ราษฎรในเขตตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร จำนวน ๓ หมู่บ้าน กว่า ๗๔๐ ครัวเรือน ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมไร่นาและที่อยู่อาศัยเป็นประจำทุกปีเนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพลุ่มต่ำ และเป็นจุดที่ลำน้ำยัง ไหลมาสมทบกับแม่น้ำชี เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจึงไหลหลากเข้าท่วมไร่นา เส้นทางคมนาคม และที่ตั้งชุมชนเป็นบริเวณกว้างนับหมื่นไร่ ส่งผลให้พืชผลส่วนใหญ่ของราษฎรโดยเฉพาะข้าวนาปีเสียหายเป็นจำนวนมาก การเดินทางสัญจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก และในบางชุมชนราษฎรต้องอพยพย้ายของหนีน้ำไปอยู่อาศัยบนพื้นที่สูงอยู่ทุกปี เมื่อถึงฤดูแล้งราษฎรส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรเนื่องจากในพื้นที่มีแหล่งเก็บกักน้ำไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกเพื่อชดเชยโอกาสและผลผลิตที่เสียหายไปในช่วงน้ำหลากได้อย่างเต็มที่ “หนองอึ่ง” แหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญในพื้นที่ก็มีสภาพตื้นเขินจากตะกอนน้ำหลาก ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มากพอสำหรับทำการเกษตร และระดับน้ำในแม่น้ำชีในช่วงฤดูแล้งก็ลดลงต่ำมากเกินกว่าที่จะนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างง่าย ๆ นอกจากจะใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ดึงน้ำขึ้นมา นอกจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากแล้ว ปัญหาหลักอีกอย่างหนึ่งในพื้นที่ก็คือ ความเสื่อมโทรมของ “ป่าดงมัน” ป่าดิบแล้งผสมเต็งรังบนเนินทรายขนาดใหญ่เกือบ ๓,๐๐๐ ไร่ใกล้กับหนองอึ่ง ซึ่งถูกราษฎรบุกรุกแผ้วถางเป็นที่ทำกิน รวมทั้งเก็บหาของป่าและใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์อย่างไม่มีการควบคุม จนกระทั่งเหลือป่าที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์เพียง ๓๐๐ ไร่ ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนโดยรอบซึ่งอาศัยป่าแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารประจำครัวเรือน โดยปัญหานี้มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของประชากรและระบบเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตำบลค้อเหนือ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย ในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำริให้ส่วนราชการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ ประกอบด้วย ๑.การขุดลอกหนองอึ่ง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลา ๒.การพัฒนาและปรับปรุงสภาพดิน เพื่อลดปัญหาดินชะล้างพังทลาย ๓.การฟื้นฟูสภาพป่าดงมันบริเวณหนองอึ่งเพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลกัน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องจากพระราชดำริ จึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยเป็นโครงการในลักษณะบูรณาการ ที่ส่วนราชการรวมถึงราษฎรในชุมชน มีบทบาทในการวางแผนและขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ รวมกันใน ๓ มิติ คือ มิติที่ ๑ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ๑) ปรับปรุงและพัฒนาหนองอึ่งฯ พื้นที่ประมาณ ๕๕๐ ไร่ โดยการขุดลอกตะกอนดินทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีความจุประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรเป็นประมาณ ๖๔๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ส่วนดินที่ขุดลอกขึ้นมาได้นำไปปั้นเป็นเป็นคันดินโดยรอบบริเวณหนองน้ำ เพื่อทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ ในขณะเดียวกันก็เป็นด่านป้องกันตะกอนดินที่แม่น้ำพัดพามา รวมทั้งเป็นเส้นทางสัญจรของราษฎรในพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำจำนวน ๔ แห่ง ในบริเวณหนองอึ่งด้านที่รับน้ำจากแม่น้ำชี เพื่อทำหน้าที่เปิดรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝนมาเก็บกักไว้ และเป็นตัวควบคุมการส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วงของโลกผ่านระบบคลองส่งน้ำ ๓ สาย ความยาวรวม ๓,๐๐๐ เมตร จากหนองอึ่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรในช่วงฤดูแล้งหรือเมื่อเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง การปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าวทำให้ในปัจจุบันหนองอึ่งมีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงในด้านการเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่การเกษตรและอุปโภคบริโภคแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและทำการประมงที่สำคัญ รวมทั้งเป็นแหล่งอยู่อาศัยของนกน้ำหลายชนิดอีกด้วย ๒)ปรับปรุงและพัฒนาดิน ดำเนินการปลูกต้นไม้และหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในบริเวณพื้นที่โดยรอบหนองอึ่งซึ่งมีความลาดชันค่อนข้างสูง และดินมีสภาพเป็นดินร่วนปนทราย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดินชะล้างพังทลาย และส่งผลให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขินตามมา ๓) ฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้ ดำเนินการฟื้นฟู “ป่าดงมัน” ซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรม พร้อมทั้งกันแนวเขตพื้นที่ป่าให้ชัดเจน รวมพื้นที่ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ โดยการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า ๓ อย่างประโยชน์ ๔ อย่าง” เป็นหลัก เพื่อให้ป่าผืนดังกล่าวมีนสภาพการเป็นป่าชุมชนซึ่งประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และสร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่า พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านอนุรักษ์ของโครงการและปลูกฝังจิตสำนึกรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ในชุมชน ต่อมาในปี ๒๕๔๖ ราษฎรใน ๗ ชุมชนและส่วนราชการได้ร่วมกันจัดตั้งป่าดังกล่าวเป็น “ป่าชุมชนดงมัน”โดยมีการกำหนดระเบียบกติกาการใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกันอย่างชัดเจน ผลจากการดำเนินงานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องทำให้ป่าดงมันฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว พรรณไม้ใหญ่จำพวกยางนา พะยอมและแดง เติบโตโดยไม่ถูกตัดฟัน และราษฎรได้ใช้ประโยชน์จากป่าในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ฟืนและไม้ใช้สอย รวมถึงของป่า และสมุนไพรชนิดต่างๆ มิติที่ ๒ การบริหารจัดการทรัพยาธรรมชาติ ๑)การบริหารจัดการน้ำ ดำเนินการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการเก็บกักน้ำเพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งประมงของราษฎรในพื้นที่ และการรักษาระบบนิเวศธรรมชาติ สำหรับน้ำส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปสนับสนุนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งผ่านระบบคลองส่งน้ำที่ก่อสร้างไว้ โดยในจุดนี้ราษฎรกลุ่มผู้ใช้น้ำจะวางแผนการใช้น้ำและเพาะปลูกร่วมกับทางราชการ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่โครงการยังคงประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งอยู่ เนื่องจากปริมาณน้ำในหนองอึ่งฯมีจำกัด สามารถ่ายไปให้พื้นที่การเกษตรได้ไม่มากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการจะวางแผนดำเนินงานให้ความช่วยเหลือราษฎรต่อไป ๒)การจัดการที่ดิน ขับเคลื่อนโดยยึดแนวพระราชดำริโครงการได้จัดแบ่งที่ดินว่างเปล่าบางส่วนบริเวณริมหนองอึ่งฯ และป่าชุมชนดงมัน ออกเป็นแปลงๆ ให้กับราษฎรที่ “หัวไว ใจสู้” แต่มีที่ดินทำกินจำกัดได้เข้ามาใช้ประโยชน์ทำการเกษตรตามที่ตนเองถนัดพร้อมทั้งให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านความรู้ทางการเกษตรและปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจ เลี้ยงสัตว์ และการประมงทางหนึ่งก็เพื่อให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ด้อยโอกาส อีกทางหนึ่งก็เพื่อจัดเป็นพื้นที่สาธิตด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สำหรับให้คนในพื้นที่และผู้สนใจเข้าไปศึกษาดูงาน ในลักษณะ “เกษตรกรต้นแบบ” ๓) การจัดการทรัพยากรป่าไม้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริที่พระราชทานไว้โครงการได้วางระบบการบริหารจัดการและดูแลพื้นที่ป่าชุมชนดงมัน ร่วมกับราษฎร รวมทั้งดำเนินการต่อยอดการพัฒนา โดยส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากป่าชุมชนซึ่งมีปริมาณมากนับสิบตันในแต่ละปี ได้แก่ เห็ดโคนชนิดต่าง ๆ เห็ดเพาะ เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก ไข่มดแดง และแม่เป้ง(มดแดงที่เป็นราชินีมด) เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้กับราษฎรนอกเหนือไปจากการเพาะปลูก กิจกรรมทั้งหลายเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ จนถึงปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวได้เติบโตเป็นองค์กรธุรกิจชุมชนในรูปแบบสหกรณ์การเกษตรจำกัดมีตราสินค้าของกลุ่มชื่อ”วนาทิพย์” ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP ระดับห้าดาว ของจังหวัดยโสธร ในปี ๒๕๕๒ มียอดจำหน่ายในแต่ละปีประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้แล้วโครงการยังได้จัดทำพื้นที่การเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้นในพื้นที่ป่าชุมชนดงมันเพื่อถ่ายทอดความรู้และแสดงตัวอย่างความสำเร็จให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน เช่น กิจกรรมป่าชุมชน การทำวนเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากป่า เป็นต้น มิติที่ ๓ การพัฒนาอาชีพ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของราษฎรในพื้นที่ โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารครั้งเสด็จฯไปยังพื้นที่และพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรโดยให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรได้ในเวลาเดียวกันก็ร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติไปด้วยให้อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน จึงเป็นกิจกรรมที่โครงการได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าและน้ำ โดยเน้นบทบาทในด้านการส่งเสริมและให้ความรู้ทางการเกษตรสาขาต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรมอาชีพและการจัดแปลงสาธิต รวมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตร เช่น พันธุ์ไก่ สุกร สัตว์น้ำ น้ำเชื้อสำหรับผสมเทียมและเวชภัณฑ์สัตว์ เป็นต้น และส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน โดยมีกิจกรรมที่โดดเด่นคือ การส่งเสริมงานศิลปาชีพและการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยพัฒนาต่างๆ ใน ๓ มิติดังกล่าว โดยเน้นการพัฒนาบนฐานของทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการ ผลการดำเนินงานในห้วงเวลา ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ตำบลค้อเหนือ โดยเฉพาะในด้านการฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่บริเวณหนองอึ่งฯและป่าชุมชนดงมันอย่างแนบแน่น นับเป็นที่ประจักษ์ได้ถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 ที่ทรงห่วงใยราษฎรโดยทรงดำเนินพระองค์ตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างหาที่เปรียบมิได้ สิ่งที่ถือว่าเป็นผลสำเร็จโดดเด่นของโครงการนี้ก็คือ การผสมผสานระหว่างกิจกรรมการอนุรักษ์เข้ากับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ทำให้ราษฎรซึ่งได้รับประโยชน์จากป่าในรูปแบบที่หลากหลายเกิดความตระหนักและสัมผัสถึงคุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันดูแลรักษาป่าไม้ในหมู่ของราษฎรเอง โดยมีส่วนราชการให้คำปรึกษา ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ “คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลกัน” แม้ว่าในปัจจุบันโครงการจะบรรลุเป้าหมายหลักในการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งฯเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม แต่ยังมีสิ่งสำคัญคือกิจกรรมการด้านการจัดหาแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้งให้กับราษฎรและการพัฒนาอาชีพที่โครงการมีแผนจะดำเนินงานในระยะต่อไปเพื่อให้การดำเนินงานสามารถสนองพระราชดำริได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน อย่างไรก็ตามด้วยพระเมตตาและด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ณ วันนี้นับได้ว่าโครงการได้ช่วยวางรากฐานด้านการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นปัจจัยหลักในกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนลงในพื้นที่แห่งนี้แล้ว ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน สำนักงานกปร.-ข้อมูล