สิ้นแล้ว....พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชของเรา สิ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศพระผู้ทรงความยิ่งใหญ่ต่อแผ่นดินและปวงประชาไทย แต่คำว่า “ดินโลก” ยังคงอยู่ วันดินโลกที่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราช บรมนารถบพิตร” ได้รับการถวายพระราชทินนามยังคงอยู่ 5 ธันวาคม ยังคงเป็นวันดินโลกของทุกปี ที่พระมหากษัตริย์ไทยซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 5ธันวาคม ทรงได้รับการยกย่องให้ถือว่าวันพระราชสมภพให้เป็นวันดินโลก ยังความปลาบปลื้มกับชาวไทยทุกคน เพราะพระองค์ท่านได้ทรงงานด้านนี้มาอย่างหนักตรากตรำกว่า 40 ปี ต่อไปนี้ชาวดินหลายหมื่นคนทั่วโลก คงจะมีงานวันดินโลกสืบเนื่องทุกปี ด้วยเพราะเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 68 ประกาศรับมติให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันดินโลกของทุกปี ทำไมถึงเรียกว่า “พระเจ้าอยู่หัวของเรา” มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน จากผู้ที่เคยปฏิบัติงานถวายพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศด้วยตัวเอง จึงกล้าที่จะพูดว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นของเรา ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ พระองค์ท่านทรงเป็นของปวงประชา และสมเด็จย่าเคยมีรับสั่งว่า “แม่อยากให้เธออยู่กับดิน” พระองค์ท่านเองก็มีรับสั่งว่า “แม่ก็คงจะสอนเราและมีจุดมุ่งหมายว่าอยากให้เราติดดินและอยากให้ทำงานแก่ประชาชน” ที่ต้องเน้นย้ำประการแรกพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศไทยทรงพบกับปวงประชาทุกหมู่เหล่าทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ทรงเป็นพระสหายกับบุคคลเหล่านี้ตั้งแต่ตาเฒ่า ยายแก่ จนถึงเด็กน้อย ประการสองพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสกับเขาเรื่องการทำมาหากินโดยตลอด ความยากลำบากของเขา และความพยายามในการทำทุกวิถีทางที่จะให้เขาได้ลืมตาอ้าปาก มีอันจะกิน และที่สำคัญทรงเน้นว่าต้องพึ่งตนเองได้ การพึ่งตนเองได้นี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เรามาดูกันว่าทำไมถึงเป็นวันดินโลกเมื่อพ.ศ. 2545 (2002) ได้มีการประชุมดินโลกในประเทศไทยและในการประชุมครั้งนั้นได้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีนักวิทยาศาสตร์ดินเข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน และคณะกรรมการสมาพันธ์ดินโลกมีมติยืนยันพระปรีชาสามารถทางด้านดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเห็นพ้องกันว่าน่าจะใช้วันพระราชสมภพให้เป็นวันดินโลกคือวันที่ 5 ธันวาคม ยังไม่มีความก้าวหน้าในการประชุมอีก 4 ปีต่อมาที่กรุงฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่การประชุมอีก 4 ปีต่อมาที่กรุงบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ผู้แทนของประเทศไทยได้เสนอและมีการตอบรับเป็นเอกฉันท์ว่าให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเป็นครั้งแรกของสมาพันธ์ดินโลกและให้มีพระราชสมัญญานามว่า “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Soil Scientist) และในการนี้ได้ขอให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพให้เป็น วันดินโลก เมื่อเป็นเช่นนี้ นายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย (ศ.ดร.สันทัด โรจนสุนทร ในขณะนั้น) จึงขอพระบรมราชานุญาตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายเหรียญเกียรติยศดังกล่าว ความสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้าเฝ้าฯได้ที่โรงพยาบาลศิริราช วันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2555 ในโอกาสนี้ตัวแทนของคณะกรรมการฯคืออดีตเลขาธิการสมาพันธ์ดินโลก ดร.สตีเฟน นอร์ทคลีฟ ทูลเกล้าฯถวายเหรียญเกียรติยศและพระราชสมัญญานามว่า”นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” โดยได้ขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลกด้วย ในการเข้าเฝ้าฯครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงมีข้อเสนอฝากพวกเรามาว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้นคงช่วยไม่ได้มากเพราะเพิ่งเป็นรัฐบาลใหม่ๆและทรงมีพระราชดำรัสว่าพระองค์ท่านไม่รู้จักใครที่สหประชาชาติในขณะนั้น ตัวเองยังไม่ทราบเลยว่าจะต้องไปถึงสหประชาชาติ องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติได้ช่วยเหลือจนกระทั้งได้รับการอนุมัติให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก โดยที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญที่ 65 ของสหประชาชาติ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 12 ปีกว่าจะได้ วันดินโลก วันที่ 5 ธันวาคม วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เราชาวดินทั้งหลายในประเทศไทยมีความซาบซึ้งในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งทำให้ให้ชาวดินทั่วโลก 60,000 กว่าคนที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์ดินโลกยอมรับว่าพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศกับการทรงงานทางด้านดิน ทรงให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรดิน การพัฒนาดินและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี ทำให้ประชาชนทั่วโลกได้ประจักษ์และได้เฉลิมฉลองวันดินโลก ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ท่าน โดยศ.ดร.สันทัด โรจนสุนทร ราชบัณฑิต ประธานกรรมการมูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตร