“พระบารมีปกเกล้าฯ” เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (๑) ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงมองเห็นจุดอ่อนที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในอนาคต อันเนื่องมาจากการพัฒนาที่ขาดความสมดุล เน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเจริญทางวัตถุ โดยนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ แต่สุดท้ายความเจริญส่วนใหญ่ยังไม่สามารถกระจายไปสู่คนในชนบท หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้อย่างทั่วถึง ในวันนี้ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กระผมขอนำเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านเกี่ยวกับ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริโดยได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดังนี้ครับ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศที่นำสู่ความสุขอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นว่า การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น และต้องสร้างพื้นฐานความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่ก่อน จากนั้น ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความพอเพียงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ สศช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสดังกล่าว จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาร่วมกลั่นกรองพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สรุปเป็นนิยามความหมาย “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ สศช. นำไปเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา สศช. ได้อัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๙) จนถึงในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเน้นย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน ดังพระราชดำรัสจากวารสารชัยพัฒนา ฉบับประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ ความตอนหนึ่งว่า “...เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารได้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป...” เศรษฐกิจพอเพียง หรือความพอเพียงนั้น ประกอบด้วย ๓ องค์ประกอบ และ ๒ เงื่อนไข ได้แก่ “ความพอประมาณ”หมายถึง ความพอดีต่อความจำเป็นและเหมาะสมกับฐานะของตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และเป็นการบริหารทรัพยากรให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสภาพสังคมและวัฒนธรรมไทย จะพบว่า ความพอประมาณนั้น นับเป็นแนวปฏิบัติที่มีมายาวนานแล้ว สังเกตได้จากการดำเนินชีวิตของคนไทยที่เรียบง่าย “พออยู่ พอกิน” “พึ่งตนเอง” “ประหยัด เรียบง่ายและได้ประโยชน์สูงสุด” “ความมีเหตุผล”หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียง และการดำเนินการอย่างพอเพียงนั้นต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ หลักกฎหมาย หลักคุณธรรม และวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ ถ้วนถี่ “รู้จุดอ่อน จุดแข็งโอกาส อุปสรรค” และคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ “รู้เขา รู้เรารู้จักเลือกนำสิ่งที่ดีและเหมาะสมมาประยุกต์ใช้” ทั้งนี้ ความมีเหตุผลในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความหมายที่สะท้อนถึงความเข้าใจถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำ ณ สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง โดยความมีเหตุผลจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย การสั่งสมความรู้และประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบและรู้วิธีประมวลปัจจัยที่ซับซ้อนมาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจ เพื่อให้ความคิดและการกระทำอยู่ในกรอบที่ถูกต้องตามหลักเหตุผล ดังนั้น ความมีเหตุผลในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการตัดสินใจและการปฏิบัติบนพื้นฐานของความรู้ และประสบการณ์ “การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี”หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยง ปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดจากความไม่ประมาท ซึ่งต้องดำเนินไปพร้อมๆกับความมีเหตุผลและความพอประมาณ หลีกเลี่ยงความต้องการที่เกินพอดีของแต่ละบุคคล เป็นการสร้างวินัยในตัวเองให้เกิดขึ้นในระดับบุคคล เพื่อปกป้องตัวเองจากกระแสบริโภคนิยม หรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตน์ และเป็นกลไกการรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน คิดแก้ไขปัญหาที่จุดเล็กๆ ก่อน ทั้งนี้ ในการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องมีเงื่อนไข ๒ ประการ ได้แก่ การใช้หลักวิชาความรู้ และมีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยความเพียรเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ดังนี้ “การใช้หลักวิชาความรู้” โดยนำหลักวิชาและความรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ ทั้งในขั้นการวางแผนและปฏิบัติอย่างรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง กล่าวคือ นำวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาศึกษาอย่างรอบด้าน และมีความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน ตลอดจนมีความระมัดระวังในขั้นของการปฏิบัติ “มีคุณธรรม”การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความพอเพียงนั้น ต้องเสริมสร้างให้คนในชาติมีพื้นฐานจิตใจ การปฏิบัติ โดยเสริมสร้างคุณธรรมสำคัญให้เกิดขึ้น ประกอบด้วย มีความตระหนักในความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจ ทั้งนี้ การที่บุคคล ครอบครัว องค์กร และชุมชนจะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ต้องนำระบบคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตมาประพฤติปฏิบัติก่อน โดยเริ่มจากการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว การศึกษาอบรมในโรงเรียน การสั่งสอนศีลธรรมจากศาสนา ตลอดจนการฝึกจิต ข่มใจตนเอง และดำเนินชีวิตด้วยความเพียร มีความอดทน ความรอบคอบ และความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต กระผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด ร่วมกันคิดดี ทำดีเพื่อสังคมพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และกระผมจะนำเสนอเกี่ยวกับ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ” ต่อเนื่องอีก ในตอนต่อไปครับ