ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม “อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ” “ท้องน้ำขององค์พระมหากษัตริย์”(1) “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภคน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่นถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำรัส “น้ำคือชีวิต” ไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 พระราชดำรัสดังกล่าวได้รับการเชิญมาถ่ายทอดกันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่าที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า ถ้าเราไม่มีน้ำคงลำบากอย่างแท้จริง ซึ่งพระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร การดำเนินชีวิต "... เรื่องน้ำนี้ ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อ หรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่น ในวัตถุต่างๆ ในรูปผลึก ก็ต้อง มีน้ำในนั้นด้วย ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ฉะนั้น น้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า ทำไมการพัฒนา ขั้นแรกหรือสิ่งแรก ที่นึกถึงก็คือโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการ สิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้อื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ ถ้าหากว่า ปัญหา ของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไข หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เรามีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ ฉะนั้นการพัฒนานั้นสิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้ นอกจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนถึง การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หรือการค้า หรือการคลัง อะไร พวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป..." พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทาน วันที่ 29 ธันวาคม 2532 พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชดำรัสอีกประการหนึ่งได้ทรงเน้นย้ำความสำคัญของน้ำไว้ว่า สรรพสิ่งต้องอาศัยน้ำ ทั้งสิ้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระองค์พระราชทานพระราชดำริ พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับน้ำมาอย่างมากมาย “อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่จังหวัดชลบุรีเป็นอีกหนึ่งผลสำเร็จที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของน้ำดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเรื่อง “น้ำคือชีวิต” อย่างแท้จริง เพราะวันนี้เมื่อ อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯสร้างเสร็จและได้เริ่มกักเก็บน้ำได้ สามารถช่วยราษฎรในพื้นที่ให้มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต พัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีความสุขอย่างยั่งยืน ทั้งประชาชนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ “ท้องน้ำขององค์พระมหากษัตริย์ที่ชื่อ คลองหลวง” คือความหมายของชื่อ“อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรอันเนื่องมาจากรพระราชดำริ” ที่ได้จากการประกวดชื่ออ่างขึ้น ซึ่งประชาชนชาวจังหวัดชลบุรีซึ่งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริให้มีการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น ได้รวมหัวใจตั้งชื่ออ่างแล้วส่งไปประกวดที่จังหวัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ชื่ออ่างที่จังหวัดนำส่งไปยังสำนักราชเลขาธิการได้ถูกนำความการบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และได้พระราชทานชื่อ “อ่างเก็บน้ำคลอง หลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เป็นชื่อใหม่เป็นสิริมงคลเป็นพระมหากรุณาธิคุณมาในวันนี้ที่สายน้ำสร้างประโยชน์สุขแก่ชาวจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียงอย่างยั่งยืน เดิมทีพื้นที่อำเภอพานทองและอำเภอพนัสนิคมจังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงแทบทุกปีเนื่องจากบริเวณพื้นที่มีฝนตกหนักทำให้เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากทำให้คลองหลวงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักในพื้นที่เมื่อน้ำหลากมาไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง อีกทั้งเมื่อหมดฝนแล้วถ้าไม่มีคลองหลวงก็ไม่มีน้ำเหลือเก็บกักไว้ใช้เพราะไม่มีแหล่งน้ำที่มีศักยภาพเก็บกักน้ำ เป็นปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่พบเจอกันมาซ้ำซากยาวนาน ปัญหาที่เกิดขึ้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับรู้และมีพระราชดำริแก้ไขปัญหาดังกล่าวจนวันนี้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงหลุดพ้นจากความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งไปโดยสิ้นเชิง ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2525 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราช ทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน เพื่อให้การช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่แห่งนี้ ความว่า อ่างเก็บน้ำคลองหลวง ความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่กรมชลประทานจะก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำคลองหลวงขึ้น และมีระบบส่งน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำโดยตรงเพื่อการส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 32,000 ไร่ ซึ่งได้จัดซื้อที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำไว้บางส่วนแล้วนั้น การดำเนินการก่อสร้างต้องใช้เวลานานหลายปี เนื่องจากราคาค่าก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำอยู่ในเกณฑ์สูงประมาณ 700 ล้านบาท โดยต้องเสียค่าจัดซื้อที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำประมาณ 250 ล้านบาท เพราะพื้นที่ภายในอ่างเก็บน้ำคลองหลวงดังกล่าว ราษฎรได้เข้าไปทำกินอยู่อย่างหนาแน่นแล้ว ควรพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลอง หลวงแห่งนี้ให้เล็กลงประมาณเท่ากับพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่จัดซื้อไว้แล้ว หรืออาจจะต้องซื้อเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้ราคาค่าก่อสร้างลดลงและดำเนินการก่อสร้างได้รวดเร็วขึ้น สำหรับระบบส่งน้ำควรก่อสร้างไว้ตามเดิม และควรพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงสำหรับเก็บกักน้ำอย่างเต็มที่ขึ้นใหม่ทางบริเวณต้นน้ำคลองหลวง เหนืออ่างเก็บน้ำเดิมขึ้นไปประมาณ 20 กม. ซึ่งพื้นที่อ่างเก็บน้ำบริเวณนี้เป็นป่าสงวน ปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำจะลดน้อยลง ค่าก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำคลองหลวง แห่งใหม่นี้ไม่ควรอยู่ในเกณฑ์สูง การก่อสร้างจะดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนั้นควรพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของคลองหลวงบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำคลองหลวงเดิมตามความเหมาะสมอีกด้วย พระราชดำรัสข้างต้นจึงเป็นที่มาของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ เพื่ออุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตรและการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เกาะจันทร์ อ.พานทอง และ อ.พนัสนิคม