ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] “น้ำคือชีวิต”พระราชดำริรัชกาลที่9 ที่เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนอย่างยั่งยืน(2) โดยผลสัมฤทธิ์แห่งพระราชอัจฉริยภาพ ณ จุดหนึ่งที่เห็นถึงความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นคือ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับฝายต้นน้ำมาใช้ในการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ และสร้างความสมบูรณ์ให้กับสภาพป่า ซึ่งปัจจุบันรูปแบบแห่งผลสำเร็จในการฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพจากพื้นที่ที่เสื่อมโทรมในอดีตเมื่อ 25 ปีที่แล้ว จนมีสภาพที่อุดมสมบูรณ์มีศักยภาพที่เอื้อก่อให้เกิดประโยชน์ของพื้นที่ได้ในปัจจุบัน การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ โดยใช้ฝายต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ เป็นผลพิสูจน์ให้เห็นถึงรูปแบบแห่งความสำเร็จของการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร กลับเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์มีน้ำใช้อย่างพอเพียง ชุมชนสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ต้นน้ำลำธาร สภาพพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ในอดีตเมื่อปี 2528 มีสภาพดินเป็นดินหินกรวดสภาพแวดล้อมทั่วไปแห้งแล้ง ขาดความชุ่มชื้น เกิดไฟไหม้ป่าทุกปี ปริมาณน้ำธรรมชาติมีน้อย สภาพป่าไม้เสื่อมโทรม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) สภาพพื้นที่ในปัจจุบัน ความชุ่มชื้นในป่าเพิ่มขึ้นในระยะ 23 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2533 - 2555) ไม่เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นในศูนย์ศึกษาฯ ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น จากเดิมเฉลี่ย 1,142.2 มิลลิเมตร เพิ่มเป็นเฉลี่ย 1,327.8 มิลลิเมตรและจำนวนวันที่ฝนตกจากเดิม 80 - 90 วันต่อปี กระเหยของน้ำลดลงจาก 1,365.6 มิลลิเมตร (ปี 2527) เหลือเพียง 1059.6 มิลลิเมตร (ปี 2555) ลำน้ำและแหล่งน้ำพบว่าร่องห้วยธรรมชาติที่เคยแห้งแล้ง ปัจจุบันมีน้ำไหลในห้วยยาวนานขึ้น บางลำห้วยมีน้ำไหลตลอดปี ดินมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นจาก 16 % (ปี 2548) เป็น 21 (ปี 2555) ธาตุอาหารในดินเพิ่มขึ้น จากเดิมมีไม่เดิน 1 % ของน้ำหนักดิน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 % นอกจากนี้ยังพบว่าความหนาแน่นของต้นไม้เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 4 เท่า ทำให้ชุมชนมีสภาพป่า ที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้น มีทั้งพืช พรรณไม้ และสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น เป็นแหล่งธนาคารอาหารของชุมชน เป็นจุดก่อเกิดของสายน้ำที่กลั่นออกมาจากป่าไม้ไหลรวมเป็นแม่น้ำให้ชุมชนได้อุปโภค บริโภค และกระจายความชุ่มชื้นในดินมากขึ้นสร้างระบบควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก ฯลฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่อง "เจ้านายเล็ก ๆ ....ยุวกษัตริย์”ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรง “เล่น” สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ โดยทรงขุดดินเป็นแอ่งน้ำเล็ก ๆ แล้วทรงจัดทำคลอง ทรงนำกิ่งไม้มาประดับไว้ริมคลอง เหมือนเป็นต้นไม้ที่อาศัยน้ำในบริเวณนั้นเพื่อให้เจริญงอกงามซึ่งในขณะนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าการเล่นของพระองค์คือการทรงเริ่มงานเทคโนโลยีด้านชลประทานและการปลูกป่า ซึ่งเมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป ในระหว่างดำรงสิริราชสมบัติได้ทรงสร้างสรรค์ผลงานด้านวิศวกรรมในการชลประทาน การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ คลองส่งน้ำ และการปลูกป่าป้องกันไฟป่า เป็นโครงสร้างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ยังความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนแผ่นดินไทยอย่างกว้างขวาง จากที่ทรงศึกษาคนคว้าทดลองจนทรงมั่นพระราชหฤทัยถึงผลสัมฤทธิ์ที่แน่ชัดแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม จนเกิดแหล่งน้ำทั้งที่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และที่ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ สนองพระมหากรุณาธิคุณ เป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสต่างๆที่กล่าวได้ว่าเป็นการขยายผลนับเป็นกำลังในการทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณซึ่งได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎรและทำให้ราษฎรได้มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำทำการเกษตรตามความต้องการอย่างเพียงพอในทุกฤดูกาล ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องน้ำมิใช่แต่งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรอันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำเท่านั้นแต่ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านปริมาณและคุณภาพซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการ ดำรงชีวิของมนุษย์ และสรรพสิ่งสรรพชีวิต ทำให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับน้ำมากมาย ทั้งโครงการอ่างเก็บน้ำ เขื่อนต่างๆ โครงการแก้มลิง โครงการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำต่างๆมากมาย เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาให้กับราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ด้วย พูดถึงแก้มลิงโครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระองค์ได้แรงบันดาลพระราชหฤทัยจากการได้เคยทอดพระเนตรพฤติกรรมกินกล้วยของลิงในสวนจิตรลดา “...ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ลิงก็จะรีบปอกเปลือกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว ๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม จะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนแล้วจะนำออกมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณทิศตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา...”ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ได้พระราชทานไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 แนวพระราชดำริเรื่องโครงการแก้มลิงเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในเวลาเดียวกันก็มีน้ำเก็บกักไว้ใช้ในช่วงที่น้ำหลากผ่านไปแล้วได้พระราชทานให้เกิดโครงการแก้มลิงขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคือคลองมหาชัย – คลองสนามชัยเป็นตัวอย่างของหลักการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ โดยทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร และสมุทรสาครตอนบนไปลงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร การบริหารจัดการครอบคลุมพื้นที่ทั้งหวัด 76.42 ตร.กม.ใช้คลองต่างๆ เป็นแก้มลิงในการกักเก็บน้ำ มีความจุประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. มีสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน 25 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร จำนวน 12 แห่ง กรมชลประทาน 10 แห่ง และกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 3 แห่ง การบริหารจัดการน้ำช่วงน้ำปกติ จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 10 แห่ง เพื่อรับน้ำคุณภาพดีจากทะเลเข้ามาหมุนเวียนในระบบแก้มลิง ส่วนประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยจะมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำเป็นหลักส่วนใหญ่จะเปิดประตูระบายน้ำตลอด ยกเว้นกรณีเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงจะทำการปิดประตูระบายน้ำลงเมื่อน้ำทะเลไหลลง จะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล เป็นการหมุนเวียนน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ช่วงน้ำหลากจะมีการปิดประตูระบายน้ำทั้ง 10 แห่ง ในระบบแก้มลิงตามแนวพระราชดำริของกรมชลประทานในเขตจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด โดยมีการบริหารจัดการน้ำที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยเป็นหลัก เมื่อระดับน้ำทะเลลดลง จะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล โดยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า ขนาดกำลังสูบเครื่องละ 3 ลบ.ม. /วินาที จำนวน 12 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 36 ลบ.ม./วินาที สูบน้ำออกจากคลองมหาชัย เป็นการพร่องน้ำภายในระบบแก้มลิงฯ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเติมตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดหาแก้มลิงตามแนวพระราชดำริจำนวน 21 แห่ง รองรับน้ำได้ประมาณ 12.94 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ ในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองศิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539คณะรัฐมนตรี ได้เทิดพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ โดยได้ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ” ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ณ ศาลาดุสิตดาลัย พระตำหนักจิตลดารโหฐาน(อ่านต่อ) …...............................................