ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา อ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เสกสรร สิทธาคม [email protected] ปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุดในการพัฒนาพื้นที่บริเวณโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริคือ “น้ำ” เนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ดินขาดความชุ่มชื้นเพราะมีการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งดูดซับน้ำ ทำให้ดินเสื่อมโทรมและขาดแร่ธาตุ ดินจืด หนึ่งในแหล่งน้ำสำคัญตามแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูพัฒนาคือ “ห้วยเจ๊ก”หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ นายอนุวัชร โพธินาม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯได้รับการก่อตั้งจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ที่นั้น ราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดินบริเวณหมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จำนวน 264 ไร่เพื่อต้องการให้ทรงสร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปที่ไหนก็พยายามที่จะทรงพัฒนาทำให้ที่ดินเจริญขึ้น เนื่องจากผืนดินเสื่อมโทรมไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังพระราชดำรัส ที่ได้พระราชทานไว้ “... ประวัติมีว่า ตอนแรกมีที่ดิน 264 ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้เพื่อสร้างตำหนักในปี 2522 ที่เชิงเขาหินซ้อนใกล้วัดเขาหินซ้อน ตอนแรกก็ต้องค้นคว้าว่าที่ตรงนั้นคือตรงไหน ก็พยายามสืบถาม~ก็ได้พบบนแผนที่พอดีอยู่มุมบนของระวางของแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ 4 ระวาง สำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้น อยู่ตรงไหน ก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดีก็เลยเริ่ม ทำในที่นั้น ...” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯให้ข้อมูลอีกว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างพังทลายของดินสูง ดินรองรับน้ำได้เพียง 30 มิลลิเมตร มีการปลูกพืชชนิดเดียว (มันสำปะหลัง) ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ผลผลิตพืชที่ได้รับต่ำ ดังพระราชดำรัส ที่พระราชทานว่า “…ปัญหาที่ 1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา : 2522 …มีการตัดป่า แล้วปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ซึ่งทำให้ดินจืดและกลายเป็นดินทราย มีแร่ธาตุน้อย ในฤดูแล้งจะมีการชะล้างเนื่องจากลมพัด (wind erosion) ในฤดูฝนจะมี การชะล้างเนื่องจากน้ำเซาะ (water erosion)…” และ “…ตอนศึกษาดูพื้นที่นั้น พัฒนายากมากเพราะว่ามีแต่หิน แล้วก็เขาปลูกมันสำปะหลัง ก็เลยนึก ว่าอาจจะสาธิตการปลูกมันสำปะหลัง มันสำปะหลังนั้นแม้จะไม่มีน้ำ ก็ยังพอปลูกได้โดยง่าย แต่ที่นี่เขาปลูกมันสำปะหลังไม่ขึ้น หมายความว่าอะไร ปุ๋ยไม่มี น้ำไม่มี มีแต่ทราย ก็เลยว่าจะต้องพัฒนาที่นี่ให้เป็นที่ที่สามารถปลูกแม้แต่มันสำปะหลังอย่างนี้-การปลูกมันสำปะหลังก็ต้องรู้การสร้างดิน ไม่ใช่ทราย มีแต่ทราย แล้วก็สร้างน้ำ เพื่อที่จะให้มีความชุ่มชื้นหน่อย มันสำปะหลังนี้เขาเข้มแข็งมาก ไม่ต้องน้ำเท่าไร แต่ที่นั่นมันไม่ขึ้น ก็ถามกำนันคนที่ให้ที่ เขายอมรับว่าเขาให้เพราะเขาทำไม่ได้ เพราะเขาปลูกมันสำปะหลังไม่ได้ มหัศจรรย์ แต่เขาก็ยินดีถวาย แล้วก็ 264 ไร่ ก็เห็นว่า น้อยเกินไป ก็เลยบอกว่าที่ตรงนั้นขอซื้อเพิ่มเติมหน่อยได้ไหม เขาก็ขาย ขายตรงนั้น เขาเตรียมสำหรับปลูกมันสำปะหลังแล้ว แต่ว่าเขาไม่ได้ปลูก...” ข้อมูลบันทึกไว้ด้วยว่าเมื่อทำการสำรวจสภาพปัญหาของพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ พระราชทานข้อเท็จจริงแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531 ความตอนหนึ่งว่า “...อันแรกก็ได้ให้กรมชลประทานได้สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ ซึ่งดูๆไปแล้วก็แปลก เพราะว่าอ่างเก็บน้ำนั้นเท่ากับกินที่ของที่ที่ได้มาเกือบทั้งหมดจะเหลือเพียงไม่กี่ไร่ที่จะใช้สำหรับการเพาะปลูก โดยใช้น้ำชลประทานก็เริ่มต้นอย่างนั้นคือ ไม่ถือว่าผิดหลักวิชา ความจริงก็ผิดหลักวิชามีที่เท่าไรก็มาใช้ ส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำ แล้วก็มาใช้ประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกเพียงไม่กี่ไร่ แต่ถือว่าทำเป็นตัวอย่างแล้ว ผลประโยชน์ที่จะได้ก็ไม่ใช่เฉพาะในที่ของเรา เป็นในที่ที่ลงไป ข้างล่างคงได้รับประโยชน์สำหรับสถานที่ก่อสร้างนั้น...” และ “...ก่อนอื่นได้สร้างเขื่อนกั้นห้วยเจ๊ก ซึ่งมีน้ำซับ (พิกัด QR.715208) เมื่อไปทำพิธีเปิดพระบรมรูปสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่วัดเขาหินซ้อน ได้ไปสำรวจพื้นที่และกำหนดที่ทำเขื่อน (8 สิงหาคม 2522) ต่อจากนั้นได้สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม (นอกเขต) คือ อ่างห้วยสำโรงเหนือ และห้วยสำโรงใต้...” และ “...เมื่อพัฒนาน้ำขึ้นมาบ้างแล้ว ก็เริ่มปลูกพืชไร่และเลี้ยงปลาในที่ลุ่ม ส่วนที่อยู่บนเนินก็เลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้า และต้นไม้ผลและป่า การเลี้ยง ปศุสัตว์ ปลูกหญ้าและต้นไม้นี้ จะทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ในที่สุดจะใช้ที่ดินได้ทั้งหมด กรรมวิธีนี้อาจต้องใช้เวลานาน จะสามารถเปลี่ยนจากกระบวนการที่ไปทางเสื่อมมาเป็นทางพัฒนาให้เป็นพื้นที่สมบูรณ์-เมื่อ จำแนกชั้นสมรรถนะของดินสำหรับพืชไร่ และการปลูกป่าแล้ว ก็สมควรที่จะมีการปลูกพันธุ์ไม้ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผิวดินและความชุ่มชื้นของอากาศแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการใช้ในครัวเรือน อาทิ ไม้เพื่อทำฟืน ไม้เพื่อทำบ้าน และไม้ผล เป็นต้น...” ทรงพระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวคือ “…ด้านหนึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของศูนย์ศึกษา ก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่ เพราะว่าแต่ละท้องที่สภาพฝนฟ้าอากาศและประชาชนในท้องที่ต่างๆ กันก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน…” และ “…เป็นการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึง ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกด้านของชีวิต ประชาชนจะหาเลี้ยงชีพในท้องที่ จะทำอย่างไร และได้เห็นวิทยาการแผนใหม่ จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ…” ที่สำคัญคือ “…ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกองทั้งในด้านการเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหางานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่าประชาชนซึ่งจะต้องการทั้งหลายก็สามารถที่จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชน ก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียวกันซึ่งเป็นสองด้าน ก็หมายความถึงว่า สำคัญปลายทาง คือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ และต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะให้ประโยชน์…” จากแนวพระราชดำรัสข้างต้นเป็นที่ประจักษ์ว่าทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุกด้านอย่างควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องพืชผัก ปศุสัตว์ที่ล้วนแต่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเนื่องจากเป็นแหล่งงาน แหล่งอาหาร แหล่งรายได้ แหล่งพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่หัวใจสำคัญที่พระราชทานพระราชดำริคือการพัฒนาแหล่งน้ำ เพราะเป็นปัจจัยหลักสำคัญต่อการเจริญงอกงามของสรรพชีวิต แหล่งน้ำซับเดิมในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริอันแห้งแล้งที่เจ้าของที่เดิมที่น้อมเกล้าฯถวายกราบทูลว่าปลูกอะไรไม่ขึ้นแม้แต่มันสำปะหลังที่พระราชดำรัสถึงแหล่งหนึ่งคือ “ห้วยเจ๊ก” แล้วทรงให้สร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นอีกเพื่อสร้างความชุ่มชื้นอันจะก่อให้เกิดการหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตได้รวมถึงต้นไม้ต่างๆ(อ่านต่อ) ...........................................................................