รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล ช่วงหลังปี ค.ศ. 1800 (หรือ พ.ศ. 2343) ดนตรีแบบ Exotic เริ่มแพร่หลายและได้รับความนิยมในยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก มีการใช้รูปแบบของเพลงต่างชาติปะปนอยู่ในงานดนตรีคลาสสิคเป็นจำนวนมาก เช่นเพลงเต้นรำพื้นบ้านของสเปน ที่เรียกว่า “Bolero” หรือเพลง “Waltz” ที่มีต้นกำเนิดจากดินแดนเยอรมนี เป็นต้น สำเนียงดนตรีต่างชาติได้รับการนำมา “ดัดแปลง” ให้เข้ากับความเป็นดนตรีตะวันตก ทั้งดนตรีจากสก็อตแลนด์ (ที่ถือเป็นรัฐชายขอบขณะนั้น) ดนตรีจากตะวันออก เช่นญี่ปุ่น และ จีน ฯลฯ และถึงการ “ดัดแปลง” นั้นอาจมีพื้นฐานเดิมมาจากเสียงดนตรีของชนชาตินั้นๆ จริง แต่การเปลี่ยนรูปร่างของเสียงเพื่อให้สามารถเข้ากับดนตรีตะวันตก ย่อมทำให้ดนตรีเหล่านั้นผิดเพี้ยนและไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่มากก็น้อย และที่สำคัญ การสร้างเสียง Exotic แบบนี้ ยังลดทอนความหลากหลายของตัวดนตรีพื้นบ้านที่แท้จริงลงไป เช่น ทำให้ดนตรีแบบ “จีน” มีสำเนียงหรือเอกลักษณ์ที่เป็นไปอย่างดาดๆ และตื้นเขิน คือการใช้ตัวโน้ตแค่ห้าตัว เป็นต้น นอกจากนั้น ธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิงที่เริ่มก่อตัวขึ้นขณะนั้น ยังมีส่วนในการตอกย้ำให้ความสำคัญกับเพลงใดเพลงหนึ่งเป็นพิเศษ เพื่อผลกำไรในการจัดพิมพ์โน้ตที่คุ้มค่ามากขึ้น เช่น เพลงสเปนจำนวนกว่าพันเพลงที่ได้รับการเผยแพร่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แทบจะสูญหายไปทั้งหมดในวลาไม่นาน และยังคงเหลือได้รับความนิยมก็แต่เพลงที่ดังมากๆ 2-3 เพลงเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ฟังชาวยุโรปมักเข้าใจผิด ว่าดนตรีสเปนที่แท้จริงจะต้องมีบุคลิกแบบในเพลง 2-3 เพลงนี้เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง กรณีเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นกับดนตรีชาติอื่นๆ ด้วยอย่างไม่ต่างกัน ใน Musical Exoticism: Images and Reflections ของ Ralph P. Locke อธิบายความนิยมงาน Exotic ในยุโรปที่แพร่หลายมากขึ้นในช่วงนี้ว่า เกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น เกิดจากการใช้งานเสียงต่างชาติเหล่านี้ในงานโอเปร่าเพื่อดึงดูดความสนใจของคนดู เช่นเดียวกับในบัลเล่ต์ ละครร้องสลับพูด หรือในการแสดงตาโบล วิวองต์ (tableaux vivants) ฯลฯ อีกทั้งในช่วงนั้น เริ่มเกิดอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่แพร่หลายทั่วยุโรป ทำให้งานเหล่านี้ได้เดินทางแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปอย่างกว้างขวาง เกิดเป็นกระแสความนิยม และที่สำคัญ คือเกิดการศึกษาดนตรีพื้นบ้านอย่างจริงจัง มีการตีพิมพ์โน้ตเพลงพื้นบ้านรัสเซีย โดยนาย Lvov และ Prach มีการตีพิมพ์โน้ตเพลงของชาวอียิปต์ ฯลฯ ถือเป็นแหล่งข้อมูลให้นักแต่งเพลงในยุโรปได้ศึกษาและลอกเลียนแบบมาใช้งานอย่างสะดวก และยังเป็นช่วงเวลาที่ชาวยุโรปได้สัมผัสกับดนตรีต่างชาติเหล่านี้จริงๆ เป็นครั้งแรก ผ่านการแสดงของชนชาติต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาในยุโรป โดยเฉพาะในเทศกาลนานาชาติ ทั้งที่ลอนดอนและปารีส นอกจากนั้น กระแสความนิยมนี้ยังสอดคล้องกับประวัติศาสตร์การเมืองของยุโรปในขณะนั้น ซึ่งเกิดการขยายตัวของจักรวรรดิอย่างกว้างขวาง เหนือเขตปกครองอาณานิคม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในงานศิลปะ-วรรณกรรม มีการเผยแพร่ข้อมูลจากโลกอาณานิคมมากขึ้น และยังเชื่อมโยงกับกระแส “ชาตินิยม” ทางการเมืองและวัฒนธรรมที่เริ่มก่อตัวขึ้นในยุโรปขณะนั้นอย่างแนบแน่น ซึ่งประเด็นนี้เอง ที่ก่อให้เกิดปัญหาและความลักลั่นในการวิเคราะห์งาน Exotic เหล่านี้จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น นักแต่งเพลงคนสำคัญอย่างโชแปง ที่ลี้ภัยจากประเทศบ้านเกิดคือโปแลนด์มายังฝรั่งเศส มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงความเป็น “ชาวโปล” ตลอดชีวิต ผ่านรูปแบบเพลงของชาวโปล เช่น Polonaise และ Mazurka ด้วยความรู้สึกผูกพันกับบ้านเกิด Frédéric Chopin (1810-1849) โชแปงนิยามตัวตนและดนตรีที่เขียนขึ้นอย่างชัดเจนว่าเป็น “ชาตินิยมโปแลนด์” แต่ในความเป็นจริง ดนตรีโปแลนด์ที่ปรากฏขึ้นในฝรั่งเศสจะเป็นสิ่งอื่นไปได้อย่างไร นอกจากความ “Exotic” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “มาจากที่อื่น” ในที่นี้ เราจึงเห็นความลักลั่นระหว่างความเป็น “ชาตินิยม” กับความ “Exotic” ที่ดูเหมือนจะเลื่อนไหลไปมาได้ตลอดเวลา เช่น เมื่อนักดนตรีแต่งเพลงชาตินิยมขึ้นในประเทศของตนเอง แน่นอนว่านั่นย่อมถือว่ามันเป็นงาน “ชาตินิยม” แต่เพลงเดียวกันนั้นจะกลับกลายเป็นความ Exotic ทันที หากมันถูกนำไปบรรเลงยังต่างแดน นอกจากนั้น ยังเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมาก เมื่อนักวิชาการดนตรีหลายคนเห็นตรงกันว่า ดนตรีชาตินิยมโปแลนด์ของโชแปงนั้น แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ได้เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวโปแลนด์จริงๆ แต่อย่างใด แต่กลับเป็นเพลงในแบบที่นักแต่งเพลงชาวโปแลนด์ในเมือง “แต่งขึ้นใหม่” และนิยมบรรเลงเล่นในบ้านในห้องแสดงดนตรี ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับชนชั้นสูง และแน่นอนว่าโชแปงเองก็เป็นนักดนตรีที่มีพื้นฐานครอบครัวอยู่ในแวดวงชนชั้นสูงเหล่านั้น เช่นนี้แล้ว “ชาตินิยมโปแลนด์” แบบของโชแปง จึงไม่ได้ยึดโยงอยู่กับประชาชนชาวโปลที่แท้จริงแต่อย่างใด แต่กลับเป็นของที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่เสียมากกว่า