นายวชิระ เอี่อมละออ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 8 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชนประทาน(ในขณะนั้น) เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าเดิมทีกรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่ตำบลเกาะจันทร์ อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี มาตั้งแต่ปี 2508-2509 และได้วางแผนเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2514 แต่ในปี 2515 ต้องชะลอโครงการเนื่องจากต้องศึกษาด้านวิศวกรรมและศึกษาความเหมาะสมโครงการเพิ่มเติม ปรากฏว่ามีการร้องขอจากราษฎรในพื้นที่ ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและเกิดอุทกภัยขึ้นบ่อยครั้ง “จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบและได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานในจังหวัดชลบุรี ให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ กรมชลประทานได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการ และวันที่ 28 เมษายน 2552 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงได้ โดยสร้างกั้นคลองหลวงซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำบางปะกง ที่เขตพื้นที่บ้านคลอง ต.เกาะจันทร์ อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี เป็นเขื่อนดินมีความยาวเขื่อน 3.829 กิโล เมตร มีความสูงประมาณ 13.30 เมตร ก่อสร้างระบบส่งน้ำฝั่งซ้าย มีพื้นที่ชลประทาน 16,915 ไร่และคลองส่งน้ำฝั่งขวา มีพื้นที่ชลประทาน 27,085 ไร่ พร้อมทั้งคลองระบายน้ำ ยาวประมาณ 50 กิโลเมตร และอาคารในคลองระบายน้ำอีก 48 แห่ง กำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการตามแผนงานในปี 2559” ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทาน กล่าวต่อไป ปัจจุบันส่วนของเขื่อนส้รางเสร็จแล้ว 100 % สามารถเก็บกักน้ำได้แล้วเต็มความจุ แต่ส่วนที่กำลังดำเนินการจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดภายในปี 2562 คือ คลองส่งน้ำฝั่งขวาที่จะแล้วเสร็จภายในปีนี้(2559) คลองส่งน้ำฝั่งซ้ายจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยอ่างเก็บน้ำสามารถกักเก็บน้ำได้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล.ลบม.) ส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรมฤดูฝนได้จำนวน 44,000 ไร่ ฤดูแล้งจำนวน 8,500 ไร่ และสามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประมงและอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกประมาณ 11.90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ยังจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ อ.พานทอง อ.พนัสนิคม อ.เกาะจันทร์ อ.บ่อทอง และ อ.เมือง จ.ชลบุรี อีกด้วย เชื่อว่ากรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของพื้นที่ได้อย่างแน่นอน ด้านนายประเสริฐ ขิมเล็ก หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมบริหาร อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลมาก พระองค์ทรงเห็นปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่และมีพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ซึ่งโครงการนี้สามารถช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งปัญหาน้ำการเกษตรไปจนถึงน้ำเพื่อการุปโภคบริโภคได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ได้รับประโยชน์เป็นพื้นที่แรกอยู่ห่างจากแนวสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ ไม่มากนัก ในอำเภอเกาะจันทร์ โดยเป็นประตูน้ำแรกที่ผู้เขียนเดินทางลงพื้นที่ไปดูด้วยตา ถือว่าน้ำที่อยู่ในคลองหลวงฯยังมีอยู่มาก เรียกได้ว่าเห็นแล้วชื่นใจ สายน้ำใสกระเพื่อมตามกระแสลมเป็นน้ำจากพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอย่างแท้จริง ลุงมานะ อยู่สบาย ราษฎรตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ ผู้ดูแลประตูเปิดปิดน้ำ ประตูแรกของคลองหลวง ประตูด่านแรกจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ ชี้ให้ดูระดับน้ำในวันนั้นโดยบอกว่า น้ำในคลองหลวงมีมากกว่าเดิมมาก เท่าที่เห็นเชื่อว่าสามารถมีพอใช้ในการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เพราะเมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีอ่างเก็บน้ำ เทียบกันไม่ได้เลย เพราะถ้าไม่มีอ่างหลังหมดฝนจะไม่มีน้ำในคลองหลวงเลยก็ว่าได้ แค่มีพอใช้อุปโภคบริโภคก็ถือว่าดีแล้ว “ก่อนที่จะมีอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ ชาวบ้านในแถบนี้จะเจอปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งทุกปี เพราะเป็นพื้นที่ท้องกระทะ เมื่อมีน้ำมามากน้ำก็ท่วม เมื่อหมดหน้าน้ำ ก็ไม่เหลือน้ำเพราะไหลไปหมด ชาวบ้านทำนาได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น ที่ผ่านมารายได้จึงไม่เพียงพอ ก็อยู่กันอย่างยากลำบากพอสมควร จะทำนาก็ต้องรอแต่น้ำฝน วันนี้พอมีน้ำ ชีวิตก็เปลี่ยนไป ทำนาได้ปีละสองครั้ง และยังทำการปลูกพืชอย่างอื่นได้อีก เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง” จากพื้นที่ต้นน้ำที่ได้รับประโยชน์ เดินทางไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร จากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ เป็นพื้นที่ท้ายๆที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ อยู่ในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม พื้นที่ที่ในวันนี้ยังเห็นการปลูกข้าวอยู่ตลอดสองข้างของคลองหลวงที่ทอดยาวมาถึงพื้นที่อำเภอพนัสนิคม นายปิ่น ปิตา วัย 79 ปีหหนึ่งในเกษตรกรชาวพนัสนิคมที่ถือว่าเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ กล่าวว่า “ตอนนี้สามารถทำนาได้อย่างเต็มที่ ปีละ 2 ครั้ง หน้าฝนน้ำก็ไม่ท่วมมีรายได้ตลอดทั้งปี ไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อน เมื่อมีน้ำทุกคนก็ปลูกพืชกันอย่างเต็มที่ บริเวณคันนาก็จะปลูกพืชผักอื่น ๆ ด้วย เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า และแตงไทย ขณะที่บริเวณขอบคันนา ก็จะแบ่งพื้นที่ไว้ส่วนหนึ่งโดยไม่ปลูกข้าว ขุดให้ลึกนิดหนึ่งเพื่อปล่อยปลา เลี้ยงปลาในนาข้าวเป็นการช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชอีกทางหนึ่ง เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวข้าว ปลาก็จะมาอยู่ในรวมกันอยู่ในบ่อก็สามารถจับมาขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง” แหล่งน้ำคือรูปธรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่พสกนิกรอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยพสกนิกรชาวไทยเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถูกส่งต่อมาในพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เราคนไทยเห็นจนชินตา สิ่งที่พระองค์ปฏิบัติและมีพระราชดำริให้ทำสิ่งต่างๆนั้น ล้วนมาจากความต้องการของประชาชนคนไทยทั้งสิ้น เช่นโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ ที่ชาวบ้านผู้ที่ได้รับประโยชน์ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานมาให้ชาวบ้านในพื้นที่ เพราะประชาชนไม่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอีกต่อทำให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่ความกินดีอยู่ดีแบบพอเพียงด้วยปัจจัยหลักสำคัญคือน้ำ เป็นน้ำคือชีวิต ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศพระราชทานพระราชดำรัสไว้อย่างแท้จริง เพราะเมื่อราษฎรชาวอำเภอพนัสนิคมและอำเภอเกาะจันทร์ อำเภอใกล้เคียงในจ.ชลบุรี ได้รับน้ำที่ได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ท่าน ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปเท่าที่สัมผัสด้วยตายืนยันว่า มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีความสุขขึ้นจริงๆและน่าจะเป็นความสุขอย่างยั่งยืนแท้ทีเดียว โดย เสกสรร สิทธาคม