กมธ.การเมืองสนช.หนุนติดดาบกกต.สืบสวน สอบสวน คดีลต.ส่วนกม.พรรคการเมือง คงหลักการจัดตั้งง่าย ยุบยาก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.59 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม รับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการการเมือง สนช. เรื่อง แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กรณีศึกษาพ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 โดยนายกล้านรงค์ จันทิก ประธานกมธ. รายงานว่า กมธ.ใช้ฐานจากกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับมาศึกษาข้อดีและข้อเสีย โดยร่างพ.ร.ป.กกต. นั้นทางกมธ.เห็นด้วยในหลักการเดิม โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่และโครงสร้างเดิมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ รวมไปถึงกกต.จังหวัดด้วย แต่มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มอำนาจกกต.โดยเฉพาะเรื่องของการสืบสวนสอบสวน ในการเรียกบุคคล ตรวจค้น อายัด ยึด เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกกต. ขณะเดียวกันควรให้ออกกฎหมาว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานกกต.เป็นการเฉพาะแยกอออกจากกฎหมายกกต.ด้วย นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น ทางกมธ.การเมือง เห็นว่าหลักการตั้งพรรคการเมืองตั้งจัดตั้งง่าย มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและยุบยาก และควรเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามไม่ให้นอมินีหรือบุคคลภายนอกเข้ามายุ่งในกิจการภายในของพรรคการเมือง หากฝ่าฝืนพบว่ามีความผิดจริง ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะเดียวกันกมธ. ยังเห็นว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ของนักการเมือง ยังมีความจำเป็น และควรเพิ่มโทษหากพบว่ามีความพยายามในการปกปิด ส่วนเงินบริจาคทางกมธ.เห็นว่าควรให้บริจาคตรงกับพรรคการเมือง จำนวนไม่เกิน 10 ล้านบาทแต่ปัจจุบันถือว่าไม่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อเตรียมใช้สำหรับการพิจารณากฎหมายลูกที่ สนช.จะรับไม้ต่อมาพิจารณาจาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)