ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา อ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(จบ) เสกสรร สิทธาคม [email protected] สำหรับห้วยเจ๊กนับเป็นแหล่งน้ำสำคัญหนึ่งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ แหล่งน้ำคือชีวิตที่วันนี้ได้ทำให้พื้นที่ศูนย์ศึกษาฯอันเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้การดำเนินชีวิต เป็นต้นแบบที่ทำให้ประชาชนรอบๆศูนย์ฯได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเองจนสามารถปรับเปลี่ยนชีวิตพัฒนาไปสู่ความสุขแบบพออยู่พอกินได้มีความสุขยั่งยืนตราบวันนี้ ด้วยเพราะพระเมตตาพระมหากรุณาธิคุณหาที่เปรียบมิได้ นายอนุวัชรบอกว่าพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊กอันเนื่องมาจากพระราชดำริเดิมนั้นเป็นแหล่งน้ำซับในพื้นที่ป่าที่แห้งแล้งเพราะถูกแผ้วถางไป เนื้อดินเป็นทราย บริเวณพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ มีลำธารน้ำเล็กๆ หลงเหลืออยู่ไหลผ่าน มีก้อนหินขนาดใหญ่อยู่กลางลำธาร มีปริมาณน้ำไหลเล็กน้อย แต่ก็เพียงพอกับการปลูกผักได้ ได้มีคำบอกเล่าถึงพื้นดินอันเป็นที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯในเวลานี้สืบกันมาว่าประมาณ ปี พ.ศ.2513 ได้มีคนจีนคนหนึ่งชื่อไช่กวง แซ่โง้ว ซึ่งเดิมประกอบอาชีพปลูกแตงโม ปลูกผักต่างๆ อยู่ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และมีเพื่อนที่สนิทเป็นคนตำบลเขาหินซ้อน ประกอบอาชีพรับซื้อผลผลิตพืชไร่ ได้แก่ฟักทอง แฟง ถั่วเหลือง ฯลฯ ไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ เมื่อนายไช่กวง แซ่โง้ว ประสบปัญหาน้ำท่วมและทำการปลูกผักไม่ได้ จึงได้ชักชวนกันมาอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน โดยพาลูกเมียมาซื้อที่ประมาณ 10 ไร่ แล้วย้ายมาอยู่ที่หมู่ 11 ตำบลเขาหินซ้อน และมาสนิทกับนายเฮง สมาธาร ที่เป็นคนเชื้อสายจีนในพื้นที่อยู่ติดกับพื้นที่ของนายทองอยู่ โอวัฒนา นายไช่กวง แซ่โง้ว ชอบเดินมาคุยกับนายเฮง สมาธาร และจะมานั่งที่ก้อนหินก้อนใหญ่ที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊กเป็นประจำ แกบอกว่าอากาศดี และน่าปลูกผัก นายทองอยู่ โอวัฒนาเห็นว่านายไช่กวง แซ่โง้ว เป็นคนขยัน และมีจิตใจดี จึงแบ่งที่ให้มาปลูกผัก ปลูกแตงโมในพื้นที่ซึ่งเป็นลำธารห้วยเจ๊ก พื้นที่บริเวณที่ปลูกผักนั้นได้มีการบำรุงโดยนายไช่กวง แซ่โง้ว ต้องซื้อมูลค้างคาวจากจังหวัดราชบุรีมาใส่อยู่เสมอ แต่ไม่มีการฉีดยาฆ่าแมลง แต่จะใช้โล่ติ้นฉีดแทน ผลผลิตที่ได้มีขนาดใหญ่มาก พืชผักที่ปลูกได้แก่ แตงโม มะระ ถั่วฝักยาว ฯลฯ นายไชกวง แซ่โง้ว เป็นคนจีนที่รักประเทศไทยมาก เมื่อมีกฎหมายบังคับให้เปลี่ยนนามสกุลและเปลี่ยนสัญชาติ นายไช่กวง แซ่โง้ว จึงได้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่เป็น นายสิทธิ์ วังแก้วหิรัญ และพยายามเปลี่ยนเชื้อชาติ และสัญชาติให้เป็นไทย จนคนจีนเข้ามาต่อว่าหาว่าเป็นคนลืมชาติ แต่นายไช่กวง แซ่โง้ว กลับบอกเพื่อนๆ ว่า เรามาอยู่ประเทศไทย เราควรจะรักประเทศไทยเพราะเป็นที่ให้ชีวิตใหม่แก่ตนและสอนลูกสอนหลานไม่เกียจคร้านต่อการประกอบอาชีพ ให้รัก และกตัญญูต่อแผ่นดินไทย รวมทั้งไม่ให้เอาเปรียบคนอื่น โดยมีอคติประจำใจที่จะสอนลูกๆ เป็นประจำคือ “เช้าไม่กลัวน้ำค้าง กลางวันไม่กลัวแดด กลางคืนไม่กลัวผี จะไม่มีวันจน” ต่อมาปี 2514 นายไช่กวง แซ่โง้ว ได้ชักชวนน้องชายคือนายบุ๊น แซ่โง้ว จังหวัดราชบุรี มาปลูกผักในพื้นที่ของนายทองอยู่ โอวัฒนา โดยทำการปลูกผักประมาณ 4-5 ไร่ และปลูกบ้านพักอยู่ตรงบริเวณที่เป็นแหล่งสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริในปัจจุบัน และช่วยกันทำที่ทดน้ำไว้ใช้ปลูกผัก จนกระทั่งปี 2520 นายทองอยู่ โอวัฒนา ก็มาให้ย้ายไปบริเวณอื่น เพราะจะนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงน้อมเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น้องชายของนายไช่กวง แซ่โง้ว จึงได้ย้ายกลับจังหวัดราชบุรี แต่นายไช่กวง แซ่โง้ว ก็ยังตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่ 11 ตำบลเขาหินซ้อน และทำการปลูกผักเหมือนเดิม ปี พ.ศ.2522 นายทองอยู่ โอวัฒนา พร้อมด้วยราษฎรในเขตอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื้อที่ประมาณ 264 ไร่ ที่ดินนี้อยู่ในบริเวณหมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่ดินที่ติดกับถนนทางด้านทิศใต้ของทางหลวงจังหวัดฉะเชิงเทรา สายมิตรภาพ ฉะเชิงเทรา – นครราชสีมา เนื่องจากที่ดินดังกล่าวส่วนใหญ่มีต้นหญ้าปกคลุมอยู่หนาแน่น ไม่มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นขึ้นเลย บางส่วนเป็นพื้นที่ทำไร่มันสำปะหลังสภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย พื้นที่มีความลาดชัน ทำให้เกิดการกัดเซาะหน้าดินมากในฤดูฝน ทางทิศใต้ของที่ดินบริเวณนี้มีลำห้วยน้ำโจนไหลผ่าน และมีลำห้วยเล็กๆ เป็นลำน้ำสาขาของลำห้วยน้ำโจนไหลผ่านกลางพื้นที่บริเวณนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและด้วยพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงสภาพดิน น้ำและพืชให้มีคุณภาพดีขึ้น สามารถที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการเกษตรได้อย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์สึขของราษฎรในพื้นที่และราษฎรทั่วทั้งประเทศได้มีพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ ทดลองแนวทางการประกอบอาชีพแล้วนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จึงมีพระราชประสงค์ให้เป็นโครงการตัวอย่างแก่ราษฎรที่สมบูรณ์ที่สุด จึงมีพระกระแสรับสั่งให้กรมชลประทานเข้าไปสำรวจตรวจสอบภูมิประเทศบริเวณที่ดินดังกล่าว เพื่อพิจารณาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ปิดกั้นลำห้วยลำห้วยเจ๊ก ต่อมาได้ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ปิดกั้นลำห้วยแยกซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของลำห้วยเจ๊ก เพื่อให้โครงการนี้สมบูรณ์ พร้อมกันนี้พระองค์ ได้พระราชทานเงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ (ซึ่งเป็นเงินที่ราษฎรพร้อมใจกันทูลเกล้าฯถวาย) ให้กรมชลประทานเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง จำนวน 450,000 บาท ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 9 เข้าดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างในช่วงแรกๆ ต้องวิทยุสื่อสารภายในรายงานชลประทาน ซึ่งอยู่ตามจุดต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณจุดที่นายไช่กวง แซ่โง้ว ปลูกผักจะใช้นามวิทยุว่าห้วยเจ๊ก เนื่องจากเป็นที่ที่เจ๊ก 2 คน มาปลูกผักนั่นเอง โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2522 และการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2523 และอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ก็ใช้ชื่ออ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก มาจนถึงปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก เป็นตัวทำนบดินอัดแน่นความยาว 320 เมตร สูง 6.20 เมตร สันทำนบดินกว้าง 6.00 เมตร อ่างมีความจุ 160,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ส่งน้ำ 200 ไร่ มีลำรางส่งน้ำดาดคอนกรีต 2 ฝั่ง ฝั่งซ้ายยาว 382 เมตร ฝั่งขวายาว 166 เมตร