บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน ปีพุทธศักราช 2428 (จบ) 26 ตุลาคม 2428 ปราบฮ่อ พันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ผู้บังคับการกรม ทหารรักษาพระราชวัง เป็นแม่ทัพ กองทัพฝ่ายใต้ ไปปราบพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ โดยตั้งกองบัญชาการที่เมืองหนองคาย 3 พฤศจิกายน 2428 นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ผู้บังคับการกรมทหารม้า เป็นแม่ทัพกองทัพฝ่ายเหนือ (ซึ่งต่อมาคือ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้บัญชาการทหารบกคนแรก) ไปปราบพวกฮ่อในแคว้นหัวพันห้าทั้งหกได้ใช้เมืองซ่อนเป็นฐานปฏิบัติการ ซึ่งในการยกทัพไปครั้งนี้ พระวิภาคภูวดล (เจ้ากรมแผนที่คนแรก) ได้เขียนแผนที่แสดงพระราชอาณาเขตของไทย ทางภาคเหนือจนถึงแคว้นสิบสองจุไทย และได้มอบแผนที่ให้ นายพันเอกเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เพื่อเป็นหลักฐานกรณีโต้แย้งกับฝรั่งเศส อังกฤษยึดครองพม่าเป็นอาณานิคม โค่นล้มระบอบกษัตริย์ของพม่า บริษัทอีสต์อินดีส ของอังกฤษเข้ายึดอินเดียเป็นอาณานิคมใน ปีพ.ศ. 2401 บริษัท อีส อินเดียที่ได้รับสัมปทานผูกขาดการค้าตะวันออกจากรัฐบาลอังกฤษ ได้มีการค้าขายกับพม่า ต่อมาอังกฤษต้องการผลประโยชน์มากขึ้น ต้องการเอาพม่ามาเป็นอาณานิคมของตน ในวันที่ 19 พ.ย. 2428 อังกฤษได้บุกเข้าจับกุมตัว กษัตริย์สี่ปอมิน(ธีบอ) (เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า)ไว้ และในวันที่ 1 ม.ค. 2429 อังกฤษประกาศว่า ได้ทำการยึดดินแดนของพม่าไว้หมดแล้ว ซึ่งในตอนนั้นไม่ได้มีการรวมรัฐฉานของไทยใหญ่เข้าไปด้วย จนกระทั่งในเดือน มกราคม พ.ศ. 2430 อังกฤษถึงได้เดินทางเข้ามาในรัฐฉานและประกาศให้รัฐฉานเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ (Protectorate) ภายใต้การปกครองของอังกฤษนั้นมีการแบ่งแยกการปกครองและเงินงบประมาณของรัฐฉานและพม่าออกจากกันอย่างชัดเจน วางสายโทรเลขจากจำปาศักดิ์ ไปขุขันธ์และเสียมราฐ พ.ศ. 2428 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดทางสายโทรเลขตั้งแต่เมืองจำปาศักดิ์ ไปเมืองขุขันธ์ และจากเมืองขุขันธ์ถึงเมืองเสียมราช โดยพระยาอำมาตย์ข้าหลวงเมืองจำปาศักดิ์ ตั้งให้หลวงเสนีย์พิทักษ์ หลวงเทพนเรนทร์ หลวงโจมพินาศ หลวงนคร เป็นข้าหลวงไปเกณฑ์ราษฏรเมืองขุขันธ์ เมืองสังฆะบุรี ไปตัดทางสายโทรเลข ณ เมืองขุขันธ์ เมืองอุทุมพรพิสัย และเมืองมโนไพร โดยให้หลวงพิชัยชาญยุทธ เป็นข้าหลวงประจำ ณ เมืองมโนไพรด้วย ในขณะเดียวกัน พระมหาอำมาตย์ได้ให้ข้าหลวงศรีคชรินทร์ หลวงทรบริรักษ์ ยกบัตรเมืองมโนไพร ไปตรวจราชการอาณาเขตติดต่อกับเมืองกำปงสวาย ในเขตประเทศเขมร ในการบำรุงฝรั่งเศส ได้พบออกญาเสนาราชกุญเชน และออกญาแสนพรมเทพ ซึ่งได้อพยพครอบครัวมาอยู่ในพระราชอาณาเขตได้ 7-8 ปีแล้ว ทั้งสองร้องขอที่จะสมัครใจอยู่ในขอบขันฑ์สีมาจึงได้นำออกญาทั้งสองไปเมืองมโนไพร ให้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แล้วพระยาอำมาตย์มีตราจุลราชสีห์ แต่งตั้งให้ออกญาเสนาราชกุเชน เป็นพระภักดีสยามรัฐ นายกอง ให้ออกญาแสนพรหมเทพ เป็นหลวงสวัสดิ์จุมพล ปลัดกอง คุมญาติพี่น้องและบ่าวไพร่ ทำราชการขึ้นกับเมืองขุขันธ์ จึงทำให้เมืองขุขันธ์มีกองนอกเพิ่มอีกสองกอง แต่นั้นมา ในปีนี้ ทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพ แจ้งรัฐบาลไทยว่า ผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศส เมืองไซง่อน ประเทศญวณ ได้จัดทหารยกทัพทำศึกกับทัพองค์วรรตถาและองวรรตถาได้แตกหนีข้ามเขต ทหารฝรั่งเศสไม่ได้ติดตามเข้ามา จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้อง(สาร) ตราถึงเมืองขุขันธ์ คอยสืบจับองค์วรรตถา ตั้งโรงเรียนเทพศิรินทร์ โปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นและจัดตั้งขึ้นตามวัดต่างๆ ตามประเพณีนิยมของราษฎร โรงเรียนหลวงนี้ได้จัดตั้งขึ้นที่ “วัดมหรรณพาราม” เป็นแห่งแรก แล้วจึงแพร่หลายออกไปตามหัวเมืองทั่วๆ ไป โปรดให้ตั้งกรมศึกษาธิการ ขึ้นในปี พ.ศ. 2428 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ก่อตั้งเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2428 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จัดให้มีการสอบไล่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2431 ต่อมาในปี พ.ศ. 2433 ได้มีการปฏิวัติแบบเรียน โดยให้เลิกสอนตามแบบเรียน 6 กลุ่ม มีมูลบทบรรพกิจเป็นต้น ของพระยาศรีสุนทรโวหาร มาใช้แบบเรียนเร็วของกรมพระยาดำรงราชานุภาพแทน ในที่สุดได้โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น จัดการศึกษาและการศาสนาขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2435 การศึกษาก็เจริญก้าวหน้าสืบมาโดยลำดับ