ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] แม่ลานี โสดาพรมปราชญ์ไหมทอมือหนองวัวซอ สืบสานภูมิปัญญาไทยตามคำสอนพอเพียงของพ่อหลวง(2) ที่เป็นสิริมงคลขวัญกำลังใจจนทำให้พี่น้องชาวอีสานยืนหยัดสู้ชีวิตไม่ย่นย่อต่อสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง หรือในช่วงฤดูฝนฝนเยอะเกิดภาวะน้ำท่วมก็ไม่ยอมแพ้ ด้วยเพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนพี่น้องไทยในภาคอีสานของเราหลายครั้งหลายหน สำคัญเหนืออื่นใดเสด็จฯไปเพื่อที่จะทรงแก้ปัญหาความทุกข์ความเดือดร้อนอันเกิดจากธรรมชาติที่ว่ากันว่าโหดร้ายนักแก่พี่น้องชาวอีสานพื้น เพราะว่าพี่น้องไทยในภาคอีสานเป็นคนสู้เป็นคนขยันหมั่นเพียรไม่ดูดาย ไม่งอมืองอตีน ยิ่งเมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำริหลักการดำเนินชีวิตด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พระราชทานปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตคือพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาดินพัฒนาป่าผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่หลายจุดในจังหวัด ก็เป็นแหล่งให้ชาวอีสานของเราเข้าไปศึกษาค้นความเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่วันนี้ ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าในอดีตมากมายนัก อย่างที่บอกธรรมชาติไม่ได้โหดร้ายทั้งหมดทั้งภูมิภาค พื้นถิ่นภาคอีสานของเราก็มีสิ่งดีงามมากมาย เฉพาะอย่างยิ่งความดีงามที่เป็นภูมิปัญญาที่บรรพชนชาวอีสานสร้างสรรค์แล้วก็สืบสานจนเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบันและได้รับสืบทอดต่อไปในอนาคตอีกยาวไกล นั่นคือภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าแห่งความเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเครื่องหมายควรมเจริญรุ่งเรืองในอดีตนั่นคือ “การทอผ้าด้วยมือ”ที่นับเป็นวิถีชีวิตที่แฝงเร้นศิลปวิทยาการอยู่ในตัวผู้สร้างสรรค์ถักทอ และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลด้วยพระอัจฉริยภาพด้วยพระเมตตาอันยิ่งใหญ่แก่พสกนิกรของสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงทราบด้วยพระปรีชาสามารถว่านี่คือทางหนึ่งที่จะทำให้ชาวบ้านพัฒนารายได้เสริมให้ตัวเองได้ด้วยฝีมือตัวเองที่ได้สืบสานมาจากภูมิปัญญาของบรรพชน ทรงส่งเสริมผ้าทอมือโดยเฉพาะทอผ้าไหมขิดจนวันนี้เป็นอาชีพเสริมไปจนถึงอาชีพหลักของกลุ่มแม่บ้านชาวอีสานไปแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งทอผ้าไหมด้วยมือ ด้วยเพราะเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่คิดค้นสร้างเครื่องมือเรียกว่าเครื่องทอแล้วใช้ความสามารถสร้างเส้นไหมสอดใส่เครื่องทอสร้างสีสันหลากหลายด้วยสีธรรมชาติเป็นรูปเคารพอย่างศาสนสถาน พระพุทธรูป ดอกไม้ ใบไม้ สัตว์ต่างๆกระทั่งการดำรงชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นการบอกเรื่องราวยุคสมัยที่ใครจะคาดคิดถึงว่านั่นคือภูมิปัญญาที่บรรพชนสร้างไว้ให้ลูกหลานวันนี้และในอนาคตอย่างไม่รู้จบสิ้น เป็นคุณค่าดังพระบรมราโชวาทที่เชิญมาข้างต้น ผมไปยังพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ ไปที่บ้านศรีชมชื่น ตำบลหนองอ้อกับคุณสุนันทา พลโภชน หัวหน้ากลุ่มประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา.และครูเบญจวรรณ บุ้งทอง ครูชำนาญการพิเศษสาขาเทคโนโลยีออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ไปเยือนกลุ่มแม่บ้านหสืบสานภูมิปัญญาทอผ้าไหมด้วยมือ ผู้สืบสานฝึกฝนเรียนรู้จนเชี่ยวชาญด้วยเพราะเป็นลูกหลานที่สืบทอดมรดกปู่ย่าตายายพ่อแม่จนเป็นผู้เชี่ยวชาญรอบรู้กระทั่งได้รับการยกย่องยอมรับว่าเป็นปราชญ์ของชาวบ้านด้านทอผ้าไหมด้วยมือวันนี้ แม่ลานี โสดาพรม ผู้นำกลุ่มรออยู่ที่บ้าน รวมถึงบรรดาแม่บ้านอีกจำนวนหนึ่งในชุมชนบ้านศรีชมชื่นก็พร้อมหน้าพร้อมกันที่ตัวบ้านแม่ลานีซึ่งเป็นทั้งบ้าน ที่ตั้งเครื่องทออยู่สามหลัง นึกว่ามารอให้ความรู้ให้ข้อมูลคณะของผมที่ไปเยือน ทุกคนกำลังเตรียมเดินทางเข้ากทม.รวมถึงแม่ลานีด้วย ที่หมายพระบรมมหาราชวังเพื่อไปถวายอาลัยพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต พอได้ข่าวทางทีวี.เท่านั้นแหละเราหมดแรงเลยน้ำตาไม่รู้มายังไงไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว...คิดถึงพระองค์ท่าน รักท่านมาก พระองค์เป็นยิ่งกว่าพ่อแม่เลยหละที่เรารู้สึกนะ...”แม่ลานีบอกว่ากำลังจะเดินทางหเมื่อเราไปถึง กลุ่มทอผ้าไหมและอีกบางคนที่ล้วนอายุเกินหกสิบแล้วนั้น พูดแทรกเข้ามาเหมือนรำพึงว่าเศร้ามากเลย หดหู่ ใจหาย บอกว่าอยากให้พระองค์ท่านอยู่กับเรานานๆต่อไปเป็นมิ่งขวัญลูกหลาน “แต่พระองค์ท่านก็จากเราไปแล้ว”แม่คนหนึ่งพูดพร้อมยกมือปาดตา ดูท่าเวลาที่จะฟังแม่ลานีเล่าถึงอาชีพทอผ้าไหมและหการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาทอผ้าไหมคงไม่มากนักเพราะรถตู้มารอแล้ว แม่ลานีต้องนำกลุ่มแม่บ้านเดินทางไปกทม.เพื่อกราบถวายสักบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ก็ต้องว่ากันไปเท่าที่แม่ลานีและคณะมีเวลาแล้วกัน แม่ลานีบอกว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดอุดรธานีและเสด็จฯบ้านหนองอ้อราวปี2524-25 ก็เอาหมอนขิดไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ในเวลานั้น ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระรองราชเลขานุการในพระองค์เวลานั้นเป็นผู้แทนของพระองค์มาบอกว่า ทอดพระเนตรแล้วก็ตรัสว่าให้ทอเป็นผ้าได้มั้ย ก็ทำถวายมาตั้งแต่นั้น แม่ลานีบอกด้วยว่าในช่วงเวลานั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯเสด็จฯไปกราบหลวงปู่ขาววัดถ้ำกองเพล ตำบลหนองอ้อ ท่านผู้หญิงก็ให้ตามไปเฝ้าฯที่วัด(วัดถ้ำกองเพลปัจจุบันไปขึ้นอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำพูแยกไปจากจ.อุดรธานี) “ก็ได้ไปเฝ้าฯที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ นำผ้าไปทูลเกล้าฯถวาย เมื่อทรงรับผ้าไปแล้วก็พระราชทานเงินให้พร้อมเส้นไหม แล้วพระราชทานการบ้านกลับมาด้วยคือทรงให้ทำผ้าขิดผ้าลายต่างๆ ผ้าที่ทอไปถวายเมื่อทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระราชหฤทัยผืนไหนก็จะทรงหยิบผ้าแล้วทรงให้ตามไปแล้วก็มีพระราชปฏิสัณฐานด้วยตรัสถามสารทุกข์ต่างๆแล้วก็ทรงลงประวัติแต่ละคนไว้เพื่อที่จะทรงให้ทำผ้าส่งศูนย์ศิลปาชีพประจำ”แม่ลานีกล่าวจบแล้วบอกว่าต้องไปแล้ว