สัปดาห์ที่ผ่านมา "องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย" (Asian Productivity Organization: APO) ซึ่งมีฐานที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดเผยหนังสือข้อมูลผลผลิตประจำปี 2559 (APO Productivity Databook 2016) ออกมา ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดทางเศรษฐกิจต่างๆ ของ 30 ชาติในทวีปเอเชีย นำไปเปรียบเทียบอ้างอิงกับเศรษฐกิจกับเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) โดย หนังสือรายงานฉบับนี้ มีความหลากหลายอย่างมากในกลุ่มผู้ที่จะสามารถนำข้อมูลไปใช้งานไม่เพียงจำกัดอยู่เฉพาะแค่ภาครัฐบาล กลุ่มผู้มีอำนาจในการวางนโยบาย นักวิเคราะห์ทางธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการ สถานบันการลงทุน ภาคการค้า นักลงทุน ผู้นำอุตสาหกรรม ตลอดจนสื่อสารมวลชน ก็ยังสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ในการอ้างอิง เพราะครอบคลุมการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง และประสิทธิภาพในการผลิตของเศรษฐกิจประเทศต่างๆในเอเชีย ที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจของภูมิภาค และเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ อัตราการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งหมายถึงการที่เศรษฐกิจนั้นๆ สามารถทำการผลิตได้มากขึ้นจากการใช้ต้นทุนการผลิตที่เท่าเดิม ถือเป็นเส้นทางเดียวไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้น รายงานฉบับนี้ จึงได้ติดตาม รวบรวมข้อมูลการปรับปรุงความสามารถในการผลิตของชาติ และนโยบายสาธารณะที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่หลายๆ ประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ สำหรับ 30 ประเทศที่อยู่ในหนังสือข้อมูลฉบับนี้ มี 20 ชาติที่เป็นสมาชิกของ APO ประกอบไปด้วย บังคลาเทศ กัมพูชา ไต้หวัน ฟิจิ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สปป.ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม ขณะที่ อีก 10 ชาติที่เหลือ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภูฏาน บรูไน เมียนมา รวมถึงกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งมีบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ ยังได้ทำการเปรียบเทียบกับข้อมูลของประเทศออสเตรเลีย อียู ตุรกี และสหรัฐฯ โดยในปี 2558 การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการรักษาการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึงอัตราการเติบโตเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ในช่วงปี 2553 - 2557 ของทั้ง 30 ประเทศอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ถึงร้อยละ 5.7 แม้ว่าจะมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน แต่ประสิทธิภาพการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตลอดจนความยั่งยืนของเศรษฐกิจอินเดีย ยังช่วยยกระดับภาพรวมของเศรษฐกิจเอเชียเอาไว้ได้ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในส่วนของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วต้องถือว่ายังเติบโตอย่างช้า ในบรรดาประเทศเหล่านี้ สหรัฐฯ ถือว่าดูดีกว่าชาติอื่นๆ โดยจีดีพีในช่วงปี 2553 - 2557 เฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 1.9 ในทางกลับกัน อียูที่เพิ่งจะกำลังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินโลก และวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาค จีดีพีช่วงเดียวกัน เฉลี่ยโตร้อยละ 0.5 สำหรับกลุ่มอียู 15 ประเทศ และ ร้อยละ 0.7 สำหรับกลุ่มอียู 28 ประเทศ ด้วยสถานการณ์ในบางประเทศยังคงไม่แน่นอน ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง ตลอดจนปัญหาผู้อพยพจากตะวันออกกลาง และที่สดๆ ร้อนๆ ก็คือ "เบรกซิต" (Brexit) ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่แม้ว่าจะถดถอย แต่จีดีพีก็ยังขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.8 อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตของภาคการค้า และภาคการซื้อขายที่ชะลอตัว ตลอดจนอุปทานที่เกินความต้องการของตลาดทั้งเหล็ก และสินค้าวัสดุอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลจีนดูเหมือนจะควบคุมความไม่แน่นอนในระยะสั้นในตลาดสินทรัพย์ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตต้องใช้เวลา ซึ่งสร้างผลกระทบทางลบให้แก่เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องอาทิ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นอย่างชัดเจน ขณะที่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนตอนนี้ยังอยู่ในวงจำกัด นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน หากใช้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นตัวอ้างอิงแล้ว จะพบว่า "สิงคโปร์" เป็นประเทศที่มีระดับความสามารถในการผลิตสูงที่สุด โดยมีอัตราความสามารถการผลิตต่อหัวแรงงานสูงกว่าสหรัฐฯ ร้อยละ 10 ตามมาด้วย ฮ่องกง และไต้หวัน ส่วนญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 4 ระดับความสามารถการผลิตน้อยกว่าสหรัฐฯ อยู่ร้อยละ 34 แต่ถ้าหากดูกันเฉพาะเมืองใหญ่ ก็ยังคงเป็นสิงคโปร์ที่เป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยโตเกียว ฮ่องกง และไทเป ส่วนเมืองเศรษฐกิจสำคัญๆ ของจีนนั้นจะอยู่ราวๆ กลางตาราง แต่สำหรับเมืองต่างๆ ในเอเชียใต้พบว่าจะลงไปอยู่ในอันดับท้าย นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุถึง 2 ประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในเทอมของจีดีพี ก็คือจีนแผ่นดินใหญ่ และอินเดีย โดยมีอัตราความสามารถการผลิตต่อหัวแรงงานอยู่ที่ร้อยละ 19 และ 12 ของระดับของสหรัฐฯ และท่ามกลางการจัดกลุ่มของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทั้ง Asia30 และ APO20 ปรากฎว่า ระดับความสามารถการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 21 ของระดับความสามารถการผลิตของสหรัฐฯ และถ้าคิดเฉพาะอาเซียนจะอยู่ที่ ร้อยละ 19 ประเทศเวียดนาม