โดย“ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ” นักกฎหมายเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน จากเหตุการณ์รถตู้โดยสารสาธารณะกรุงเทพฯ-จันทบุรี เกิดอุบัติเหตุชนกับรถกระบะเมื่อวันที่ 2 ม.ค.60 ที่ผ่าน เป็นรถตู้ร่วมกับบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นของ หจก.พลอยหยก (มีรถตู้บริการทั้งหมด 18 คัน) อุบัติเหตุครั้งนี้ได้พรากชีวิตมีผู้คนไป 25 คน บาดเจ็บอีก 2 คน จากรายงานข่าวเป็นที่น่าสังเกตว่า พนักงานขับรถตู้ ได้ขับรถตู้ในวันที่ 1 ม.ค.60 เที่ยวแรกออกจากจันทบุรี เวลา 04.00 น. เที่ยวสองออกจากกรุงเทพ เวลา 11.30 น. และเที่ยวสามออกจากจันทบุรี เวลา 18.00 น. ถึงกรุงเทพ เวลา 22.30 น. และวันที่ 2 ม.ค.60 เที่ยวแรกออกจากกรุงเทพฯ เวลา 05.00 น. และเที่ยวที่สอง ออกจากจันทบุรี เวลา 11.30 น.กระทั่งมาประสบอุบัติเหตุ จากปัญหานี้จึงมิใช่เพียงปัญหาของความของการขับรถโดยประมาทแล้วส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุด้วยสาเหตุมาจากคนขับรถตู้โดยสารสาธารณะพักผ่อนไม่เพียงพอต้องขับรถรับส่งผู้โดยสารต่อเนื่องติดต่อกันเท่านั้น หากมองเพียงปัญหานี้หลังจากนั้นนายทุนเจ้าของรถตู้เดินรถร่วมก็แสดงการไถ่บาปด้วยการยกภาระทั้งหมดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทาญาติผู้เสียชีวิต โดยไม่แยแสต่อความรู้สึกของทาญาติและประชาชน หวังอย่างเดียวให้คดีความทั้งหลายจบๆกันจะได้ทำธุรกิจกันต่อไป ส่วนบริษัทประกันภัยก็รับรู้กันอยู่ว่ามีคติประจำใจในการทำการค้าคือ “จ่ายให้น้อยที่สุดและยืดเวลาจ่ายให้นานที่สุด” นี่คือวิธีคิดของนายทุนผู้ประกอบการที่มักจะคิดกันเพียงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการชดเชยชีวิตด้วยเงินตราเสมอมา ขณะที่ฝ่ายผู้สูญเสียมักเสียเปรียบในการเจรจาต่อรองจะต้องนั่งระทมทุกข์น้ำตาหลั่งนองกันต่อไป ความเป็นจริงแล้วการเกิดกรณีอุบัติเหตุจากรถสาธารณะไม่ว่าเป็นรถประเภทใดทั้งจากผู้ประกอบการภาครัฐหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน เรามักมีเพียงมุมมองของการประมาทเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่หมักหมมเหล่านี้ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันพิจารณาหลายแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีต่อกันระหว่างระหว่างผู้ประกอบการกับคนขับรถตู้สาธารณะ และรัฐกับผู้ประกอบการ จากอุบัติเหตุในครั้งนี้เราจะเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสองมิติ กล่าวคือ มิติแรกเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง หจก.พลอยหยก ในฐานะผู้ประกอบการ กับพนักงานขับรถตู้ ในการใช้แรงงานเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออาจต้องพิจารณาไปถึงมีการใช้แรงงานจนถึงขนาดเข้าข่ายกรณีการค้ามนุษย์ด้วย ทั้งนี้หากพิจารณาจากหลักการพื้นฐานของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2542 และมีผลใช้บังคับกับไทยนับแต่วันที่ 5 ธ.ค.2542 นั้น ตามหลักการมีการรับรองศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิดและสิทธิที่เท่าเทียมกัน ไม่อาจเพิกถอนได้ ซึ่งเป็นรากฐานของเสรีภาพ และความยุติธรรม ซึ่งจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อรัฐภาคีได้สร้างสภาวะที่ทุกคนในชาติได้รับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของตนแล้วเท่านั้น ทั้งนี้โดยเฉพาะ ข้อ ๗ ของกติกาฯที่ไทยได้ให้การรับรองสิทธิในการทำงานของแรงงานเพื่อให้มีสภาพการทำงานที่เป็นธรรม ยุติธรรม มีความน่าพึงพอใจ และปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง รวมทั้งมีค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่ากัน มีการพักผ่อน มีเวลาว่าง และจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังมีสิทธิในสวัสดิการสังคม และการประกันสังคมที่ทั่วถึง ซึ่งกติกาดังกล่าวนี้ ถือได้ว่าเป็นการกำหนดมาตรการกลางด้านแรงงานเพื่อปกป้อง คุ้มครองแรงงานต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากผู้ประกอบการ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของมนุษย์ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการทำงานอย่างเท่าเทียม ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอย่างเหมาะสมเป็นธรรม จากเงื่อนไขข้อกำหนดของกติกาในการทำงานที่กล่าวมา กับข้อเท็จจริงของการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ ทำให้มองได้ว่าพนักงานขับรถตู้สาธารณะขับรถไปมาระหว่างกรุงเทพ จันทบุรี ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานภายใต้สภาพงานที่ไม่ปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและต่อสาธารณะ ดูห้วงเวลาแล้วคนขับรถตู้ต้องทำหน้าที่ขับรถทางไกลไปกลับถึง 5 รอบ ในช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 31 ชม.เกินกว่าร่างกายมนุษย์จะรับได้ กระทั่งพักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการเองก็รับรู้แต่ไม่ได้รับการห้ามปราบหรือทัดทาน เพราะหากหยุดไปอาจทำให้รายได้ลดลง และอาจปฏิบัติผิดเงื่อนไขสัญญากับบริษัทขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้อนุญาตให้จัดหารถร่วมเข้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารเป็นเหตุให้บอกเลิกสัญญาได้ นอกจากนั้น เรื่องค่าตอบแทน ค่าจ้าง วันหยุด หรือสวัสดิการสังคม ระหว่างคนขับรถตู้สาธารณะของ หจก.พลอยหยก กับคนขับรถของบริษัทขนส่ง จำกัด ในการทำหน้าที่ขับรถสาธารณะเส้นทางเดี่ยวกันอาจมีความแตกต่างกันมากจึงทำให้คนขับรถตู้ต้องยอมอดหลับอดนอนเพื่อจะได้ส่วนแบ่งจากจำนวนรอบให้มากขึ้น เป็นเงื่อนไขของการทำงานและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ผู้ประกอบการมีเหนือคนขับรถ ที่ได้สร้างสิ่งเย้ายวนใจขึ้นมาหากคนขับต้องการรายได้สูงขึ้นก็ต้องทำงานขับรถให้มากรอบขึ้น คนขับรถจึงทำงานภายใต้ความอยากได้รางวัลจากผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้ประกอบการได้รายได้ที่สูงขึ้นด้วย ทั้งสองฝ่ายมีรายได้เพิ่มขึ้นบริษัทขนส่ง จำกัด ก็ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น โดยมิได้คำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นการจ้างทำงานภายใต้เงื่อนไขที่ปราศจากการควบคุม และไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เป็นงานที่ไม่มีสวัสดิการ หรือการคุ้มครองด้านสวัสดิการสังคม และถือเป็นการทำงานที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่าผู้ประกอบการที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่า กับคนขับรถตู้ ผู้ใช้แรงงานที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจด้อยกว่ากระทั่งถึงขนาดไม่มีอำนาจเหล่านี้เลย จนต้องยินยอมอดทนฝืนสมรรถนะร่างกายตนด้วยสิ่งล่อใจจากผู้ประกอบการเพียงน้อยนิดแล้วยินยอมให้เขาละเมิดสิทธิตน กรณีดังกล่าวนี้พอสรุปสาระสำคัญของการประกอบธุรกิจรถตู้โดยสารสาธารณะกับสิทธิมนุษยชนได้ว่าผู้ประกอบการมีพฤติกรรมละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยการเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงานจากคนขับรถตู้สาธารณะ จนพักผ่อนอย่างไม่เพียงพอ มีการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานโดยไม่เป็นธรรม เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน มิติที่สองเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบริษัทขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้อนุญาตให้ หจก.พลอยหยก เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะในการรับส่งผู้โดยสาร จึงเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับเอกชนในระบบห่วงโซ่การให้บริการสาธารณะ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าบริษัทขนส่ง จำกัด คือองคาพยพของรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานทั้งในฐานะของการเป็นผู้ประกอบการเองที่มีแรงงานในสังกัดจะต้องไม่กระทำการใดๆที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ขณะเดียวกันในฐานะเป็นผู้อนุญาตให้มีรถเข้าร่วมบริการจึงเป็นผู้ควบคุมกลไกของห่วงโซ่การให้บริการสาธารณะ ที่ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบ สอดส่องดูแลมิให้เจ้าของกิจการรถร่วมใช้แรงงานคนขับรถด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้มีการล่วงละเมิดสิทธิแรงงานของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน เพียงเพราะคิดว่าจะไม่ถูกตรวจสอบหรือถูกดำเนินคดี ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏตามสื่อ ที่คนขับรถตู้รายนี้มิได้นำรถตู้เข้ารับผู้โดยสารในบริเวณที่บริษัทขนส่ง จำกัด กำหนดแต่สามารถวิ่งไปกลับทางไกลได้ถึง 5 รอบ ถือเป็นสภาพการทำงานที่ต้องเสียงต่ออันตรายทางด้านกายภาพ อาจอันตรายถึงชีวิต พิการและบาดเจ็บ รวมทั้งอันตรายทางกายศาสตร์ มีปัญหาในการปวดเมื่อยร่างกายที่เกิดขึ้นจากท่านั่งในการขับรถยาวนานเกินไปไม่มีเวลาหยุดพัก ตามที่กล่าวมาคือธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่ผู้ประกอบการมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันภาครัฐมีจุดอ่อนต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหา ทำให้การประกอบธุรกิจกระทบต่อชีวิตของผู้คน กระทบต่อสาธารณะ และที่สำคัญกระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคม ดังนั้น อุบัติเหตุจากรถตู้ร่วมโดยสารสาธารณะที่พรากชีวิตผู้คนไปมากมายครั้งนี้ บริษัทขนส่ง จำกัด ในฐานะของรัฐ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบใดๆ ได้ และที่สำคัญอาจเข้าข่ายมีพฤติกรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานตามรอยผู้ประกอบการในระบบห่วงโซ่อุปทานในการจัดทำบริการสาธารณะไปด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าภาครัฐที่ควรแสดงบทบาทนำ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบหลัก และเป็นตัวอย่างที่ดีในการปกป้องสิทธิมนุษยชน กลับปล่อยปละละเลยไม่ได้ควบคุมให้ หจก. พลอยหยก ในฐานะผู้ประกอบการในกลไกห่วงโซ่การจัดทำบริการสาธารณะปฏิบัติต่อคนขับรถให้เป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในการคุ้มครองแรงงานจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจ เป็นการสะท้อนได้อย่างหนึ่งว่ากลไกของรัฐยังไม่ตระหนักต่อหลักสิทธิมนุษยชน..