รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล ภาพข่าวหรืองานศิลปะ ? : รูปเงาแห่งเสียง ข่าวใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องเหตุการณ์สังหารทูตรัสเซียที่ตุรกี ที่ผู้ก่อเหตุกระทำการอย่างอุกอาจในแกลเลอรีแสดงภาพต่อหน้าผู้ร่วมงานจำนวนมาก ตามข่าว เหตุการณ์นี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง และผู้ก่อเหตุก็จงใจส่งสาส์นดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วยการตะโกนสรรเสริญพระอัลเลาะห์ หลังจากที่ลั่นกระสุนปืนสังหารเป้าหมายท่ามกลางความตระหนกตกใจของผู้ได้พบเห็น ที่น่าสนใจคือ หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพการสังหารในเว็บไซต์ข่าวหลายแห่งบนอินเตอร์เน็ต ปรากฏว่ามีผู้คนจำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า ภาพการสังหารนี้ช่างดูละม้ายคล้ายคลึงกับโปสเตอร์ภาพยนตร์ หรือกระทั่งเหมือนกับฉากสังหารในภาพยนตร์แอ็คชั่นที่คุ้นตาเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เกิดการนำภาพนี้ไปทำซ้ำในรูปแบบหลากหลาย เช่น ใส่ตัวหนังสือ และภาพสัญลักษณ์รางวัลต่างๆ เข้าไปในภาพให้ดูเหมือนกับว่าเป็นใบปิดโฆษณาภาพยนตร์จริงๆ ขณะบางคนตั้งข้อสังเกตว่าทั้งภาพที่ปรากฏ และการกระทำของมือปืนที่เลือกลงมือในแกลเลอรี ไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ และช่างคลับคล้ายกับวิธีการสร้างงานศิลปะในแบบสมัยใหม่อย่างยิ่ง ที่มักทำให้เส้นพรมแดนระหว่าง “ศิลปะ” และ “ความจริง” พร่าเลือนหายไป จนเกิดคำถามขึ้นว่า ภาพข่าวของมือสังหารคนนี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียง “ภาพข่าว” หรือว่าเป็นงาน “ศิลปะ” ชิ้นหนึ่งกันแน่ เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงกรณีวินาศกรรม 9/11 เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญระดับโลก และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึงเกือบ 3,000 คน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นักแต่งเพลงร่วมสมัยชื่อดัง คือ ชต็อคเฮาเซน (Karlheinz Staockhausen) กล่าวว่า เป็น “งานศิลปะชิ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล” และแน่นอนว่าด้วยคำกล่าวนี้ ชต็อคเฮาเซนจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะอย่างหนักหน่วง โดยข้อหาสำคัญคือชต็อคเฮาเซนกำลังดูหมิ่นผู้ที่สูญเสียชีวิตไปกับโศกนาฏกรรมในครั้งนั้น ทำให้ชต็อคเฮาเซนต้องออกมาแถลง ว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอนั้นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของคำพูดของเขา และเขาเองไม่เคยมีเจตนาที่จะดูหมิ่นเหยียดหยามชีวิตของใครเลย เพราะในความเป็นจริง ชต็อคเฮาเซนกำลังมองปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยลบสถานะและเส้นแบ่งระหว่างความเป็นศิลปะและเรื่องจริงออกไป นั่นคือสิ่งที่สุนทรียศาสตร์ตะวันตกรับรู้ในนามของ “Sublime” ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์พิเศษ หมายถึงความรู้สึกที่มนุษย์มีเมื่อต้องเผชิญกับความยิ่งใหญ่ไพศาลของธรรมชาติ เช่นความมืดสุดหยั่งของห้วงเหวลึก ความกว้างใหญ่ไพศาลของท้องนภา ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้ มีอยู่ทั้งในธรรมชาติ และในงานศิลปะ และสามารถสร้างทั้งความรู้สึกหวาดกลัว และชื่นชมได้ในขณะเดียวกัน ดังนั้นเอง ภาพและวีดีโอของเหตุการณ์ 9/11 จึงมี Sublime ที่ทำให้ผู้ได้รับชมเกิดความรู้สึกที่หวาดหวั่น แต่ในขณะเดียวกันก็ตื่นเต้นเร้าใจ ไม่ผิดไปจากภาพเขียนชั้นเยี่ยม หรืองานประติมากรรมที่ทรงพลังต่างๆ แต่อย่างใด และแน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่ผู้ก่อการร้ายคาดหวัง พวกเขาเห็นตึกเวิร์ดเทรดเป็นเวทีสำหรับการแสดงโชว์ และสร้างงานศิลปะชิ้นใหญ่ขึ้นมา เพื่อสะกดผู้ที่ได้พบเห็นให้บังเกิดความหวาดกลัว ผ่าน Sublime ของภาพเหตุการณ์สยดสยองนั้น สำหรับกรณีสังหารทูตรัสเซียที่ตุรกีก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมือสังหารเลือกลงมือในแกลเลอรีแสดงภาพ ส่งผลให้เหตุการณ์จริง กลายสภาพเป็นสิ่งที่ล่อแหลมกำกวม ระหว่างงานศิลปะกับภาพข่าว และเอื้อให้ Sublime ที่เกิดขึ้น ทำงานได้อย่างหลากหลายแนวทาง และแน่นอนว่าสุดท้ายแล้ว คำถามที่ว่าภาพข่าวนี้เป็นงานศิลปะหรือไม่? ย่อมเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบเพียงหนึ่งเดียว เพราะนั่นย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ตอบ และเป็นคำถามว่าด้วยการนิยามว่า “ศิลปะคืออะไร?” ซึ่งเป็นคำถามที่ดำรงอยู่มายาวนานแล้วนั่นเอง