ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] พระมหากรุณาธิคุณ ในความทรงจำดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (1) “...ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคงเป็นปรกติสุข ความเจริญมั่นคงทั้งนั้นจะสำเร็จผลเป็นจริงได้ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติมุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิดและด้วยความสุจริตจริงใจโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานเมื่อวันที 5 ธันวาคม 2552 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(เลขาธิการกปร.) คนแรก ปัจจุบันท่านเป็นกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ท่านได้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาตั้งแต่ปี 2525 จึงมีภาพแห่งความทรงจำและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้เห็นด้วยตาสัมผัสพระมหากรุณาธิคุณด้วยตัวเองที่ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนักและตรากตรำทั้งพระวรยกายทั้งพระสติปัญญาด้วยทรงตั้งพระราชปณิธานบำบัดทุกข์ให้หมดหรือบรรเทาเบาบางไปจากประชาชนของพระองค์ นำประโยชน์สุขเข้ามาแทนที่ ด้วยเพราะทรงรักทรงห่วงใยอันเกิดจากพระเมตตาที่ยิ่งใหญ่หาที่เปรียบมิได้นับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติตราบเสด็จสวรรคต จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งแก่ประชาชนคนไทยและทั่วโลกว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักเพื่อราษฎรที่สุด พระมหากรุณาธิคุณที่ประจักษ์เป็นรูปธรรมผ่านพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญอย่างทรงทุ่มเทด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ประโยชน์สุขปวงประชาชนคือพระราชปณิธานอันแน่วแน่หเพื่อราษฎรคือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานไว้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยวันนี้เกินกว่า 5j000 โครงการ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้ถ่ายทอดพระมหากรุณาธิคุณสู่คนไทยผ่านความทรงจำในหลายวาระหลายสถานที่ หลายโอกาสเน้นย้ำให้ประชาชนได้เกิดความภาคภูมิใจและร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่เกิดมาเป็นคนไทยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร และขอได้ร่วมกันตั้งจิตมั่นที่จะเดินตามรอยพระยุคลบาทเพื่อสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชนและชาติบ้านเมืองบนวิถีแห่งความดีงามคือตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริคือดำรงอยู่ในความขยันหมั่นเพียร อดทน รู้จักอดออม ไม่ถูกความโลภครอบงำ มีความรักความเมตตาสามัคคีปรองดอง สำนึกอยู่ในความกตัญญูกตเวทิตาคุณเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่นเพื่อทรงบำบัดทุกข์ยากให้บรรเทาเบาบางหรือหมดไปและเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร เฉพาะอย่างยิ่งผู้ยากไร้ด้อยโอกาสในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งนับเป็นพระราชภาระอันยิ่งใหญ่ และหนักหน่วงเนื่องด้วยทรงระลึกเสมอว่าทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของพระองค์ จึงทรงคิดค้นหาแนวทางการพัฒนาด้วยพระวิริยอุตสาหะเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระองค์ไม่เคยทรงทอดทิ้งประชาชน คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.)มีบทบาทหน้าที่ในการสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเจ้านางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เป็นสำนักงานวิชาการและประสานงาน ซึ่งได้ก่อตั้งมาครบ 35 ปีในปี2559 นี้ สำนักงานกปร.ในฐานะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานแผนงานและความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแนวพระราชดำริ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไว้กว่า 5,000 โครงการ ที่ได้พระราชทานแก่ประชาชนกระจ่ายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งโครงการพัฒนาด้านการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพการพัฒนาแหล่งน้ำ การสื่อสารคมนาคม การแก้ไขปัญหาจราจรและสวัสดิการสังคม รวมทั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 ศูนย์ที่มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษา วิจัย แสวงหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ภูมิสังคมและการประกอบอาชีพของราษฎร พร้อมกับนำผลสำเร็จขยายผลการพัฒนาไปสู่พื้นที่ของเกษตรกร โดยมีจุดมุ่งหมายให้ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่างพอมีพอกิน และพอเพียงควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน การปฏิบัติภารกิจสนองพระราชดำริใดๆคงไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปได้หากปราศจากความร่วมมือเสียสละและอุตสาหะในการปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในหน่วยราชการและองค์กรต่างๆทุกภาคส่วน ความร่วมมือร่วมใจดังกล่าวทำให้บังเกิดผลเป็นความสุขความเจริญแก่ประเทศชาติและประชาชนที่อยู่ใน.ต้ร่มพระบารมีโดยแท้ ดังที่เกริ่นข้างต้นว่าดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งท่านผู้อ่านคงได้สัมผัสคำบอกเล่าความรู้สึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้มีโอกาสทำงานถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณมาแล้วพอสมควร ใครก็ตามที่อ่านแล้วอ่านอีก ก็จะได้สัมผัสซึมซับพระมหากรุณาธิคุณผ่านคำบอกเล่านั้น ได้ซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สุดจะหาคำพูดใดๆมาถ่ายทอดความรู้สึกได้ที่เชื่อว่าทุกคนมีเหมือนกันคือสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงทำงานเพื่อคนไทยทุกคนให้อยู่ดีกินดีมีสุขอย่างยั่งยืนในการดำเนินชีวิต คนอายุรุ่นราวคราว 40 ปีขึ้นอาจจะบอกว่าฟังและอ่านบ่อยแล้ว แต่อยากเชิญชวนให้อ่านอีก คนรุ่นอายุต่ำกว่า 40 ปีลงมาหรือที่เรียกว่าคนรุ่นหนุ่มสาวจนถึงเยาวชนยิ่งอยากให้อ่าน ผมก็หวังที่เอาความรู้สึกผ่านคำบอกเล่าของดร.สุเมธ อดีตเลขาการกปร.ปัจจุบันคือเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนามาถ่ายทอดอีกคราวหนึ่ง จึงขออนุญาตดร.สุเมธ ตันติเวชกุลนำความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเผยแพร่แก่ประชาชนคนไทย เพื่อเชิญชวนท่านผู้อ่านร่วมเน้นย้ำร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้เป็นการร่วมถวายความอาลัยพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย “ผมได้เข้าถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้านการพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตั้งแต่ปี 2524 ขณะนั้นผมดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมด้านเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้ถวายงานเรื่อยมาจนกระทั่งตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงานกปร.)เมื่อปี2536 และได้ลาออกจากราชการเมื่อปี 2542” เป็นการบอกที่มาทุกครั้งที่มีการตั้งหัวข้อให้ดร.สุเมธพูดถึงการได้เข้ามาถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทนำเอาพระมหากรุณาธิคุณไปถึงประชาชน”ดร.สุเมธกล่าวเกริ่น ดร.สุเมธเล่าให้ฟังต่อเนื่องว่า ขณะยังรับราชการอยู่นั้นปี 2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดร.สุเมธเป็นเลขาธิการมูลนิธิ เพราะฉะนั้นเมื่อลาออกจากราชการแล้วจึงยังคงทำงานมูลนิธิชัยพัฒนาในตำแหน่งเลขาธิการเรื่อยมาจนปัจจุบัน (อ่านต่อฉบับหน้า)