แทบจะไม่ต้องมีเวลาพัก แม้จะหมดวาระจากการดำรงตำแหน่ง "เลขาธิการสหประชาชาติ" มา 2 สมัยซ้อน 10 ปีติด ก็มีแนวโน้มเห็นท่าว่า จะต้องมาทำงานต่อ สำหรับ "นายบัน คี-มูน" ที่ใกล้อำลาจาก "เก้าอี้" เลขาธิการยูเอ็น ในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ แต่ก็มี "บัลลังก์" ใน "ช็อง วา-แด" เรือนสีฟ้า ทำเนียบประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ไว้ให้ "ลุ้น" กัน ว่า ผู้ที่กำลังจะเป็นอดีตนายใหญ่ขององค์การระหว่างประเทศที่ได้ชื่อว่า ใหญ่ที่สุดในโลก รายนี้ จะสามารถยึดครองบัลลังก์ดังกล่าวมาได้ อันหมายถึงว่า ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของโสมขาว นิกเนมของเกาหลีใต้กันหรือไม่? ทั้งนี้ แม้นายบัน จะมิได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็สัญญาณอย่างเป็นนัยยะ แถมยังเป็นนัยยะอย่างเข้มแข็ง และแกร่งกร้าวเป็นที่สุด (Strongest hint) ระหว่างที่เขาพบปะกับบรรดาสื่อมวลชนของเกาหลีใต้ในสหรัฐฯ ที่มหานครนิวยอร์ก นครที่ตั้งของสำนักใหญ่ยูเอ็น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายบัน ระบุว่า หลังพ้นตำแหน่ง หมดวาระการนั่งเก้าอี้เลขาธิการยูเอ็น ตนก็จะเดินทางกลับเกาหลีใต้ และจะพิจารณาว่า ตนสามารถช่วยเหลือประเทศอย่างไรจึงจะดีที่สุด แต่ที่นับว่า เป็นคำกล่าวที่ถือเป็นนัยยะสำคัญอย่างยิ่งยวดของการแบะท่า แบไต๋ ว่าขอร่วมชิงชัยในสมรภูมิเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้ ก็คือถ้อยแถลงที่ว่า "ตนพร้อมที่จะเผาร่างกายของเขา ในการอุทิศให้แด่เกาหลีใต้" ก็ทำเอาบรรดาแม่ยก พ่อยก กองเชียร์นายบัน ตีปีก ด้วยความดีใจกันไปถ้วนหน้า เพราะก่อนหน้าก็ได้มีเสียงเรียกร้องให้นายบัน ซึ่งอดีตเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ผู้นี้ มานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีคนใหม่ของแดนโสมขาว แทน "น.ส.พัก กึน-ฮเย" ที่ ณ ชั่วโมงนี้ ต้องถือว่า คะแนนนิยมตกต่ำอย่างหนัก จากการที่มีเอี่ยวเกี่ยวข้องในคดีทุจริตคอร์รัปชัน จากการที่ให้ "คนนอก" อันเป็นคนสนิทของเธอ คือ นางชอย ซุน-ซิล เข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในรัฐบาล ทั้งๆ ที่มิได้มีหน้าที่ หรือตำแหน่งแห่งหนใดๆ เกี่ยวข้องกับคณะรัฐบาล จนนำไปสู่การกินสินบาท คาดสินบนกันเกิดขึ้น กระทั่งส่งผลให้เกิด "วิกฤติการเมืองเกาหลีใต้" ขึ้น จาก "ปรากฏการณ์ม็อบ" การเมืองลงถนนตามมา ด้วยจำนวนผู้คนเรือนแสน เรือนล้าน ที่มาร่วมชุมนุมกันในแต่ละช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อขับไล่ น.ส.พัก ให้ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ ซึ่ง "ปรากฏการณ์ม็อบ" ที่ว่า ก็ดำเนินมาเป็นเวลาถึง 2 เดือนแล้ว ก่อนมีมติจากที่ประชุมสภากังโฮ หรือรัฐสภาเกาหลีใต้ ให้ถอดถอน น.ส.พัก ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยมติที่ต้องบอกว่า "ท่วมท้น" ถึง 234 ต่อ 56 เสียง จากวิกฤติการเมืองเกาหลีใต้ที่บังเกิดขึ้น ก็ส่งผลให้บรรดากลุ่มการเมืองแนวอนุรักษ์นิยม รวมถึง พรรคแซนูรี ที่ น.ส.พัก สังกัดอยู่นั้น ต่างพากันส่งเสียงเพรียกเรียกหาให้นายบัน ที่กำลังจะหมดวาระตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็น มาลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคแซนูรี ที่ต้องการกอบกู้ศรัทธาจากประชาชนชาวโสมขาวให้กลับคืนมา หลังเกิดอื้อฉาวของ น.ส.พัก โดยอาศัยบารมีเกียรติคุณอันดังโด่งของนายบัน ที่เคยนั่งหัวโต๊ะองค์การระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาก่อน เรียกศรัทธาของประชาชนให้กลับคืนมาสู่พรรคฯ ทว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นว่ากันในส่วนของพรรคแซนูรี จะได้มีนายบัน เป็นหัวเรือใหญ่กุมบังเหียน ในปฏิบัติการเรียกศรัทธาให้กลับคืนมาหรือไม่ ก็ยังไม่แน่ เพราะนายบันยังมิได้ส่งสัญญาณแน่ชัดว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคแซนูรี โดยอาจจะเป็นพรรคการเมืองอื่นๆ ในกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม เช่นเดียวกับพรรคแซนูรีก็เป็นได้ ว่ากันถึงสถานการณ์ความยากง่ายในการชิงชัย ก็ต้องบอกว่า นายบันเอง ใช่ว่าจะได้ครองบัลลังก์แห่งประธานาธิบดีในทำเนียบ "ช็อง วา-แด" แบบง่ายๆ ชนิด "ถวายพาน" เพราะว่าต้องพบพานกับคู่แข่งคนสำคัญ อันมีกระแสคะแนนนิยมร้อนแรงอยู่ ณ เวลานี้ นั่นคือ "นายมูน แจ-อิน" วัย 63 ปี ว่าที่ตัวแทนของทาง "พรรคมินจูแห่งเกาหลี" หรือชื่อทางการสากล "พรรคประชาธิปไตย" หรือ "เดโมแครตแห่งเกาหลีใต้" นั่นเอง โดยกระแสคะแนนนิยม ที่พุ่งทะยานมาร้อนแรงของตัวแทนพรรคที่มีแนวคิด "เสรีนิยม" รายนี้ ก็เป็นผลพวงมาจาก "ปรากฏการณ์ม็อบขับไล่ น.ส.พัก กึน-ฮเย" ที่ยังคงรวมตัวเดินขบวนไปตามท้องถนนสายต่างๆ ในกรุงโซล และชุมนุมปิดล้อมทำเนียบเรือนสีฟ้า ในเมืองหลวงของชาวโสมขาว ณ ชั่วโมงนี้ จากการที่พรรคประชาธิปไตย เป็นผู้นำ และขนมวลชนที่สนับสนุนพรรค ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่ น.ส.พัก ให้กระเด็นตกจากเก้าอี้ประธานาธิบดี จากกรณีอื้อฉาว อย่างไรก็ดี กล่าวกันถึงที่มาที่ไปในทางการเมืองของนายมูน ก็ต้องถือว่า ไม่ธรรมดาเหมือนกัน เพราะอดีตครั้งสมัยที่ "นายโรห์ มู-ฮยุน" ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายมูนผุ้นี้ ก็เคยนั่งหัวโต๊ะทีมที่ปรึกษา ในฐานะ "หัวหน้าคณะทำงาน" ของประธานาธิบดีโรห์ ในทำเนียบ "ช็อง วา-แด" มาแล้ว แถมมิหนำซ้ำ ในสมรภูมิชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้หนที่แล้ว ก็ปรากฏว่า นายมูน มาเป็นที่สอง รองจาก "น.ส.พัก กึน-ฮเย" ผู้สมัครจากพรรคแซนูรี ที่ "กระแสมา" ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ ทั้งการชูธงประธานาธิบดีหญิงคนแรก และผู้สูงอายุ ที่ยังคงรำลึกนึกถึงในความเด็ดขาดของอดีตประธานาธิบดี "พัก ช็อง-ฮี" หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า "ปัก จุง-ฮี" นั่นเอง โดยในการชิงชัยครั้งกระนั้น ปรากฏว่า ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เทคะแนนให้ น.ส.พัก ถึงร้อยละ 85.9 ขณะที่ นายมูน ได้คะแนนจากคนหนุ่มสาว ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 20 30 ปี ที่ร้อยละ 65 สำหรับ กระแสคะแนนนิยมของผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะลงชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้ ปรากฏว่า ไนายมูน แจ-อิน" เคยมีคะแนนนิยมนำหน้านายบัน คี-มูน ด้วยซ้ำในการสำรวจโพลล์หลายรอบที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อช่วง พ.ย. เดือนที่แล้ว นายมูน นำหน้าทุกโพลล์ ได้ถึงร้อยละ 46.2 ก็มี ในขณะที่ นายบัน ได้เพียงร้อยละ 37.6 เท่านั้น เพิ่งมีเพียงการทำโพลล์ล่าสุดเมื่อปลายเดือน ธ.ค. ที่ปรากฏว่า นายบัน เริ่มพลิกกลับมานำแบบเฉือนหวิวที่ร้อยละ 23.1 ต่อ 22.2 คะแนนนิยมที่ทิ้งไม่ห่าง ถ่างกันไม่มากอย่างนี้ ทั้งสองฟากฝ่ายต้องรณรงค์หาเสียง ปรับยุทธศาสตร์ สู้กันอย่างดุเดือด ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีกหลายเดือน ก่อนถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งในปีหน้า ที่ชาวโสมขาวจะได้มีโอกาสเลือกประธานาธิบดีคนใหม่กันอีกคำรบ