๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นวันแห่งการรอคอยของชาวบ้านกูแบสีรา ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยการเสด็จพระราชดำเนินมา ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งวันนี้คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่ทรงรู้ว่าราษฎร ณ ที่แห่งนี้ ได้รับความทุกข์ยากแร้นแค้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยคุณภาพ ทุกชีวิตเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะบ้านกูแบสีราเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีราษฎรอยู่เพียง ๕๕๕ คน ๙๕ หลังคาเรือน เป็นชาวไทยมุสลิมทั้งหมด ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในช่วงฤดูฝนมักประสบปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา น้ำฝนจะไหลจากเขาตูมและเขาลานควาย ทะลักเข้าสู่พื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เรือกสวนไร่นา ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายอยู่เป็นประจำ ถนนหนทางก็ถูกน้ำท่วมขังเนื่องด้วยไม่สามารถระบายน้ำได้ และยิ่งไปกว่านั้นในช่วงฤดูแล้งก็ไม่สามารถหาน้ำกินน้ำใช้ได้ น้ำในบ่อน้ำตื้นเป็นสนิม สุขภาพร่างกายของราษฎรเสื่อมโทรม เมื่อทรงรับทราบถึงปัญหาของราษฎรในพื้นที่นี้ประกอบกับได้ทรงศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่นี้ด้วยพระองค์เองมาก่อน เพื่อที่จะทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับอาณาประชาราษฎร์ จึงได้มีกระแสพระราชดำรัส ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาโดย “ให้แก้ปัญหาเรื่องเร่งด่วนก่อนพร้อมทั้งศึกษาในภาพรวม เมื่อได้ศึกษาภาพรวมในทั้งระบบแล้วให้ดูว่าส่วนใดจะแก้ไขอย่างไร และให้แก้ไขไปทีละส่วนเป็นขั้นตอนจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้” ผลแห่งความสำเร็จของการพัฒนา จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว เป็นผลให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดทำแผนงาน กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับราษฎรในพื้นที่บ้านกุแบสีราอย่างเป็นระบบ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและตรงตามความต้องการของราษฎรเป็นอย่างดียิ่ง และได้ร่วมกันดำเนินงานพัฒนาในด้านต่างๆ ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้ดำเนินการขุดลอกคลองระบายน้ำ ๓ สาย เพื่อระบายน้ำในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและในช่วงฤดูแล้งมีน้ำเก็บกักและให้สามารถส่งน้ำไปในพื้นที่ทำการเกษตรได้ เพื่อที่ราษฎรจะได้ทำการเพาะปลูกพืชหาเลี้ยงชีพได้อย่างต่อเนื่อง ทำการก่อสร้างถนนลาดยางให้ราษฎรได้สัญจรไปมาได้สะดวกมากขึ้น มีการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก่อสร้างลานกีฬาอเนกประสงค์ พร้อมทั้งก่อสร้างศูนย์พัฒนาอาชีพให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้กับครอบครัวสามารถดำรงชีพเลี้ยงตัวเองต่อไป การพัฒนาด้านการเกษตรและส่งเสริมอาชีพ ได้มีการจัดทำผังฟาร์ม เพื่อทำการเกษตรผสมผสานปรับปรุงดินด้วยอินทรีวัตถุ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การอบรมให้ราษฎรในเรื่องการปลูกพืชต่างๆ การปลูกอ้อยเคี้ยว และแปรรูปผลผลิต การปลูกพืชไร่ การปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้านเรือนราษฎร เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว เป็นต้น ปลูกมะพร้าว รวมทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงโค เลี้ยงแพะ และสัตว์ปีก จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เช่น กลุ่มทำขนมโดนัท ทองม้วน กลุ่มปักผ้าคลุมผม เป็นต้น พร้อมทั้งมีการเตรียมความพร้อมพัฒนาราษฎรในพื้นที่ควบคู่กันไป โดยกระตุ้นผู้นำและแกนนำในหมู่บ้าน ตลอดจนนำราษฎรไปศึกษาดูงานตามโครงการต่าง ๆ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ได้มีการสร้างระบบประปาหมู่บ้านเพื่ออุปโภค บริโภค แก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหาร รณรงค์ให้มีการใช้ส้วมราดน้ำทุกครัวเรือน มีการจัดตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้สะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล นอกจากนี้ยังมีการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย คนพิการ และเด็กในครอบครัวยากจน ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนหนังสือโดยการปรับระบบการเรียนใหม่ ซึ่งจากเดิมจะเปิดสอนเฉพาะชั้นประถมศึกษาที่ ๒,๔ และ ๖ ปัจจุบันได้ปรับใหม่ประกอบด้วย ๓ ชั้นเรียน คือประถมศึกษาปีที่ ๑,๒และ๓ ส่วนประถมศึกษาปีที่ ๕ ได้นำนักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนบ้านสายชล ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยให้การสนับสนุนค่าพาหนะในการนำนักเรียนไปโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนได้รับการพัฒนาการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ พลิกฟื้นชีวิตใหม่ นับจากที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาดำเนินการตามโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแรบาสีตามพระราชดำริของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามบรมราชกุมารีในช่วงเวลานั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรในพื้นที่ให้หมดไป จากชีวิตที่มีความเป็นอยู่อย่างทุกข์ยากแร้นแค้น ได้กลับมามี “ชีวิตใหม่” อย่างเห็นได้ชัด เปรียบเสมือนผืนดินที่เคยขาดความชุ่มชื้น ได้กลับพลิกฟื้นมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งดั่งเม็ดเม็ดฝนโปรยปรายลงสู่พื้นดิน อันนำมาซึ่งความพึงพอใจของราษฎรเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณน้ำพระราชหฤทัยที่ไหลรินลงมาสู่ราษฎรผู้ยากไร้ ให้สามารถดำรงชีพของตนเองอยู่ได้ต่อไป ราษฎรเหล่านี้รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือให้แก่พวกเขาเป็นยิ่งนัก ทำให้ราษฎรได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ นี้เป็นอย่างมาก จึงได้มีการร่วมกลุ่ม มีความพร้อมที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาและจัดการต่อสิ่งที่ได้รับมา ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป จากผลของการพัฒนานี้ ไม่เพียงแต่ราษฎรในบ้านกูแบสีราเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ ยังกระจายสู่ราษฎรในบ้านใกล้เคียงให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาจากจุดนี้อีกด้วย วันแห่งความปีติ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๖ เป็นวันที่ราษฎรบ้ากูแบราสี มีความปลาบปลื้ม เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่นี้อีกครั้ง อันเป็นผลทำให้ราษฎรได้รู้ว่าพระองค์ไม่เคยทิ้งพวกเขาให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวถึงแม้ว่าพระองค์จะมีพระราชกรณียกิจต่าง ๆ มากมายก็ตาม นับเป็นบุญของพวกเราชาวไทยทั้งหลาย ที่ทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของราษฎร และขจัดความเดือดร้อนทุกหนทุกแห่ง ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน ข้อมูล-สำนักงานกปร.