ว่ากันตามสากลนิยม ก็ต้องบอกว่า เปลี่ยนวาระ ผละเข้าสู่ดิถีของปีระกานักษัตร หรือศกแห่งไก่ขนงามกันแล้ว สำหรับ พุทธศักราช 2560 หรือศักราชคริสต์ที่ 2017 ที่ได้เริ่มยกขึ้นเข้าสู่วาระดิถี เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยในระกานักษัตรที่เพิ่งย่างเข้ามาปีนี้ ก็ต้องถือว่า มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นให้ได้ปรีดา ท่ามกลางสถานการณ์ ณ หลายมุมของโลกที่ยังคงวุ่นวายชวนให้ใจระเหี่ย หนึ่งในเรื่องดีๆ ที่ว่า ก็อย่างเช่น ในปีไก่ขนงามนี้ โลกเราก็จะได้มี "สมุทรอุทยาน" หรือ "อุทยานทางทะเล" แถมยังเป็นเป็น อุทยานทางทะเลที่มีขนาดมหึมาอีกต่างหาก ทั้งนี้ สมุทรอุทยานข้างต้น เป็นผลมาจากมติที่ประชุมนานาชาติ ซึ่งบรรลุเห็นพ้องต้องกันเมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้เอง ในการพบปะหารือกันระหว่างตัวแทนชาติสมาชิก "คณะกรรมาธิการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลแอนตาร์กติก" หรือ "ซีซีเอเอ็มแอลอาร์" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่ "สหประชาชาติ" หรือ "ยูเอ็น" ให้ความอุปถัมภ์ อันประกอบด้วยชาติสมาชิกสำคัญได้แก่ "สหภาพยุโรป" หรือ "อียู" และชาติอื่นๆ อีก 24 ประเทศ รวมถึงมหาอำนาจชาติพี่เบิ้มใหญ่อย่าง สหรัฐฯ รัสเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ มติที่ประชุม "ซีซีเอเอ็มแอลอาร์" ซึ่งบรรลุกันในระหว่างการหารือครั้งล่าสุด ที่จัดมีขึ้น ณ นครโฮบาร์ต เมืองเอกของรัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย นั้น ก็กำหนดให้ "ทะเลรอสส์" หรือที่บางคนเรียกว่า "ทะเลรอสซี" อันเป็นผืนน้ำทะเลขทางตะวันออกเฉียงเหนือของ "ทวีปแอนตาร์กติกา" ขั้วโลกใต้ และอยู่ในเขตวงแหวน "แอนตาร์กติกเซอร์เคิล" นั้น เป็น "สมุทรอุทยาน" อุทยานทางทะเล หรือ "เอ็มพีเอ" ขึ้นมาโดยเฉพาะ อาณาบริเวณของอุทยานทางทะเลที่จะจัดตั้งขึ้น ก็ต้องถือว่า กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ เพราะครอบคลุมพื้นที่มากถึง 1.57 ล้านตารางกิโลเมตร หรือราว 6 แสนตารางไมล์ ความสำคัญของท้องน้ำสมุทรแห่งนี้ ถูกยกให้เป็นหนึ่งในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากการเป็นถิ่นกำเนิดและที่อยู่สัตว์ทะเลหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น "ปลาวาฬเพชฌฆาต" สายพันธุ์ซี อันเป็นสายพันธุ์ปลาวาฬที่เล็กที่สุดของ 1 ใน 4 สายพันธุ์ปลาวาฬที่แหวกว่ายใต้ธาราแห่งท้องสมุทรขั้วโลกใต้ ซึ่งในย่านทะเลรอสส์ มีปลาวาฬเพชฌฆาตสายพันธุ์นี้อยู่อาศัยถึงร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่ง ของปลาวาฬเพชฌฆาตสายพันธุ์ดังกล่าวที่พำนักอาศัยอยู่ตามท้องสมุทรต่างๆ ทั่วโลกเลยทีเดียว โดยในส่วนของปลาวาฬนี้ ยังมีสายพันธุ์มิงกีวาฬ อาศัยอยู่อีกร้อยละ 6 ด้วย นอกจากปลาวาฬ และวาฬเพชฌฆาตแล้ว ก็ยังมี "นกเพนกวินอาเดลี" อาศัยอยู่คิดเป็นร้อยละ 40 และ "นกเพนกวินจักรพรรดิ" อีกร้อยละ 25 ของจำนวนทั้งหมดทั่วโลก ที่อาศัยอยู่บริเวณท้องสมุทรแห่งนี้ ใช่แต่เท่านั้น ทะเลซึ่งตามชื่อ "เซอร์ เจมส์ คลาร์ก รอสส์" นักสำรวจดินแดน ผู้ค้นพบเมื่อ 175 ปีที่แล้ว ก็ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ประจำถิ่น คือ ทวีปแอนตาร์กติกา เช่น นกเพทริลแอนตาร์กติก มีจำนวนถึงร้อยละ 30 ทั้งนี้ การสถาปนาอุทยานทางทะเลข้างต้น ก็จะส่งผลทำให้เกิดการอนุรักษ์พิทักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลเหล่านั้นเป็นอาทิ คิดเป็นระยะเวลาถึง 35 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 นี้ เป็นต้นไปเพื่อให้ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ได้มีจังหวะเวลาขยายแพร่พันธุ์ของพวกเขา เรียกว่า ให้มีจังหวะเวลาได้หายใจ หายคอ กันบ้าง ก่อนที่พวกเขาจะร่อยหรอลงไป หรืออาจถึงขั้นสูญพันธ์ไปก็ได้ หากปล่อยปละละเลยไม่อนุรักษ์เอาไว้ โดยการสถาปนาจัดทำเป็นสมุทรอุทยานแล้ว ทางที่ประชุมก็ยังกำหนดให้จัดตั้ง "เขตศึกษาวิจัยทรัพยากรสิ่งมีชีวิตในน่านน้ำทะเลรอสส์" เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ ประดามีในพื้นที่แถบนั้นอีกด้วย ซึ่งนอกจากเป็นการศึกษาด้านชีวภาพแล้ว ก็ยังรวมถึงภูมิอากาศอีกด้วย ในฐานะที่บริเวณทวีปแห่งนี้ เป็นหนึ่งในพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" หรือ "ภาวะโลกร้อน" ที่นานาชาติ และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ให้ความสนใจด้วยความเป็นห่วงยิ่งอีกต่างหากด้วย อย่างไรก็ดี พื้นที่อุทยานดังกล่าว ก็ยังอนุญาตให้ชาวประมง จับปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ที่มีขนาดเล็ก เพื่อการทำมาหากินและการดำรงชีพได้ต่อไป โดยสัตว์น้ำที่ยังอนุญาตให้ทำประมง ได้แก่ ปลาฉนาก กุ้งตัวเล็ก หรือเคย เป็นอาทิ กล่าวถึงที่มาที่ไปของญัตติเรื่องการสถาปนาสมุทรอุทยานครั้งประวัติศาสตร์หนนี้ ก็เป็นการนำเสนอโดย "นิวซีแลนด์" และ "สหรัฐฯ" ที่ช่วยกันหยิบยกขึ้นสู่โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเอ็น เมื่อหลายปีก่อน แล้วดำเนินการเจรจามาเป็นระยะๆ แต่มาเข้มข้นขึ้นตลอดช่วง 5 ปีเป็นต้นมา ซึ่งที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่า รัสเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ คัดค้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซีย ต่อต้านอย่างรุนแรง ถึงขั้นฝ่ายต่างๆ ต้องระดมสนธิกำลังกดดันทางการทูตเพื่อให้ทางการมอสโก รัสเซีย ยินยอมตามความข้อตกลง ซึ่งผู้ที่ดำเนินการหนักกว่าใครเพื่อนก็เห็นจะเป็นรายของ "ลูอิส พั" ในฐานะผู้ทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางมหาสมุทรภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเอ็น โดยนายพัฟ ผู้นี้ ถึงขั้นลงทุนว่ายน้ำในทะเลรอสส์ ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวจัด ชนิดน้ำทะเลเป็นน้ำแข็งในบางช่วง เมื่อปี 2558 ก่อนหน้า เพื่อดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงของรัสเซีย และแล้ว ก็ปรากฏว่า การสะกิดเตือนของนายพัฟก็เป็นผล เมื่อทางประธานาธิบดีปูติน นิ่งอยู่ไม่ได้ ต้องเปิดไฟเขียวให้ตัวแทนชาติรัสเซีย ยกมือลงมติเห็นพ้องการตั้งอุทยานทางทะเล ในการประชุมที่โฮบาร์ตด้วย พร้อมกับประกาศลั่นวาจาให้ปี 2560 หรือ ค.ศ. 2017 นี้ เป็น "ปีแห่งนิเวศวิทยา" ของรัสเซียอีกต่างหากด้วย นอกเหนือจากเปิดไฟเขียว แสดงความเป็นอีกหนึ่งเสียงสำคัญ ในการสถาปนา "สมุทรอุทยาน" บนทะเลรอสส์ ความสำคัญของสมุทรอุทยานที่ถือกำเนิดเป็นปฐมข้างต้น ก็ยังจะได้เป็นต้นแบบให้หลายท้องน้ำทั่วโลก ถือเป็นแบบอย่างย่ำรอยเท้าตามมา โดยเบื้องต้นทางประธานาธิบดีปูตินก็ขานรับที่จะให้มีการจัดตั้งอุทยานทางทะเลย่านท้องน้ำ "ฟรานซ โจเซฟ แลนด์" ในปี 2560 นี้ด้วย อันเป็นเบิกฤกษ์ เปิดประเดิมย่านท้องน้ำของมหาสมุทรอาร์ติกขั้วโลกเหนือเป็นปฐม