“พระบารมีปกเกล้าฯ” เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท : สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชกาลที่10 ตั้งแต่เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สู่การสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจน ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับรองตามมติคณะรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะ “องค์รัชทายาท” ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พร้อมเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องในรัฐสภา “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยตามกฎมณเฑียรบาล ตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีพระพุทธศักราช ๒๕๕๙ ตรงกับปีวอก ที่จุลศักราช ๑๓๗๙ มหาศักราช ๑๙๓๘ ในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ ศก ๒๓๕ เป็นวันที่ ๑ ปีที่ ๑ ของรัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ จะไม่ขานคำว่า “พระบาท” นำหน้าพระนาม “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระองค์ใหม่ จนกว่าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันน้อยใหญ่นานัปการ ตั้งแต่เมื่อพระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ และทรงเยี่ยมเยือนราษฏร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฏรให้ดีขึ้น กระผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในพระราชประวัติโดยสังเขป และพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อเยาวชนไทย ภายใต้โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ โดยพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕ เวลา ๑๗.๔๕ น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในโรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงส์มีด ที่แตว้นซัสเซกส์ และโรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นพระองค์ได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ และสำหรับการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน แคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ภายหลังการเสด็จกลับมาประเทศไทย ทรงรับราชการทหารและทรงศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ ๔๖ เมื่อปี ๒๕๒๐ และทรงผนวช เมื่อปี ๒๕๒๑ จากนั้นทรงศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รุ่นที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๒๕ และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจากประเทศอังกฤษ เมื่อปี ๒๕๓๓  ทั้งนี้ พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถมาก ดำรงตำแหน่งเป็นพลเอก สามเหล่าทัพ ได้แก่ พลเอกแห่งกองทัพบกไทย พลเรือเอกแห่งกองทัพเรือไทย และพลอากาศเอก แห่งกองทัพอากาศไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๙ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และทรงมีพระราชศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีผนวช ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงฺกรโณ” และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงลาสิกขา เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกร ด้วยทรงมีพระเมตตาต่อประชาชนชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานให้คำมั่นไว้ในงานสโมสรสันนิบาต ซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ที่ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๕ ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าทราบตระหนักว่า ข้าพเจ้ามีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อประเทศชาติอย่างสูง และการปฏิบัติราชการแผ่นดินนั้น เป็นภาระสำคัญใหญ่ยิ่ง ที่ต้องอาศัยทั้งสติปัญญาและความรู้ความสามารถอย่างพร้อมมูล ข้าพเจ้าจะต้องเพียรพยายาม ศึกษาและปฏิบัติฝึกฝนตนเองต่อไปอีก อย่างมาก เพื่อให้สามารถเหมาะสม กับหน้าที่ ตามที่ทุกคนมุ่งหวัง... ในโอกาสอันพิเศษนี้ จึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายได้เป็นกำลังใจสนับสนุนข้าพเจ้า และได้ตั้งความปรารถนาร่วมกันกับข้าพเจ้าที่จะมุ่งมั่นประกอบกรณียกิจ ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียง และด้วยความสุจริตยุติธรรม เพื่อยังความเจริญมั่นคงและความร่มเย็นเป็นผาสุกให้บังเกิดแก่ชาติ ประเทศ และประชาชนยั่งยืน สืบไป...” หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ พระราชกรณียกิจภายใต้โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินตามแนวพระราชดำริ เมื่อปี ๒๕๕๒ ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจนยากลำบาก แต่ประพฤติดีมีความสามารถในการศึกษาให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีตามความสามารถของแต่ละคน นับเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพแก่เยาวชนไทย ในปี ๒๕๕๓ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ขึ้น โดยทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ ทรงให้นำโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนสืบต่อไป คณะกรรมการมูลนิธิทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทาน ได้น้อมรับพระราชดำริ ไปกำหนดหลักเกณฑ์การพระราชทานทุนและวิธีการคัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรองนักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อรับทุนการศึกษาพระราชทานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถและความต้องการของผู้เรียน การดำเนินงานจัดสรรเป็นไปตามหลักการแนวคิดพื้นฐาน ที่ทรงมุ่งพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากจนที่เรียนดี ประพฤติดี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถและความต้องการของผู้เรียน โดยยึดหลักให้มีการกระจายทุนครบในทุกจังหวัด ระยะเริ่มแรก พระราชทานทุนให้จังหวัดละ ๒ ทุน และให้มีความเท่าเทียมระหว่างเพศของผู้รับพระราชทานทุน โดยเป็นทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี ทั้งนี้ ในระยะต่อไป จะพิจารณาขยายจำนวนทุนเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม และให้ครอบคลุมถึงการพระราชทานทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นการเฉพาะกรณีๆ การดำเนินงาน คัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง นักเรียนผู้สมควรได้รับการพิจารณารับทุนพระราชทาน เป็นความร่วมมือของ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมประสานดำเนินงานกับคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต ๑ เป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อดำเนินกระบวนการคัดเลือก คัดสรร และมีการสุ่มตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเติม ด้วยการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน พบปะพูดคุยสอบถามข้อมูลจากตัวนักเรียน พร้อมสัมภาษณ์ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลข้อเท็จจริงมาประกอบการพิจารณากลั่นกรอง และจัดลำดับความสำคัญในสองลำดับแรกของทุกจังหวัด ที่ควรต้องเน้นให้ความสำคัญกับสภาพความเป็นอยู่ครอบครัว ความยากลำบาก ความไม่มั่นคงในอาชีพ การมีรายได้ไม่แน่นอนอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ควบคู่ไปกับการมีความสามารถด้านการเรียน มีความมุ่งมั่น และความเพียรพยายามช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง การดำเนินงานของโครงการทุนการศึกษาฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ได้ช่วยให้นักเรียนที่ยากจนและยากลำบากได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมั่นคงต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีนักเรียนผ่านกระบวนการกลั่นกรอง คัดเลือก คัดสรรและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทานฯ และคณะกรรมการมูลนิธิพระราชทานฯ รวมทั้งนักเรียนทุนฯ ดีเด่นรุ่นที่ ๕ และครูดีเด่นเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ ในวโรกาสที่ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ