บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน "ชิต บุรทัต" ปากบอน อินทรวิเชียรฉันท์ 11 ปากบอนเถอะกูรู้ หละก็กูจะตบมึง เรื่องนั้นจะดันดึง และแดะแด๋เพราะเดือดดาล รู้เห็นอะไรหน่อย สิจะพลอยเผยอขาน เลือกแส่จะรังควาน เอะอะอึงตะบึงไป ถ้าหนักกบาลมึง จะทะลึ่งก็ตามใจ นี่เล่าก็เปล่าใย เสาะแสะเสือกมิเห็นสม เรื่องกูก็เรื่องกู ผิวะรู้ก็ควรอม อย่าคายระบายลม เหลาะแหละให้กะใครฟัง ก่อนมึงก็มีคาว ระบุฉาวกระฉ่อนดัง กูสู้สงบบัง มิแคะไค้กะใครเลย หากกูมิช่วยดับ จะระงับกระไรเหวย ป่านนี้นะคงเผย กระจะหมดกระจ่างเมือง เรื่องใดก็ดีกู เจอะแล้วรู้แน่ะเนืองเนือง แม้นขุ่นและครุ่นเคือง ก็มิคิดจะไขขาน เรื่องใครก็เรื่องใคร เกาะแกะไยแฮ่ะป่วยการ มีงานประกอบงาน เฉพาะตนก็เย็นใจ เรื่องกูกระนี้มึง สะเออะอึงกะใครใคร เป็นไรก็เป็นไป เถอะจะตบมินับหน แก้ปากกะเยอคัน มิฉะนั้นจะเคยตน ต่อไปอะไรดล ก็จะแดงเพราะมึงบอน ๐ คำฉันท์บท “ปากบอน” โดย “แมวคราว” (ชิต บุรทัต) ลงพิมพ์ครั้งแรกที่ หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม (ข้อมูลจากหนังสือ “ปากกาบางกอก รวมเรื่องหลากรสจากนักเขียนที่รู้จักกันดี” รวมนักเขียน/อาจิณ จันทรัมพร บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2545, 392 หน้า) อ่านคำฉันท์บทนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ? คำฉันท์นั้นเขียนด้วยคำศัพท์ไทยพื้นๆ ก็ไพเราะได้ การสร้างสรรค์แบบนี้ กวี “ชิต บุรทัต” นับเป็นผู้บุกเบิก.... มีเรื่องที่สมควรกล่าวถึงคือ เรื่องหนังสือพิมพ์รายปักษ์ “ประตูใหม่” อันเป็นเวทีให้กวีร่วมสมัยได้แสดงฝีมือประชันกัน และก็มีรางวัลเป็นรายได้ดีเสียด้วย “ชิต บุรทัต” ขณะเป็นพระภิกษุอยู่ ส่งบทกวีลงใน “ประตูใหม่” ได้รางวัลบ่อยๆ เรื่องนี้น่าจะทำให้ “ชิต บุรทัต” มั่นใจว่าหากสึกหาลาเพศจากภิกษุแล้ว น่าจะทำมาหากินเขียนหนังสือเลี้ยงชีพได้ หนังสือรายปักษ์ “ประตูใหม่” ก่อตั้งใน พ.ศ. 2452 เจ้าของและบรรณาธิการคือ ขุนสารัตถ์ธุรธำรง (วอน โกมลเมนะ) ต่อมาได้เป็น “หลวงพรหมประกาศ” หนังสือประตูใหม่หนักไปในเรื่องกวีนิพนธ์มีโคลง-ฉันท์-กาพย์-กลอน-ร่าย-ดอกสร้อย-สักวา ฯลฯ ใครจะแต่งเข้าประกวดได้ทั้งนั้น อัตรารางวัลหนังสือนี้ควรทราบไว้บ้าง โดยมีอยู่ 3 รางวัล รางวัลที่ 1 เงิน 1 บาท ประตูใหม่ 1 เล่ม รางวัลที่ 2 เงิน 50 สตางค์ประตูใหม่ 1 เล่ม รางวัลที่ 3 ประตูใหม่ 1 เล่ม และยังมีรางวัลชมเชยอีกหลายรางวัล วรรณคดีคำฉันท์ที่ไพเราะมาก แต่ไม่แพร่หลาย หาอ่านยาก เช่นบทฉันท์กล่อมช้างสวรรค์ ก็ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ “ประตูใหม่” บทฉันท์กล่อมช้างสวรรค์ ตอนบูชาไหว้ครูเชิญเทพเจ้ามาประชุมในโรงพิธี (เป็นกาพย์ฉบับ 16) และตอนสอนพระเสตรให้ลืมป่าดงพงไพร (เป็นวสันตดิลกฉันท์) กับตอนชมกรุงเทพฯ เหมือนสวรรค์พิมานลอยอยู่บนอัมพร (เป็นอินทรวิเชียรฉันท์) นั้น อุปมาลีลาโวหารกวีไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ ฉันท์เฉลิมพระเกียรติชมงานพระเมรุท้องสนามหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ไพเราะมาก มีการชมพระบรมโกษฐ์และชมพระเมรุบรรจุเนื้อความรสกวีไว้มากมาย ล้วนน่าสดับตรับฟังทั้งนั้น นับว่าเอกยอดเยี่ยมทีเดียว “ไม่เฉพาะแต่มวลสมาชิกประชาชนหรือในหมู่กวีเท่านั้นที่นิยม แม้แต่พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าก็ทรงชื่นชมเหมือนกัน ถึงทรงออกพระโอษฐ์ตรัสว่า “สามเณรชิต เชิงประพันธ์บทกวีมีเชาวนปฏิภาณดีมาก... ถ้าเป็นฆราวาสได้อยู่กรมอาลักษณ์ที่พระยาศรีสุนทรโวหารเหมาะสม แต่ต้องได้เป็นเปรียญ 3 ประโยคก่อน” พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ ชิต บุรทัตก็ทราบเหมือนกัน” (จาก สวนหนังสือ ประวัติชิต บุรทัต กวีเอก โดย ชัชวาล อู่ทรัพย์) สำหรับการได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “บุรทัต” นั้น มีข้อมูลว่า (จากหนังสือ “ชิต บุรทัต ; พิมพ์แจกในงานปลงศพ เมื่อปี พ.ศ. 2485) “การได้แต่งกาพย์ปลุกใจส่งไปให้หนังสือพิมพ์ “สมุทสาร” ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทอดพระเนตรในฐานะทรงเป็นผู้อำนวยการ จึงได้โปรดปรานเป็นอันมาก โปรดฯ ให้รับลงพิมพ์พร้อมด้วยดำรัสสั่งให้ขอรูปผู้แต่งมาลงประกอบด้วย นับว่าชิตเป็นบุคคลภายนอกคนแรกที่ สมุทสาร รับเรื่องลงพิมพ์ ในหน้าหนังสืออันนับถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นสูงยุคนั้น บทประพันธ์ของชิต พร้อมรูปถ่ายที่ลงพิมพ์มีข้อความดังนี้ “เกิดเป็นคนไทย ทั้งใจและนาม ทั้งสองปองความ หมายคงตรงกัน ชื่อตนคนไทย แต่ใจเหหัน เป็นอื่นพื้นพรรค์ พาลโหดโฉดเขลา หมายความนามไทย คือใช่ข้าทาส ไป่มีใครอาจ ลบหลู่ดูเบา ยืนยงคงทน มากลานานเนา ควรที่ชาวเรา ตรองตรึกนึกดู” เมื่อพระยาธนกิจรักษา ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยเข้าเฝ้าในวันหนึ่ง ก็มีพระราชดำรัสถึงกวีชิต ผู้ประพันธ์บทปลุกใจนี้ แล้วตรัสว่า “ให้มันขอนามสกุลมา ข้าจะให้” ชิตจึงเขียนประวัติของสกุลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานนามสกุล ในชั่วเลา ไม่นานก็ได้รับพระราชทานนามสกุล เมื่อต้น พ.ศ. 2459 ในพระราชหัตถเลขามีข้อความว่า “ขอให้นามสกุลนายชิต ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย ตามที่ขอมานั้นว่า ‘บุรทัต’ อันเป็นมงคลนาม ฯลฯ”