การเคหะแห่งชาติระบุโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนอาคารโครงการฟื้นฟูชุมชนดินแดงไม่คุ้มค่าการลงทุน เผยผลศึกษาพบต้นทุนการผลิตแพง ทั้งจากราคาแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ เก็บไฟฟ้าอายุใช้งานเพียง 3-5 ปี แต่กำลังหาทางเลือกใหม่โดยวิจัยการเก็บไฟฟ้าไว้ในน้ำยาเคมีแทน พลเอก สุชาติ หนองบัว กรรมการการเคหะแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการการมีส่วนร่วม การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูชุมชนดินแดง เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่มีข้อเสนอให้การเคหะแห่งชาติลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนอาคารอยู่อาศัยใหม่ในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงว่า จากการศึกษาพบว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ยังมีราคาแพง เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตแผงโซลาร์เซลล์ได้เอง แต่ในอนาคตหากรัฐส่งเสริมให้มีการใช้แผงโซลาร์เซลล์ จนมีปริมาณการใช้มากพอก็จะทำให้ราคาถูกลงได้ นอกจากนั้น แบตเตอรี่ที่ใช้เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ยังมีราคาแพง และอายุการใช้งานเพียง 3-5 ปีเท่านั้น ทำให้อัตราการคุ้มทุนนานกว่า 10 ปี ไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน อย่างไรก็ตาม การเคหะแห่งชาติยังคงศึกษาวิจัยทางเลือกใหม่ๆ ไว้รองรับอนาคต โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยบูรพา วิจัยการใช้น้ำยาเคมีเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นทางเลือกแทนการใช้แบตเตอรี่ ซึ่งจะทราบผลวิจัยในเร็วๆ นี้ นางสาวอุบลวรรณ สืบยุบล รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเคหะแห่งชาติได้วิจัยการนำพลังงานแสงอาทิตย์บนอาคารมาผลิตกระแสไฟฟ้าพบว่า มีต้นทุนสูงกว่าหน่วยที่ซื้อจากการไฟฟ้าเสียอีก “ในทางกลับกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ไม่รับซื้อไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จากเอกชน เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของตัวเองถูกกว่า”โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงเป็นโครงการขนาดใหญ่ 20,292 หน่วย ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เริ่มก่อสร้างอาคารแรก (แปลงG) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิตตัดกับถนน อโศก-ดินแดง โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 540 วัน นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2559 และจะทยอยก่อสร้างอาคารอื่นๆ ตามมา