ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] แม่ลานี โสดาพรมปราชญ์ไหมทอมือหนองวัวซอ สืบสานภูมิปัญญาไทยตามคำสอนพอเพียงของพ่อหลวง(จบ) แต่ก่อนนำคณะกลุ่มแม่บ้านเดินทางแม่ลานี โสดาพรมผู้นำกลุ่มทอผ้าไหมขิดสรุปปิดท้ายถึงการได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถที่ทรงรับซื้อผ้าไหมขิดของชาวบ้านว่าทรงให้ราคาสูงแม้จะทรงตีราคาผ้าตามเนื้องาน 800 บ้าง 600 บ้างแต่ถ้าเป็นลายโบราณอาจพระราชทานถึงเมตรละ 1,000 บาท คุยกับแม่ลานีชั่วครูนายอำเภอหนองวัวซอนายวิมล สุระเสนมาถึงเข้าใจว่าทางราชการคงอำนวยความสะดวกในการเดินทางของกลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมขิดไปถวายบังคมพระบรมศพ เมื่อแม่ลานีต้องไปก็เลยหันมาคุยกับนายอำเภอที่บอกว่าเพิ่งย้ายมาไม่กี่เดือน แต่ก็เป็นลูกบ้านนี้บอกกำลังวางแผนว่าจะส่งเสริมกลุ่มอาชีพต่างๆในอำเภอ โดยมองกลุ่มทอผ้าไหมขิดบ้านศรีชมชื่นก่อนเป็นหลักเพราะมีความเข้มแข็งเพื่อจะได้เป็นต้นแบบเป็นฐานกลุ่มอื่นๆได้ “กลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมขิดเข้มแข็งทุกด้าน ตั้งแต่การดำรงตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็เป็นต้นแบบเป็นกำลังที่จะหลอมเยาวชนรุ่นลูกหลานได้ แล้วเป็นต้นแบบการพัฒนาอาชีพลายผ้าหัวใจคือลายผ้าโบราณที่ต้องอนุรักษ์ไว้ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเพื่อสืบสานแล้วก็ยึดเป็นอาชีพได้ด้วย แล้วก็พัฒนาลายผ้าตามยุคสมัยเพื่อให้สอดรับความต้องการตลาด การแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการอย่างเช่นเอาผ้าไปแปรรูปเป็นรองเท้าเป็นต้นตลาดต้องการพอสมควรทีเดียว ที่สำคัญการส่งเสริมในแง่การตลาดเพราะด้านการทอพวกแม่ๆเก่งอยู่แล้วแต่การตลาดไม่เก่งก็เอาแผนการตลาดมาส่งเสริมเพื่อให้ยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวเอง” นายอำเภอหนองวัวซอบอกด้วยว่าจะต้องส่งเสริมพัฒนาเครื่องทอผ้าให้ทันสมัยขึ้นได้มั้ยเพื่อสอดรับกับตลาดที่อาจต้องการเพิ่มขึ้น โดยนำเอากลไกการตลาดจากบริษัทประชารัฐเข้ามาร่วมกับกลุ่มทอผ้าไหมขิดบ้านศรีชมชื่นเป็นกลุ่มแรก ในฐานะฝ่ายปกครองนายวิมลย้ำว่าการก้าวย่างทุกก้าวย่างทุกภาคส่วนจะร่วมกันโดยน้อมนำเอาหลักการดำเนินชีวิตปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน ซึ่งบรรดาประชาชนกลุ่มแม่บ้านท่านก็เดินตามพ่อหลวงอยู่แล้ว ส่วนราชการปกครองจะเข้ามาส่งเสริมเน้นย้ำเพื่อไม่ให้เกิดความประมาท เฉพาะอย่างยิ่งเน้นให้รู้จักการออมการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมให้รักษาทรัพยากรธรรมชาติตามพื้นฐานที่ชาวบ้านเขามีเขาทำกันอยู่เป็นปรกติอยู่แล้ว ในส่วนทางธุรกิจก็เอาบริษัทประชารัฐมาเชื่อมอย่างที่บอก “ทุกกระบวนการต้องใช้ฐานการศึกษาเป็นพื้นฐานคือต้องเรียนรู้ประสบการณ์ไปด้วย ราชการก็ไม่ใช่คอยให้อย่างเดียวแต่ให้คำแนะนำปรึกษาเป็นพี่เลี้ยง ฝ่ายปกครองจะต้องประสานท้องถิ่นมีบทบาทที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญเพราะอยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน โดยเฉพาะการปูพื้นคนรุ่นใหม่คือเยาวชนที่จะเข้ามาสืบสาน เด็กรุ่นใหม่ก็ควรจะได้สัมผัสอาชีพของพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ยังเข้มแข็ง พอสร้างเป็นฐานอาชีพได้เพื่อเป็นการเรียนรู้เตรียมพร้อม เพราะมีความใกล้ชิดคุ้นเคยอยู่แล้ว ก็สามารถซึมซับได้เลย เป็นการซึมซับการเรียนรู้วิถีชีวิตควบคู่ไปกับการเรียนปรกติไปด้วย” นายอำเภอบอกด้วยว่าอย่างลูกหลานครอบครัวทอผ้าไหมขิดก็หากุศโลบายให้เด็กๆได้ซึมซับรับรู้เรื่องลายผ้า กระบวนการทอ ทางฝ่ายราชการปกครองมีแนวคิดที่จะเอาคอมพิวเตอร์มาถ่ายทอดลายผ้า ตรงนี้น่าสนใจว่าจะประสานกับสถานศึกษาในจังหวัดอย่างวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพื่อดึงนักศึกษาอาชีวะที่เรียนสายนี้เข้ามาช่วยดึงนักเรียนรุ่นน้องๆในโรงเรียนชุมชนได้อาชีวะเองก็จะได้ซึมซับความเป็นให้ด้วยจิตอาสาเสียสละ แบ่งปันและเพิ่มทักษะความชำนาญในวิชาชีพรุ่นน้องในโรงเรียนก็จะพลอยได้ซึมซับทุกอย่างไปด้วย เพราะรุ่นไล่เลี่ยกันก็จะสร้างความกลมกลืนให้ชื่นชอบไปได้ “ในมุมองฝ่ายปกครองอยากดึงเด็กๆมาสัมผัสชีวิตจริงๆที่ผู้ปกครองเขารับผิดชอบอยู่อย่างอาชีพทอผ้ารักษาลายผ้า พัฒนาลายผ้าเป็นอาชีพ ให้เด็กๆได้มาสัมผัสจริงๆบ้าง ผ่านปราชญ์ชาวบ้าน ผ่านรุ่นพี่จากอาชีวะเป็นต้น” นายอำเภอหนองวัวซอบอกอีกว่าการศึกษาต้องไปคู่กันกับการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตผ่านนโยบายรัฐบาลลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้แต่ต้องฟังสถานศึกษาด้วยว่าคิดยังไง “ตอนนี้กำลังเร่งทำคือทะเบียนปราชญ์ชาวบ้านเฉพาะด้านแล้วจะนำคุยกับสถานศึกษาว่าจะใช้ประโยชน์จากปราชญ์ชาวบ้านยังไงบ้าง และเพื่อจะได้ให้ปราชญ์ได้มีส่วนสำคัญกับชุมชนยังไง เพราะเท่าที่เห็นปราชญ์ชาวบ้านเป็นต้นแบบการน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว อย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงฯ ปราชญ์มีความเข้มแข็งด้านคุณธรรมจริยธรรมเป็นที่พึ่งของชุมชน เป็นศูนย์รวมใจชุมชนอยู่แล้ว ผมมีความเชื่อว่าปราช์ชาวบ้านน่าจะเป็นต้นแบบผู้สืบสานการเดินตามรอยพระยุคลบาท เป็นกำลังขยายผลแนวพระราชดำริ ให้ชาวชุมชนเดินตามเพื่อเป็นการถวายความอาลัยทำดีเพื่อพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย เป็นการร่วมกันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสร้างประโยชน์สุขให้พวกเราคนไทยทุกคน เห็นว่าปราชญ์เองจะสานประโยชน์นี้กับชุมชนได้อยู่แล้วก็ให้เป็นขวัญกำลังใจของชุมชนแล้วต่อเชื่อมไปยังสถานศึกษาด้วย”นายวิมล สุระเสนนายอำเภอหนองวัวซอทิ้งท้าย