้านราษฎรซึ่งก็เห็นสระน้ำของราษฎร แต่ล้อมรั้วลวดหนามเอาไว้เพื่อกันวัว ควาย ลงไปในสระ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรและตรัสว่าจะขอผ่านตรงนี้ เจ้าหน้าที่ก็ดึงลวดหนามขึ้นเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุดรั้วลวดหนามเข้าไป ผมก็นึกในใจว่าจะมีพระเจ้าอยู่หัวประเทศไหนมุดรั้วลวดหนามแบบนี้ไหม เสด็จพระราชดำเนินไปยามค่ำคืนเพื่อหาน้ำให้กับราษฎร ทุกคนก็มุดรั้วตามพระองค์ไป พระองค์ท่านก็ยังทรงหันมาทรงบอกผมว่า อธิบดีอย่าลืมซ่อมรั้วให้เขาด้วยนะ สรุปแล้วก็เสด็จฯไปถึงจุดคือที่ลำพะยัง หุบเหวลึกมาก น้ำก็แห้งขอด และรับสั่งว่า เนี่ยแม่น้ำลำพะยัง น้ำก่ำ ลักษณะลึกแบบนี้ เวลาหน้าฝนน้ำจะแรงมาก แม่น้ำก็คดเคี้ยวทำให้น้ำท่วม ราษฎรก็จะได้รับความเดือดร้อน หน้าแล้งน้ำก็จะแห้ง เราลองไปพิจารณาหาทางแก้ไข ว่าเราจะทำประตูกั้น เพื่อว่าหน้าฝนเราจะได้เก็บน้ำได้ และจะได้สูบน้ำไปช่วยชาวบ้านเขาด้วย ประทับอยู่ที่นั่นสักพัก ก็เสด็จฯกลับ พอดีราษฎรกำลังตีข้าวอยู่มีราษฎรอยู่ 5-6 คน และมีกองข้าวอยู่ ก็ทรงหยุดรับสั่งถามชาวบ้านว่าเป็นอย่างไรบ้าง พระองค์ทรงหยิบรวงข้าวมา รวงมีเม็ดข้าว แต่เม็ดลีบ ๆ อยู่ 2-3 เม็ด พระองค์ทรงถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ ราษฎรก็ตอบว่าปีนี้แล้งมาก ๆ เลย ข้าวส่วนใหญ่ตาย แต่ที่ปลูกก็ปลูกไปยังงั้นแหละอาศัยน้ำค้าง ก็ได้ข้าวมา 4-5 ถัง ก็ไม่พอกิน อดอยาก ผมสังเกตดูพระพักตร์พระองค์เศร้าหมองมาก แล้วก็ทรงหันมารับสั่งกับพวกเราให้สร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยัง ที่อำเภอเขาวงขึ้นถ้าเราส่งน้ำตามท่อเราก็จะได้น้ำเต็มที่น้ำจะไม่รั่วไหล พยายามส่งมาช่วยชาวบ้านเขา แต่ถ้าข้ามหุบเขาไปจะมีลำห้วยไผ่ ซึ่งพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถมากทรงทราบได้อย่างไรว่ามีลำห้วยไผ่ ที่เก็บน้ำได้ 10 ล้าน ลบ.ม ชาวบ้านก็ใช้น้ำได้ไม่มาก แต่ถ้าเราเจาะอุโมงค์เพื่อผันน้ำมาเติมให้ลำพะยัง เป็นพระราชดำริครั้งแรกเรื่องการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ” นายสวัสดิ์หยุดนิดหนึ่งมองตรงไปข้างหน้าที่มีผู้ร่วมประชุมเกือบเต็มห้องเหมือนจะดูถึงปฏิกิริยาของผู้ฟังว่าจะรู้สึกยังไงหลังฟังเล่ามานานพอสมควรแล้ว องคมนตรีคงแปลกใจด้วยว่าช่วงเวลานั้นในห้องเงียบแม้เสียงหายใจยังแทบไม่ได้ยิน ฯพณฯองคมนตรียิ้มน้อยๆแล้วเล่าตอไปว่า อันนี้ก็เป็นเพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้สัมผัสระราชจริยวัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อสร้างประโยชน์สุขสู่ประชาชนมาตลอด 60 ปี ด้วยพระวิริยอุตสาหะพระราชปณิธานมุ่งมั่นที่จะทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร “พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถมากโดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำอย่างมหัศจรรย์จริง ๆ พระองค์ท่านทรงวางโครงการอย่างละเอียดด้วยพระองค์เอง แม้แต่นายช่างชลประทานเองก็ยังนึกไม่ถึง เช่นแม่น้ำปากพนัง และด้วยพระบารมีเขื่อนใหญ่ก็เกิดขึ้นเช่น เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนท่าด่านฯ เขื่อนแควน้อยฯ สำหรับเขื่อนแควน้อยฯรับสั่งมา 30 กว่าปี กว่าจะได้สร้าง ห้วยสโหมง ก็ทรงให้เร่งสร้าง สำหรับเขื่อนแควน้อยฯเดี๋ยวนี้สร้างเสร็จแล้ว ตอนนี้เริ่มส่งน้ำได้แล้ว ได้ไปเยี่ยมราษฎรมา ทุกคนก็บอกว่าเป็นบุญเหลือเกินตั้งแต่ปูย่า ตาทวด ไม่เคยทำนา 2 ครั้งเลย ตอนนี้หน้าแล้งสามารถทำนาได้ และมีระบบส่งน้ำแสนกว่าไร่ เขื่อนแควน้อยฯก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ เขื่อนห้วยสโหมงฯ ที่จังหวัดปราจีน ก็เหมือนกัน เพิ่งจะสำเร็จหลังจากมีพระราชดำริเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นอกจากนี้พระองค์ยังทรงห่วงเรื่องภาวะสิ่งแวดล้อมเช่นที่จังหวัดนครนายก มีน้ำท่วมทุกปี พระองค์ท่านก็ทรงให้สร้างเขื่อน เจ้าหน้าที่ก็กราบบังคมทูลว่าจะสร้างเขื่อนเหนือน้ำตกเหวนรก ค่าใช้จ่ายถูก เก็บน้ำได้เยอะ แต่พระองค์ทรงบอกว่าไม่ได้หรอกมันอยู่กลางเขาใหญ่ จะกระทบกับสิ่งแวดล้อม เก็บไว้เถอะ เราลงมาสร้างข้างล่างดีกว่า ก็เกิดเขื่อนท่าด่านขึ้น ซึ่งตอนนี้เราก็ไม่ได้ยินว่าจังหวัดนครนายกน้ำท่วม” ฯพณฯนายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรีบอกสรุปประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาททำให้ได้สัมผัสการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยในการที่จะพระราชทานประโยชน์สุขให้แก่พสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่ารวมถึงพระราชทานหลักการดำเนินชีวิตการประกอบอาชีพทั้งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ให้เป็นแนวทางให้ประชาชนนำไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินชีวิตให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่อย่างพอมีพอกินมีความสุขอย่างยั่งยืนสืบไป พระสถิตในใจนิรันดร์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้านายเสกสรร สิทธาคม หน้าในหลวงของเราหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน