รำลึก12ปีสึนามิ รบ.จัดงบ64.8ล.บาทสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งบ้านน้ำเค็ม วธ.นำเรือ2ลำอนุสรณ์สถานแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชน วันนี้ (24 ธ.ค.59) ที่บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่าจ.พังงา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล 3 ศาสนา ได้แก่ พุทธคริสต์ และอิสลาม เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปีเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ 26 ธ.ค. 2547 ณ บริเวณเรือประมงเกยตื้น โดยมี นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการ จ.พังงา ผู้แทนหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ รวมถึงญาติผู้เสียชีวิตและชาวบ้านน้ำเค็มเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก พร้อมเปิดโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิบ้านน้ำเค็ม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับธรณีพิบัติภัยสึนามิแบบครบวงจรของไทยเป็นแห่งแรกและทันสมัยที่สุด เพราะถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย นายวีระ กล่าวว่า ที่ผ่านมาวธ.ได้ทำการจัดซื้อเรือประมง 2 ลำที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดมาเกยตื้นกลางชุมชนบ้านน้ำเค็ม โดยประสานงานให้อบต.บางม่วงเป็นผู้ดูแล และจัดหามีพื้นที่ตั้งเรือในที่ดิน จำนวน5 ไร่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ และหลังจากที่วธ.ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างจากรัฐบาลจำนวน 64.8 ล้านบาท ระหว่างปี 2560 – 2561 แบ่งเป็นปี 2560 จำนวน 12.8 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 52 ล้านบาท จึงสามารถเปิดโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 60 ได้ทันที เมื่อจัดทำตัวโครงสร้างแล้วเสร็จจะของบตกแต่งภายในเพื่อจัดนิทรรศการในปี 2561 อีก 30 ล้านบาท เมื่อสร้างเสร็จจะมอบให้ทางจ.พังงา และ อบต.บางม่วง เป็นผู้ดูแลเป็นแหล่งเรียนรู้ จัดกิจกรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้สู่ชุมชน “ที่สำคัญตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ยังเป็นหอเตือนภัยและพื้นที่หลบภัย จารึกรายชื่อ ผู้ที่ประสบภัยพิบัติบนผนังโลหะด้านนอกอาคาร เป็นศูนย์ข้อมูลการด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวบ้านน้ำเค็มและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่สำหรับร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านน้ำเค็ม ตั้งเป้าหมายกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนดึงดูดให้ญาติผู้เสียชีวิตที่แต่ละปีจะเข้ามาร่วมงานมากกว่า 2,000 คน รวมทั้งมีแนวคิดร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จัดเส้นทางการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น” นายวีระ กล่าว นายพรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า การออกแบบพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง นำซากเรือที่พบในเหตุการณ์ภัยพิบัติไว้ 2.ภูมิทัศน์และพืชพันธ์มีความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้รู้สึกสงบและความเคารพในสถานที่ 3.ส่วนบริการข้อมูล มีลักษณะเปิดโล่งสำหรับกิจกรรมของชุมชนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งนี้พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งนี้ จะได้เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงเหตุการณ์ภัยคลื่นยักษ์ที่บ้านน้ำเค็ม เป็นศูนย์เตือนภัย หลบภัย อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยเสนอความรู้เชิงศิลปวัฒนธรรม สังคมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่เน้นศักยภาพการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนเชื่อมโยงกับสถานที่เกิดเหตุจริงเมื่อปี 2547 ในพื้นที่เขาหลัก “ตัวอาคาร 3 ชั้น สถาปัตยกรรมรูปทรงหอยสูง 21 เมตร ชั้นบนสุดจะเป็นหอเตือนภัย ที่หลบภัยเพราะโครงสร้างออกแบบอย่างแข็งแรง และมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของทะเลบ้านน้ำเค็ม โดยรูปทรงอาคารได้แนวคิดจากอุปกรณ์ทำกิน ในวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ซึ่งประกอบอาชีพประมงเป็นส่วนใหญ่ อาทิ สุ่ม ไซ ลอบเชงเวง และบางส่วนนำซากและสิ่งของต่างๆ ในที่เกิดเหตุจริงที่เก็บไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง ภูเก็ต มาจัดแสดงบางส่วนด้วย” นายพรธรรม กล่าว