ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] แม่ลานี โสดาพรมปราชญ์ไหมทอมือหนองวัวซอ สืบสานภูมิปัญญาไทยตามคำสอนพอเพียงของพ่อหลวง(1) “….ชาติไทยเรานั้นได้มีเอกราช มีภาษา ศิลปะ และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง มาช้านานหลายศตวรรษแล้ว ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษของเราได้เสียสละอุทิศชีวิต กำลังทั้งกายและใจ สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เพื่อพวกเรา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คงทนถาวร เป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลังต่อไป ข้าพเจ้าเห็นว่าโบราณวัตถุและศิลปวัตถุทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ชี้ให้เห็นอดีตอันรุ่งโรจน์ของชาติไทยเรา เป็นประโยชน์แก่การศึกษาทั้งในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และวัฒนธรรม จึงควรที่ทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันทะนุถนอมบำรุงรักษาอย่าให้สูญสลายไป...” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัยวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ 9 มิถุนายน 2489 ตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นับเป็นเวลา 70 ปีเสด็จพระราชดำเดินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่พื้นที่ภาคกลาง เสด็จฯไปยังภาคอีสาน ภาคเหนือ แล้วก็ภาคใต้ และเสด็จฯไปครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างมีทรงรู้สึกเบื่อหรือทรงเหน็ดเหนื่อย การเสด็จฯไปในทุกหนแห่งมิใช่แค่เกิดความขวัญกำลังใจ สิริมลคลแก่ปวงพสกนิกร หากแต่ทรงมุ่งเพื่อทอดพระเนตรปัญหาทุกข์สุขของราษฎรทุกหมู่เหล่าในการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ ที่ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ประกอบอาชีพได้อย่างปรกติหรือไม่เฉพาะอย่างยิ่งอาชีพคือการเกษตรกรรม น้ำ ดิน อุดมสมบูรณ์ก่อผลผลิตพอมีอยู่มีกินอย่างปรกติแบบพอเพียงหรือไม่ยังไง แล้วทรงนำไปศึกษาคิดค้นหนทางขจัดทุกข์ ทรงทุ่มเทพระองค์เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ราษฎรของพระองค์มาตลอดตราบพระชนมชีพ วันนี้คนไทยทั้งประเทศรวมทุกภูมิภาคประชาชนคนไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการทรงคลายความทุกข์อันเกิดจากอดอยากขาดแคลนที่เกิดจากการประกอบอาชีพให้บรรเทาเบาบางลงไป ส่วนใหญ่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีความเป็นอยู่พอมีพอกินด้วยวิถีแห่งความพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ด้วยเพราะพระราชทานปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตคือแหล่งน้ำ การพัฒนาดิน พัฒนาทรัพยากรป่าไม้อันเป็นภาพรวมของแนวทางการประกอบอาชีพ ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานไว้ถึง 5,000 กว่าโครงการ เฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสานที่ถูกเรียกขานว่าที่ราบสูงพื้นที่แห้งแล้งกันดาร ลักษณะภูมิประเทศขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำ ดินไม่มีคุณภาพขาดความชุ่มชื้น ป่าไม้ถูกทำลาย หน้าฝนน้ำหลากมาบ่าท่วมสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทรัพย์สินสิ่งของกระทั่งชีวิต หน้าแล้งไม่มีน้ำเก็บไว้ใช้ประโยชน์ ด้วยพระเมตตาพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแหล่งน้ำ การฟื้นฟูป่า การพัฒนาดินปัจจัยหลักสำคัญในการประกอบอาชีพ ในเวลาเดียวกันสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถที่โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยทุกครั้งได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการพระราชทานส่งเสริมด้านอาชีพเสริม เมื่อทรงประจักษ์ว่าประชาชนในท้องถิ่นมีความสามารถพิเศษคือมีฝีมือด้านการถักทอที่ได้รับการถ่ายทอดสืบสานมาจากบรรพชน อย่างเช่นทอผ้าซึ่งทอเพื่อใช้ในครัวเรือน นอกจากมีฝีมือดีแล้วยังเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนท้องถิ่น เพราะในกระบวนการถักทอนั้นมีการประดิษฐ์ประดอยลวดลายที่สื่อสารถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่นนั้นๆอย่างชัดเจน ผลผลิตเครื่องใช้สอยภายในบ้านที่ทำกันเองจึงเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของความเป็นชุมชนเป็นวิถีไทยที่งดงามไปโดยไม่รู้ตัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงเห็นว่าผลผลิตอันเป็นฝีมือถักทอของราษฎรมิใช่แค่อนุรักษ์สืบสานแต่ยังสามารถนำฝีมือนี้สร้างรายได้เสริมสร้างเศรษฐกิจที่ดีงามให้ครอบครัวให้ชุมชนได้ เผยแพร่เอกลักษณ์ผ่านลวดลายผ้าทอมือ เผยแพร่ผลผลิตอันเป็นสินค้าไทยที่ทรงคุณค่ามีคุณภาพได้ด้วย นำมาซึ่งความปลื้มปีติสิริมงคลและความอยู่ดีกินดีสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น หลุดพ้นจากความอดอยากขาดแคลนด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง พื้นที่จังหวัดภาคอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2498 ในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานทั้งหมดเสด็จฯจังหวัดอุดรธานีครั้งแรก ในช่วงวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2498 เสด็จฯประทับแรมที่พระตำหนักหนองประจักษ์ เพื่อเยี่ยมพสกนิกรพื้นที่อุดรธานี หนองวัวซอเป็นหนึ่งในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีภาคอีสานที่ได้รับความเป็นสิริมงคลได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียน ได้ฟังชื่อท้องถิ่นแล้วรู้สึกว่าไกลกันดารเอาการทีเดียว เป็นส่วนหนึ่งของท้องที่ในภาคอีสานพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลพอสมควรทีเดียว ทำให้ได้รับการประกาศตั้งให้เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างตัวจังหวัดพอสมควรเห็นจะราวๆ 40 กม. ไม่ใช่แค่ไกลแต่ยังแห้งแล้งกันดารขาดแคลนเอาการ แต่ธรรมชาติไม่ได้โหดร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างนั้นหนองวัวซออาจจะแห้งแล้งกันดารจริงแต่ไม่ได้อดอยากขาดแคลนไปทุกหย่อมหญ้า ที่แห้งแล้งก็มีให้เห็น ที่มีแหล่งน้ำพอให้เห็นความชุ่มชื้นร่มรื่นสมบูรณ์ก็พบเจออยู่ ไม่ต่างไปจากท้องถิ่นอื่นที่มีอะไรคล้ายๆเช่นนี้แหละผสมปนเปกันไป(อ่านต่อ)