วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี พร้อมด้วย นายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร) ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมโครงการป่ารักน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านถ้ำติ้ว ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และโครงการลุ่มน้ำสงคราม บริเวณวัดอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครให้การต้อนรับและราษฎรในโครงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของราษฎรในการดูแลรักษาและอนุรักษ์ป่าที่ช่วยสร้างน้ำตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถความว่า “...พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำพระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า...” ทรงเริ่มต้นโครงการป่ารักน้ำ ขึ้นที่บ้านถ้ำติ้วเป็นแห่งแรกเมื่อปี ๒๕๒๕ ปัจจุบันเป็นต้นแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่สมบูรณ์แบบโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างพื้นป่า พัฒนาแหล่งน้ำโดยสร้างความตระหนักในการหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่รอบ ๆ โครงการป่ารักน้ำ เพื่อให้ราษฎรที่ยากจน สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวและหยุดการบุกรุกทำลายป่า ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและราษฎรได้ร่วมกันการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ถูกทำลายฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ก่อสร้างฝายดักตะกอนเพื่อชะลอการไหลของน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าต้นน้ำ ปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และอบรมราษฎรเพื่อสร้างพลังอำนาจของชุมชนให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการฟื้นฟูสภาพป่า ส่งผลให้พื้นที่ป่าจำนวน ๑๗,๐๐๐ ไร่ ในเขตพื้นที่โครงการป่ารักน้ำฯ ได้รับการพัฒนาฟื้นฟูให้มีความอุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและทางชีวภาพส่งผลถึงความสมบูรณ์ของดิน น้ำป่า ทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโครงการและบริเวณใกล้เคียงในตำบลปทุมวาปีมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นถึง ๑,๔๐๐ ครัวเรือน ๖,๐๔๖ คนอีกด้วย ในโอกาสนี้ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีและคณะฯ ได้ปลูกต้นพะยูงและปล่อยพันธุ์ปลาร่วมกับประชาชนในอ่างเก็บน้ำคำจวง ชมผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพเครือข่าย รวมถึงได้เยี่ยมชมพื้นที่สวนป่าทรงปลูก และปล่อยพันธุ์ปลาลงในอ่างเก็บน้ำคำจวงร่วมกับประชาชนใน โครงการป่ารักน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนั้น องคมนตรีและคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการลุ่มน้ำสงคราม บริเวณวัดอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) ตำบลปทุมวาปี ฟังการบรรยายสรุปถึงความเป็นมาและประโยชน์ของลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งมีต้นกำเนิดจากภูผาเหล็ก (เทือกเขาภูพาน) อำเภอส่องดาว นับเป็นลุ่มน้ำที่สำคัญลุ่มน้ำหนึ่งของภาคอีสาน ด้วยมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากในฤดูฝนน้ำจากลำน้ำสงครามจะหลากเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่ม เรียกลักษณะของระบบนิเวศน์ ว่าป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งการขึ้นลงของกระแสน้ำในลำน้ำสงครามมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการอพยพของปลา โดยปลาจากแม่น้ำโขงสามารถว่ายเข้ามาหาอาหารและวางไข่ในช่วงเวลาน้ำหลาก เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ และเมื่อหมดฤดูน้ำหลากชาวบ้านก็จะสามารถหาอาหารได้จากป่าทาม เช่น หน่อไม้ เห็ด สมุนไพรต่างๆ นับเป็นแหล่งอาหารและสร้างอาชีพให้แก่ราษฎรเป็นอย่างดียิ่ง วันศุกร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และคณะเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการเสริมสร้างเกษตรกรต้นแบบตามแนวพระราชดำริ ด้านเกษตรผสมผสานในพื้นที่ขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของนายทองปาน พิมพานิชย์ บ้านคำประมง ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งปัจจุบันมีรายได้ถึง 665,000 บาท หลังจากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน อีกทั้งสามารถจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริในการต่อยอดและขยายผลสำเร็จจากการประกอบอาชีพและการสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตให้กับราษฎรรายอื่นๆได้ ต่อไป นายทองปาน พิมพานิชย์ ปัจจุบันอายุ ๖๑ ปี เดิมมีอาชีพทำนาเป็นหลัก หมดหน้านาก็รับจ้างทั่วไป ฐานะยากจน มีรายได้เฉลี่ยเพียงปีละ ๓,๐๐๐ บาท อีกทั้งยังติดหนี้ ธ.ก.ส. อีกมากมาย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นายทองปานก็เริ่มปรับแนวความคิดโดยหันมายึดเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ นายทองปานฯ ลงมือทำการเกษตรผสมผสานบนพื้นที่ ๑๗ ไร่ ๑๔ ไร่ ทำนา อีก ๓ ไร่ปลูกมะม่วง บริเวณบ้านก็ปลูกพืชผักสวนครัวพื้นบ้านทุกอย่างที่กินได้ เช่น มะละกอ ข่า ตะไคร้ พริก มะเขือ ของกินของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตก่อน ในบ่อน้ำ ก็ทำการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ บนบกเลี้ยงเป็ด และเลี้ยงไก่ รวมทั้งเพาะเห็ด โดยได้นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือนำทางลดรายจ่ายโดยการทำปุ๋ยหมักใช้เองที่ได้จากมูลสัตว์ เศษซากพืชต่างๆ เพื่อใช้เป็นปุ๋ยใส่พืชผักและไม้ผล ปัจจุบันนายทองปานมีรายได้เฉลี่ยกว่า ๔ หมื่นบาทต่อเดือน และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้ผู้สนใจพร้อมทั้งเป็นวิทยากรให้ชุมชน ปัจจุบันสามารถเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรได้ถึง ๕๐ ไร่ แบ่งพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน ทำนา จำนวน ๒๐ ไร่ปลูกไม้ผลชนิดต่าง ๆ จำนวน ๒๐ ไร่ ได้แก่ มะม่วงงามเมืองย่า แก้วมังกร มะขามเปรี้ยว อ้อยคั้นน้ำ สับปะรด ฝรั่ง พุทรา และกล้วยหอมทองเพื่อส่งไปขายประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งได้ก่อตั้งกลุ่มปลูกกล้วยหอมทองจังหวัดสกลนครและเพื่อนบ้านจังหวัดใกล้เคียง ออกจากบ้านนายทองปาน องคมนตรีและคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ซึ่ง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจำนวนหลายโครงการของการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี๒๕๑๐ เป็นเขื่อนดินสูง ๓๐ เมตร ขนาดสันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร ยาว ๓,๓๐๐ เมตร มีความจุที่ระดับเก็บกัก ๕๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารระบายน้ำล้น ก่อสร้างประตูปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ยาว ๕๐.๘๐ เมตร ประตูปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ยาว ๔๘.๔๐ เมตร และก่อสร้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายยาว ๒๘.๐๔ กิโลเมตร ก่อสร้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวายาว ๔๕.๗๐ กิโลเมตร คลองซอยและคลองแยกซอยจำนวน ๗๙ สาย รวมความยาว ๒๓๙.๖๓ กิโลเมตร มีอาคารประกอบในคลองส่งน้ำประมาณ ๑,๔๕๕ แห่ง พร้อมด้วยโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ๔ แห่ง สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ชลประทานรวม ๒๑๐,๐๐๐ ไร่ ปัจจุบัน (กรกฎาคม ๒๕๕๙ ) มีปริมาณน้ำ ๑๖๓.๐๕ ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเก็บกักน้ำและแพร่กระจายน้ำ ให้แก่พื้นที่เพาะปลูก ซึ่งช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงขาดฝนและในฤดูแล้ง รวมทั้งบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำอูนและลุ่มน้ำห้วยปลาหางกับตอนล่างของลุ่มน้ำสงคราม จังหวัดสกลนคร ได้เป็นอย่างดี