“พระบารมีปกเกล้าฯ” เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (๒) ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาวิชามาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง และได้กราบบังคมทูลพระกรุณาของพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย บทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำบทความดังกล่าวไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของ สศช. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป สำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละออง ธุลีพระบาทแล้ว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ขอพระมหากรุณา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ให้ สศช. นำไปเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ดังนี้ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี สศช. ได้อัญเชิญปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาเป็นปรัชญานำทางในการพพัฒนาและบริหารประเทศในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๔๙) เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นการเผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯสู่สาธารณชน ทั้งนี้ หากพิจารณานิยามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯจะพบว่า การพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯนั้น คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ตลอดจนใช้หลักวิชาความรู้ มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยความเพียร อย่างรอบคอบ ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและในการกระทำ ทำงานอย่างมีความสุข รู้ รัก สามัคคี ก็จะนำไปสู่ความก้าวหน้า อย่างสมดุล มั่นคง ยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี ตามแนวพระราชดำริ หลักการพึ่งตนเอง ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของหลักการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยทุกระดับให้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและเป็นวิถีปฏิบัตินำสู่ความสมดุล เพื่อผลแห่งความสุขอย่างยั่งยืน โดยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯนั้นมีความหมายที่กว้างกว่าพึ่งตนเอง หรือที่เรียกว่า Self-Sufficiency คือ ผลิตอะไรให้พอมีพอใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อจากผู้อื่น แต่พอเพียงนี้ให้มีความหมายรวมถึง ความพอเพียงทางความคิดและการกระทำ ที่มีความโลภน้อยและไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยดังพระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ความตอนหนึ่งว่า “...เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วยว่า จะแปลเป็น Self-Sufficiency. (พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่า พอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางกว่า Self-Sufficiency คือ Self-Sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)... บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล. ใครจะมายืนบนขา. คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเอง ยืนบนขาตัวเอง ก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง. อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย. แต่ว่า เป็นตามที่เขาเรียกว่า ยืนบนขาของตัวเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง). หมายความว่าสองขาของเรานี่ ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน. แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่า พอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง. คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด “อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ” มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ภาษาอังกฤษแทนคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ว่า Sufficiency Economy และคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” นี้ มีความหมายที่ครอบคลุมความพอเพียงที่มากกว่าการพออยู่พอกินสำหรับตนเอง แต่ครอบคลุมไปจนถึงระดับองค์กร ชุมชนและประเทศด้วย โดยแบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานและเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ดังนี้ เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน คือ ความพอเพียงในระดับบุคคลและระดับครอบครัว โดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ซึ่งเทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑ คือ มุ่งแก้ไขปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกล แหล่งน้ำหรือมีความเสี่ยงจากการที่แหล่งน้ำไม่พอ จึงเน้นเพาะปลูกหรือบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรพออยู่พอกิน หรือเพื่อสนองความต้องการอุปโภค บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่หากมีเหลือจากการบริโภคก็สามารถนำไปขาย เพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า คือ ความพอเพียงในระดับชุมชน / องค์กร และความพอเพียงในระดับประเทศ ซึ่งเทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๒ และ ๓ ดังนี้ ความพอเพียงในระดับชุมชน / องค์กร ตรงกับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๒ เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการทำธุรกิจต่างๆ ใ นลักษณะเครือข่ายรัฐวิสาหกิจ กล่าวคือ เมื่อสมาชิกแต่ละครอบครัวหรือองค์กรมีความพอเพียงขั้นพื้นฐานในเบื้องต้นแล้ว ก็จะรวมกลุ่มกัน เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวม บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน มีการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามกำลังและความสามารถของแต่ละบุคคล ทำให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจมีความพอเพียงในวิถีปฎิบัติได้อย่างแท้จริง ความพอเพียงในระดับประเทศ ตรงกับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๓ เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคารและสถาบันต่างๆ เป็นต้น โดยการสร้างเครือข่ายในลักษณะนี้เป็นประโยชน์ต่อการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือเกิดการร่วมกันพัฒนาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่ ที่ประกอบด้วย ชุมชน องค์กรและธุรกิจต่างๆ ดำเนินชีวิตได้อย่างพอเพียง เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลักคุณธรรม คือ ไม่เบียดเบียนกัน แต่มีการแบ่งปันและช่วยเหลือกันและกันได้ในที่สุด ปัจจุบัน การพัฒนาตามแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการยอมรับจากทั้งภายในประเทศและในระดับสากล ดังเช่นที่ องค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยนายโคฟี อานัน เลขาธิการฯ ในขณะนั้น ได้กล่าวสดุดีไว้ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ว่า “...หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ มีความหมายอย่างยิ่งต่อชุมชนทุกแห่งในยุคโลกาภิวัตน์ที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรัชญาดังกล่าวซึ่งเน้นแนวทาง “การเดินทางสายกลาง” มีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาคนของสหประชาชาติที่เน้นการให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและการใช้กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน พระราชปณิธานในการพัฒนาประเทศของพระองค์และพระราชดำริที่แสดงถึงพระวิสัยทัศน์อันชาญฉลาด ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่พสกนิกรของพระองค์และประชาชนทั่วทุกแห่ง...” กระผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด ร่วมกันคิดดี ทำดีเพื่อสังคม พัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างสมดุล มั่นคง ยั่งยืน ครับ