เตรียมสร้าง “ราชรถรางปืน-พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย” ภูมิสถาปัตย์พระเมรุมาศออกแบบตามผังภูมิจักรวาล ลานพระราชพิธีประดับพรรณไม้โทนเหลือง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 (26 ธ.ค. โรงละครแห่งชาติ) ว่า ที่ประชุมได้รายงานการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบอาคาร มีความคืบหน้าไปมาก โดยเจ้าหน้าที่ได้ล้อมรั้วเพื่อกำหนดพื้นที่สร้างโรงขยายแบบและโรงควบคุมการขยายลายแล้ว ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำถึงการล้อมรั้วบริเวณหัวมุมสนามหลวงฝั่งทิศใต้ด้านพระบรมมหาราชวัง จะต้องให้มีความสวยงามและให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ขณะเดียวกันได้รับรายงานว่ากรุงเทพมหานครจะส่งมอบพื้นที่ให้กรมศิลปากรเข้าดำเนินงานไม่เกินวันที่ 20 มกราคม 2560 พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการจัดสร้างเครื่องประกอบพระอิสริยยศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ราชรถรางปืน สำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมศพ ลงจากพระมหาพิชัยราชรถ เวียนอุตราวรรต 3 รอบพระเมรุมาศ และจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระสรีรางคาร จากสนามหลวงเข้าพระบรมหาราชวัง โดยหลังจากนี้จะเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการงานพระราชพิธีพระบรมศพฯ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณา รวมถึงจะเสนอของบประมาณในการจัดสร้างพระเมรุมาศด้วย “กรมศิลปากร ยังได้รายงานการออกแบบทัศนียภาพจำลองภูมิสถาปัตย์ขั้นต้น มุมมองจากทิศเหนือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยวางผังตำแหน่งพระเมรุมาศ มีความคิดในการจัดตั้งผังที่เชื่อมโยงกับศาสนสถานที่สำคัญของพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน โดยตำแหน่งที่ตั้งพระเมรุมาศเป็นจุดตัดของแกนที่สำคัญ 2 แนว ได้แก่ แนวเหนือ-ใต้ เป็นแนวแกนที่สัมพันธ์กับพระศรีรัตนเจดีย์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แนวตะวันออก-ตะวันตก เป็นแนวที่สัมพันธ์กับพระอุโบสถของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งจากแนวสำคัญดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดการใช้พื้นที่ เส้นทางการเชื่อมโยงและการวางผังอาคารประกอบต่างๆ รวมทั้งองค์ประกอบภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง และบริเวณโดยรอบ ได้แก่ แกนทางเข้าพระเมรุมาศ ลานพระราชพิธี และพื้นที่ตกแต่งภูมิทัศน์” รองนายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการออกแบบลานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีแนวความคิดในการตีความเชิญสัญลักษณ์ ตามผังภูมิจักรวาล ในปรัชญาและคติความเชื่อของไทย ประกอบด้วย เขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ สระอโนดาต 4 มุมประดับเขามอ และสัตว์หิมพานต์รอบพระเมรุมาศ และทวีปทั้งสี่ โดยพื้นที่การใช้สอยนี้ ต้องสามารถรองรับกิจกรรมได้ครบถ้วน รวมทั้งการออกแบบองค์ประกอบภูมิทัศน์ต่างๆ โดยรอบ จะสะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยการนำเสนอการจัดพื้นที่พืชพรรณ และเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ นาข้าว ทุ่งมันเทศ สระธรรมชาติจำลองแก้มลิง กังหันชัยพัฒนา พรรณไม้ในโครงการพระราชดำริ อาทิ แนวหญ้าแฝก ต้นยางนา อินทผาลัม และมะม่วงมหาชนก ประติมากรรมพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ “ขณะเดียวกัน มีการประดับพรรณไม้ดอกโทนสีเหลือง สีประจำวันพระราชสมภพ ได้แก่ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง อาทิ ขี้เหล็กอเมริกัน ลั่นทมดอกสีเหลืองส้ม แสงจันทร์ จำปา ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก/ไม้พุ่มใหญ่ ได้แก่ ทรงบาดาล หางนกยูงไทยดอกเหลือง รำเพย ไม้พุ่ม อาทิ บานบุรี ประยงค์ บานเช้า พวงทองต้น ช้อนทอง ทองอุไร มณฑา ลำดวน พุทธรักษาดอกเหลือง ชบา เข็ม ผกากรอง ชุมเห็ดเทศ เหลืองคีรีบูน เฟื่องฟ้าสีเหลือง โสน และก้ามกุ้งสีทอง ไม้คลุมดิน ได้แก่ ผกากรองเลื้อย ถั่วบราซิล กระดุมทอง บัวดินดอกเหลือง ไม้ล้มลุก ดาวกระจาย ดาวเรือง สร้อยไก่” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว