ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] คุณภาพชีวิตชาวหนองปรืออยู่ดี-มีสุข ผลจากโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(1) “...ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆ ใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับใช้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ เป็นสวนหรือจะเป็นสวนมากกว่าป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตามหรือเป็นสวนไม้ฟืนก็ตาม นั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ ประชาชนได้...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานเมื่อ พ.ศ. 2523 โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมพลอดุลยเดช อยู่ในพื้นที่ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ทุกภาคส่วนได้สนองพระมหากรุณาธิคุณ รวมพลังทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณดำเนินการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติเริ่มจากการฟื้นฟูพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ พัฒนาดินตามแนวพระราชดำริให้ราษฎรในพื้นที่มีส่วนสำคัญในการร่วมเป็นพลังด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจและสำนึกรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ ที่ก่อผลกลับไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวราษฎรในพื้นที่เองที่ทำให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ทรัพยากรธรรมชาติตามแนวพระราชดำริคือป่าไม้สมบูรณ์ แหล่งน้ำสมบูรณ์ ดินอุดมสมบูรณ์จะเกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตของสรรพชีวิตที่จะพึ่งพาอาศัยกันและกัน ประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองปรือวันนี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อนที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้วยความยากลำบาก ทำให้อยู่กันอย่างลุ่มๆดอนๆเพราะได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเดินตามรอยพระยุคลบาท สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกันที่สุดทรัพยากรธรรมชาติตอบสนองเกื้อกูลให้มีงานมีอาชีพมีรายได้ไม่ขาดแคลนอีกต่อไป วันนี้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียงที่ได้รับผลองค์ความรู้ ณ โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าวมีโอกาสนำเอาความรู้ประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในพื้นที่ตัวเองจนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีความสุขอย่างยั่งยืนโดยวิถีแห่งความพออยู่พอกินตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง อันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานโครงการดังกล่าว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริห้วยองคตเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยทรงวางรากฐานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ณ พื้นที่ดังกล่าวทำให้ประชาชนคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาตนเอง ชุมชน ประเทศชาติต่อไป โครงการห้วยองคตฯ เป็นเพียงหนึ่งในโครงการจากหลายพันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สะท้อนภาพผลสำเร็จแห่งแนวพระราชดำริในการทรงมุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนแล้ว เมื่อปี 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำริกับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอธิบดีกรมชลประทานในเวลานั้น พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ว่า ได้ทรงทราบว่า พระเทพญาณรังษี (พระอาจารย์จันทร์ คเวสโก) ได้ไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่ตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี (ปัจจุบันคือพื้นที่ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี) ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรเป็นอย่างดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประสานและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ร่วมกับกรมชลประทาน พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำต่างๆ ของห้วยตะเพิน ในเขตอำเภอบ่อพลอย และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรในเขตโครงการ ทำให้มีน้ำทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค ได้ตลอดปี และสมควรปลูกป่าตามบริเวณขอบอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ทำการก่อสร้างด้วย ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการจัดหาที่ดินจำนวนหนึ่งนำมาใช้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พระราชทานชื่อว่า โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมทั้งจากมูลนิธิชัยพัฒนา ในการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการทรงให้ยึดหลัก “บวร” คือการทำงานร่วมกัน ของ บ้าน วัด และโรงเรียนหรือหน่วยราชการต่างๆ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินอยู่ร่วม กับธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนกัน ดูแลรักษากัน โครงการห้วยองคตฯมีพื้นที่ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2 บ้านเขาหินตั้ง หมู่ที่ 3 บ้านห้วยแม่ระวัง หมู่ที่ 4 บ้านม่วงเฒ่า และหมู่ที่ 5 บ้านบารมี รวมพื้นที่โครงการทั้งหมดประมาณ 20,625 ไร่ นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ อดีตเลขาธิการกปร.เคยกล่าวว่า โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 พระราชทานแนวพระราชดำริให้กปร.เข้ามาช่วยเกื้อกูลราษฏรพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยทรงเน้นว่าทำอย่างไรให้ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ จากสภาพเดิมที่ราษฏรนั้นบุกรุกพื้นที่ป่าตัดไม้ทำลายป่า อยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ ต่างคนต่างถือครองที่ดิน ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรม ขาดความชุ่มชื้นเกิดความแห้งแล้ง โครงการฯได้เข้ามาจัดระบบให้ประชาชนอยูในพื้นที่ที่เหมาะสม ตรงไหนควรป็นพื้นที่ทำกิน พื้นที่เกษตร ตรงไหนเป็นป่าก็ต้องรักษาไว้ ในขณะเดียวกัน ก็ทำการสร้างอ่างเก็บน้ำถึง 4 แห่ง ที่สามารถส่งน้ำไปในพื้นที่ได้ โดยจัดพื้นที่ให้ชาวบ้านทำกินครอบครัวละ 8 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ส่งเสริมพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าพื้นที่ดูน้อยก็จริงแต่สามารถมีรายได้ มีผลผลิตมากขึ้นเพราะมีความพร้อม มีน้ำ มีความรู้ ต่างๆ ในพื้นที่ 8 ไร่ ชาวบ้านก็จะประกอบอาชีพต่างกัน ทั้งการเลี้ยงเป็ดไก่ การปลูกพืชผสมผสานต่างๆ ทำให้มีรายได้มากขึ้น ผ่านมากว่า 20 ปี ทำให้ประชาชนพอใจ ในความเป็นอยู่แบบพอเพียง เลี้ยงตัวเองได้ “ในระยะแรกๆของการทำโครงการฯ ชาวบ้านยังไม่มีความเข้าใจในการเข้ามาทำร่วมกับโครงการฯ กลัวว่าพื้นที่ทำกินจะน้อยลงจะไม่พอกิน เกิดการต่อต้าน เกิดการโต้แย้งกัน ต้องมีการชี้แจ้งว่าถ้าทุกคนต้องการพื้นที่ป่าจะทำให้ป่านั้นหมดไป เพราะฉะนั้นเราต้องกั้นให้ป่ายังคงมีอยู่มากที่สุดและทำการแบ่งพื้นที่ทำกิน ให้ประชาชนเชื่อว่าพื้นที่ 8ไร่นั้นเพียงพอต่อการประกอบอาชีพ เพราะทางโครงการฯมีน้ำทำให้สามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี เป็นความสำเร็จหนึ่งที่เกิดจากการสร้างความเข้าใจและให้โอกาสแก่พี่น้องประชาชน”นายสุวัฒน์ กล่าว อดีตเลขาธิการ กปร. กล่าวอีกว่า โครงการห้วยองคตฯมีศูนย์ประสานงานของโครงการ โดยมีนายวุฒิกร สุขีนัย นายอำเภอหนองปรือ(ในเวลานั้น) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีหน่วยงานต่างๆ มาช่วยกันทำงานทั้งพัฒนาที่ดินดูเรื่องดิน ส่งเสริมเกษตรดูเรื่องเกษตร มีวิชาการเกษตรให้ความรู้ทางด้านวิชาการ มีปศุสัตว์ ประมง และยังมีมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้ามาสนับสนุน โดยใช้องค์ความรู้เข้ามาส่งเสริมในเรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลาทับทิม การเลี้ยงเพะ โครงการฯต้องการหาอาชีพให้หลากหลายเพื่อให้โอกาสกับชาวบ้านมากขึ้น จากการที่โครงการฯมีอ่างเก็บน้ำทำให้สามารถส่งน้ำให้กับเกษตรกรได้ตลอดทั้งปี สามารถปลูกพืชผัก ไม้ผลต่างๆ ณ วันนี้ ทุกคนมีพื้นที่ทำกินที่มั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่มั่นคง มีรายได้ที่พอเพียงเลี้ยงตัวเองได้ แล้วยังสามารถส่งให้ลูกเรียนในระดับที่สูงขึ้น เป็นอนาคตที่มั่นคงให้ลูกหลานต่อไป(อ่านต่อ)