อ.ส.ค. เจ๋ง !! คิดค้นนวัตกรรมน้ำเชื้อคัดเพศเพิ่มโอกาสได้ลูกโคนมตัวเมียกว่า70 % จับมือ ม.แม่โจ้ ขยายผลสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ ทำโครงการนำร่องกว่า 3,000 โด๊ส พร้อมส่งมอบน้ำเชื้อแช่แข็งแก่ภูฏาน - พม่ารวมกว่า 10,000 โด๊ส เพื่อการปรับปรุงพันธุ์โคนม ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า เนื่องจากการใช้น้ำเชื้อแช่แข็งผสมเทียมโคนมในปัจจุบัน โอกาสที่เกษตรกรจะได้ลูกโคเพศเมียมีเพียง 50% เท่านั้น อ.ส.ค.จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เร่งขยายผลต่อยอดน้ำเชื้อแช่แข็งที่ อ.ส.ค.ผลิตได้นำเข้าสู่กระบวนการคัดเพศเมีย (Sexing Semen) ด้วยปฏิกิริยาไซโตทอกซิคซิตี้ แล้วนำไปผสมเทียมในแม่โคนมของเกษตรกรทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2560 นี้ มีเป้าหมายนำร่องกว่า 3,000 โด๊ส ทำให้เกษตรกรมีโอกาสที่จะได้ลูกโคเพศเมียเพิ่มสูงขึ้นถึง 70% ถือเป็นความต้องการของผู้เลี้ยงโคนมที่จะเพิ่มจำนวนแม่พันธุ์ภายในฟาร์ม และเป็นโอกาสในการสร้างผลกำไร อนาคตได้ตั้งเป้าขยายผลการใช้น้ำเชื้อแช่แข็งโคนมที่ผ่านการคัดเพศเมียไม่ต่ำกว่า 50,000 โด๊ส ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า ขณะเดียวกัน อ.ส.ค.ยังได้ส่งมอบน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคนมที่มีศักยภาพสูงของ อ.ส.ค.ให้กับราชอาณาจักรภูฏาน จำนวน 2,000 โด๊ส ให้นำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์โคนมของภูฏาน ซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงโคนมพันธุ์เจอร์ซี่และโคนมพันธุ์พื้นเมือง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบมากขึ้นพร้อมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ภูฏาน และยังส่งมอบน้ำเชื้อแช่แข็งที่ผ่านการพิสูจน์แล้วให้กับประเทศพม่าอีกกว่า 10,000 โด๊สด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูลการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการสนับสนุนน้ำเชื้อแช่แข็งโคนมระหว่างภูมิภาค คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงพันธุ์โคนม และทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น “ปัจจุบันพ่อพันธุ์โคนมของ อ.ส.ค. ถือว่ามีศักยภาพสูงและมีชื่อเสียงมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย และพม่า เป็นต้น ปีนี้ อ.ส.ค.ได้ประเมินความสามารถทางพันธุกรรมโคนม โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูล 3 แหล่ง ได้แก่ ข้อมูลสมรรถภาพการผลิต พันธุ์ประวัติ และจีโนไทป์ เพื่อประเมินค่าการผสมพันธุ์จีโนมขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งผลการประเมินพบว่า พ่อพันธุ์โคนมที่มีความสามารถทางพันธุกรรมเป็นเลิศลำดับที่หนึ่งในกลุ่มที่มีความแม่นยำสูงกว่า 50% เป็นพ่อพันธุ์โคนมพันธุ์แท้โฮลสไตน์ ชื่อ แพดดี้ (Paddy; 7HO10315; 100%HF) ซึ่งมีค่าการผสมพันธุ์จีโนม +711 กิโลกรัม และแม่พันธุ์โคนมลูกผสมหมายเลข ADW5351 มีค่าการผสมพันธุ์ จีโนม +946 กิโลกรัม เป็นเทคนิคที่ใช้ประเมินความสามารถการถ่ายทอดทางพันธุกรรมโคนมได้รวดเร็วขึ้น” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ปีนี้ อ.ส.ค.สามารถผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งจากพ่อพันธุ์โคนมของ อ.ส.ค.ได้ จำนวน 120,000โด๊ส จำหน่ายให้กับสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนำไปใช้ผสมเทียม ราคาเฉลี่ย 80-120 บาท/โด๊ส ซึ่งถูกกว่าน้ำเชื้อที่นำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบัน อ.ส.ค.ได้มีแผนขยายโรงเรือนและสร้างคอกพ่อพันธุ์ โคนมเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 20 ตัว คาดว่า จะสามารถเพิ่มกำลังผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งได้ถึง 2 เท่า โดยปี 2562 คาดว่าจะสามารถผลิตไม่ต่ำกว่า 250,000 โด๊ส เพื่อรองรับความต้องการของผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศที่ต้องการใช้น้ำเชื้อแช่แข็งของ อ.ส.ค.เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมรองรับการส่งออกน้ำเชื้อแช่แข็งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย