“พระบารมีปกเกล้าฯ” เรียนรู้เรื่องพระมหาชนกด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยวัตรอันงดงาม มั่นคงในทศพิธราชธรรม นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยทรงถือว่าทุกข์สุขของราษฎรนั้นประดุจดังทุกข์สุขของพระองค์เอง ในวันนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ กระผมขอนำเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านเกี่ยวกับ สาระสำคัญที่พสกนิกรสามารถเรียนรู้ได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านน้อมนำไปใช้ในการปฏิบัติตนและปฎิบัติงาน ดังนี้ครับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก พร้อมเหรียญพระมหาชนก ในวโรกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชปรารภเมื่อปี ๒๕๒๐ หลังจากที่ทรงสดับพระธรรมเทศนาขอสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลรสดีถูกข้าราชการบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งอยู่ตระหง่าน แสดงว่า สิ่งใดดี มีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้ อแย่ง และจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น สาระของพระราชนิพนธ์ คือ พระมหาชนกบำเพ็ญวิริยบารมี โดยที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จนกระทั่งได้ทรงครองราชสมบัติ และนำความเจริญมั่นคั่งแก่กรุงมิถิลาด้วยพระปรีชาสามารถ ในส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับต้นมะม่วง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริว่า การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกทรงแสวงโมกขธรรม ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน กล่าวคือข้าราชการบริพาร “นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้างคนรักษาม้า และนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์ล้วนจาริกอยู่ในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทั้งทางวิทยาการทั้งทางปัญญา ยังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้แต่ของตนเอง จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ” อนึ่งพระมหาชนกยังต้องทรงปรารภเรื่องการอนุบาลต้นมะม่วงตามวิธีสมัยใหม่ เก้าวิธีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงดัดแปลงเนื้อหาในเรื่องมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี ๒๕๓๑ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล ให้เป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของสาธุชนทั้งหลาย พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกนั้น มีอยู่ว่า ในอดีตกาลมีพระราชาพระนามว่า มหาชนก ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ พระเจ้ามหาชนกนั้น มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่าอริฏฐชนกและโปลชนก พระราชาพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่องค์พี่และตำแหน่งเสนาบดีแก่องค์น้อง กาลต่อมาพระมหาชนกราชสวรรคต พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติและทรงตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช ต่อมาพระโปลชนกได้รับการกราบทูลจากอำมาตย์ผู้ใกล้ชิดว่า พระอุปราชเล่นไม่ซื่อกับพระองค์ พระโปลชนกจึงถูกจองจำและควบคุมรักษาในคฤหาสน์ ใกล้พระราชนิเวศ โดยพระโปลชนกทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าคิดไม่ซื่อกับพระเชษฐาจริง เครื่องจองจำจงตรึงมือเท้าของข้าพเจ้า แม้ประตูก็คงปิดสนิท และการขอให้เป็นตรงข้าม หากพระองค์ไม่ได้คิดทรยศ ทันใดนั้น เครื่องจองจำได้หักลงเป็นท่อนๆ แม้ประตูก็เปิดกว้าง ต่อจากนั้น พระโปลชนกก็เสด็จออกไปยังเมืองชายแดนแห่งหนึ่ง ไปตั้งพระองค์ ณ ที่นั้น ประชาชนจำท่านได้ก็บำรุงพระองค์ ตอนนั้นพระเชษฐาไม่สามารถจับพระองค์ได้ พระโปลชนกสามารถแผ่อิทธิพลไปได้ทั่วชนบทชายแดน และสามารถรวบรวมกำลังพลได้เป็นจำนวนมาก และทรงมีพระราชดำริจะจัดการตามสมควรแก่สถานการณ์ จึงได้ทรงประชุมพลพรรคแล้วเคลื่อนทัพไปสู่กรุงมิถิลา พร้อมด้วยมวลชนจำนวนมาก เมื่อถึงได้ทรงตั้งค่ายพักแรมกองทัพอยู่นอกพระนคร เมื่อเหล่าทหารและประชาชนกรุงมิถิลาทราบข่าว ก็ได้เข้ามาสวามิภักดิ์ด้วย เมื่อเกิดการสู้รบกัน ผลปรากฎว่า พระอริฏฐชนกถูกทหารของพระโปลชนกเอาชนะได้ทำให้พระองค์ต้องเสียพระชนมชีพในที่รบ เมื่อชาวพระนครทราบเรื่องจึงเกิดการโกลาหลไปทั่ว พระโปลชนกทรงได้เป็นกษัตริย์ครองนครมิถิลาสืบต่อมา ฝ่ายพระมเหสีขอพระอริฏฐชนกได้เสด็จหนีไปยังเมืองกาลจัมปากะ โดยระหว่างทางพระอินทร์เสด็จลงมาช่วย โดยทรงแปลงกายเป็นชายชราขับเกวียนพาพระนางเสด็จไปถึงยังเมืองนั้น และให้พระนางนั่งพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งภายในเมือง ขณะนั้นบังเอิญพราหมณ์ทิศาปราโมกข์เดินผ่านมา เกิดความเอ็นดูสงสาร จึงรับพระนางไปอยู่ด้วยและอุปการะเลี้ยงดูประหนึ่งเป็นน้องสาว ไม่นานนักพระมเหสีก็ประสูติพระโอรส ทรงตั้งพระนามว่า มหาชนกกุมาร ตามพระนามของพระอัยกา มหาชนกกุมารตั้งพระทัยว่า เมื่อเติบใหญ่จะเสด็จไปเอาราชสมบัติเมืองมิถิลากลับคืนมา ครั้นเมื่อพระองค์เจริญวัย จึงได้ตรัสแก่พระมารดาว่าจะไปล่องเรือสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ เพื่อทำการค้าขายสะสมทุนรอนและกำลังคน เพื่อช่วงชิงเอาราชสมบัตินครมิถิลากลับคืนมา พระมารดาได้ทรงนำทรัพย์สินที่มีค่าจากกรุงมิถิลา ๓ สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร เพื่อเป็นทุนล่องเรือไปค้าขายที่สุวรรณภูมิ ในระหว่างทางเกิดพายุใหญ่ โหมกระหน่ำจนเรือจะล่ม ลูกเรือพากันหวาดกลัวหนีตายกันอย่างโกลาหล ครั้นเมื่อรู้ว่าเรือจะจม มหาชนกกุมารได้เสวยอาหารจนอิ่นหนำ แล้วทรงนำผ้าชุบน้ำมันจนชุ่ม และนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา ครั้นเมื่อเรือจมลง เหล่าพ่อค้าและกลาสีเรือได้กล่าวเป็นอาหารของปลาและเต่า ส่วนมหาชนกกุมารทรงแหวกว่ายอยู่ในทะเล ๗ วัน จนนางมณีเมขลา เทพธิดาผู้พิทักษ์มหาสมุทรเห็นพระมหาชนกว่ายอยู่เช่นนั้น จึงช่วยอุ้มพามหาชนกกุมารไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา เมื่อนั้น ณ นครมิถิลา พระเจ้าโปลชนกทรงประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ในกาลต่อมา โดยก่อนสิ้นพระชนม์ทรงตรัสว่า ผู้ใดสามารถแก้ไขปริศนาขุมทรัพย์ได้ ก็ยกบ้านเมืองให้แก่ผู้นั้น ในที่สุดปรากฎว่า พระมหาชนกสามารถไขปัญหาทั้งปวงได้ จึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา และปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์อย่างผาสุก ด้วยทรงครองอยู่ในทศพิศราชธรรม อยู่มาวันหนึ่ง พระมหาชนกได้เสด็จอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงต้นหนึ่งมีผล ต้นหนึ่งไม่มีผล โดยต้นที่มีผลนั้น รสชาติอร่อย พระองค์ได้ทรงชิมและตั้งพระทัยว่าจะกลับมาเสวยอีก แต่เมื่อครั้นเสด็จจากอุทยานไป มะม่วงต้นที่มีรสชาติดีนั้นก็ถูกพสกนิกรโค่นและแย่งชิงกันจนหมด เพื่อเอาผลมะม่วง ส่วนต้นที่รสชาติไม่ดียังคงอยู่รอดได้ เมื่อทรงทราบเรื่อง พระมหาชนกจึงทรงมีดำริว่า ราชสมบัตินั้นก็เปรียบเสมือนต้นไม้ที่มีผลที่อาจถูกทำลาย แม้จะไม่ถูกทำลายก็ต้องคอยระแวดระวังรักษาอยู่ตลอด ทำให้เกิดความกังวลได้ พระองค์ทรงเห็นว่า เป็นหน้าที่ของพระราชาที่จะทำให้สังคมอยู่รอดพ้นก่อน ด้วยผู้คนส่วนใหญ่ยังขาดปัญญา และเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า ดุจดังผู้ทำลายต้นมะม่วงเพียงเพราะต้องการผลมะม่วง ไม่คิดเก็บออมไว้กินในวันข้างหน้า เมื่อคิดได้เช่นนั้นแล้ว พระมหาชนกจึงให้ผู้รู้วิชามาทำนุบำรุงต้นมะม่วงด้วยหลักวิชาการทางการเกษตร และตั้งสถานศึกษาชื่อ ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย เพื่อสร้างคนผู้เป็นคนดีมีสติปัญญาให้แก่สังคม เพื่อสังคมจะได้เจริญรุ่งเรืองและดำรงอยู่ได้อย่างผาสุกตราบนานเท่านาน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกระผมขอเชิญชวนทุกท่านศึกษาพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกและขออัญเชิญพระราชปรารภ ความว่า “ขอให้ทุกท่านมีความเพียรอันบริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม และกำลังกายที่สมบูรณ์” กระผมเชื่อมั่นว่า หากเราประพฤติปฏิบัติโดยเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ก็จะช่วยให้มีความพร้อมที่จะเอาชนะและฝ่าฝันอุปสรรคทั้งปวง สู่การพัฒนาตนเป็นคนดีคนเก่งของสังคม และเป็นพลังเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นต่อไปตราบชั่วลูกชั่วหลานครับ