ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] นายผาย สร้อยสระกลางน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินชีวิต(2) เท่าที่สัมผัสมาผู้ที่ชาวชุมชนชาวบ้านยกย่องยอมรับว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านไปจนถึงปราชญ์แผ่นดินจะเป็นผู้ที่น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไปปฏิบัติกับการดำเนินชีวิตตัวเอง คือเป็นผู้ที่เดินรอยตามพระองค์ท่าน แล้วขยายผลสู่คนอื่น จึงทำให้มีมุมมองภาพของคำว่าปราชญ์เปลี่ยนไป ทำให้เข้าใจว่าปราชญ์น่าจะมีหลากหลายรูปแบบ สุดแต่ที่เราจะนิยามคนนั้นๆ ว่าเป็นปราชญ์แบบไหนหรือด้านใด ก็เช่นลูกชาวนาอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษทำเกษตรกรรม ที่มีความสามารถและความรู้ในด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก ถึงแม้เขาจะไม่มีความรู้ด้านทฤษฎีเท่ากับคนที่เรียนมาก แต่คนผู้นั้นมีความรู้ด้านการปฏิบัติและประสบการณ์มากกว่าคนที่เรียนมาหลายเท่า กว่าเขาจะมาเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดินในเรื่องเกษตรกรรมได้นั้น เขาจะต้องลำบากเพียงใดจนมีทุกวันนี้ ถึงจะสัมผัสวิถีชีวิตบุคคลนั้นแม้เพียงช่วงสั้นๆก็สรุปเลยว่าถ้าปราศจากความมุมานะความขยันหมั่นเพียร ความอดทนในด้านการทำงานของตัวเองแล้ว คงไม่ประสบความสำเร็จใดๆ ได้เลย จะว่าไปแล้วการดำเนินชีวิตของแต่ละผู้คน การประกอบอาชีพต่างๆคนส่วนใหญ่ต้องเจออุปสรรคขวากหนามมามาก อย่างปราชญ์ที่ไปสัมผัสชีวิตมานี้ก็เช่นกัน ที่ท่านเล่าให้ฟังเองนั้น แล้วก็คนรอบข้างพูดถึงด้วย ชีวิตนับแต่รุ่นเริ่มทำงานตั้งแต่อยู่ในวัยเยาวชน ผ่านรุ่นหนุ่มสาว มาจนถึงวันนี้วัยเกิน 80 ปีแล้วตกระกำลำบากผ่านอุปสรรคขวากหนามมาตลอดไม่ได้เดินไปบนเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบเลย แต่ทำไมเขาถึงเดินหน้าต่อไปแม้มีเสียงผู้คนอื่นคัดค้านการทำของเขา เพราะทำแล้วพลั้งพลาดล้มลุกคลุกคลาน ไม่ท้อลุกแล้วเดินต่อไปจนประสบความสำเร็จ ทำให้ผมผู้เขียนได้คิดว่าอุปสรรคก่อให้ความสำเร็จบังเกิดขึ้นได้แค่เพียงเขาเข้าใจ ยอมรับปรับปรุงแก้ไขพร้อมเดินหน้าสู้ต่อไปบนรากฐานความขยัน อดทน กำลังย้ำว่าคนที่ไปชีวิตมาก็ที่เกริ่นมายืดยาวข้างต้นพ่อผาย สร้อยสระกลาง แห่งอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์นั่นเอง คนที่อยู่ในวัยเกิน 80 แล้วทางอีสานมักเรียกขานว่า “พ่อใหญ่” ย้ำว่าพ่อผายยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานหลักไว้ว่าต้องขยัน อดทน อดออม ไม่โลภมาก พึ่งพาอาศัยกัน แบ่งปันกัน รักสามัคคีกัน มีความมานะพยายามคนเราถ้าหากปราศจากความพยายามต่อให้เก่งสักเท่าไหร่ก็พบคำว่าสำเร็จยาก หรือสำเร็จได้ก็ไม่ยั่งยืน ที่จริงพ่อผายไม่เคยไม่บอกว่าหลายช่วงตอนก็ล้มบ้างลุกบ้าง แต่กาลเวลาสอนให้อดทน ยึดคำที่ผู้ใหญ่สอนคนระยะทางพิสูจน์ม้ากาลเวลาพิสูจน์คน พ่อผายยึดถือตามคำสอนผู้เฒ่าผู้แก่ ยึดแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม้ท้อไม่ถอย มีความขยันเป็นที่ตั้ง มีความมานะพยายาม รู้จักศึกษาค้นคว้าเอาความผิดพลาดมาเป็นครู มีโอกาสไปเยือนพ่อผาย สร้อยสระกลางปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรกรรม ทำนาเป็นหลัก พื้นที่ที่ปลูกบ้านอยู่อาศัยที่เหลือก็ทำเกษตรแต่ยึดวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ แหล่งน้ำปัจจัยหลักที่พ่อผายให้ความสำคัญเป็นเบื้องต้นแหล่งน้ำเยอะๆ ตามมาด้วยป่าไม้นานพันธุ์มีพืชพันธุ์หลากพรรณนานาชนิดที่ถูกปลูกไว้สลับเรียงรายไม่ได้มุ่งให้เป็นกลุ่มพืชเป็นระเบียบอะไรนัก ทั้งไม้เบญจพรรณ ทั้งไม้ผล ทั้งไม้สมุนไพร ทั้งพืชล้มรุกประเภทพืชสวนครัวรั้วกินได้ ในสายตาผมที่เห็นทรัพยากรธรรมชาติเต็มพื้นที่นับหลายไร่ล้อมรอบบ้านพ่อผายคือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตของตนเองอย่างน่าพึงพอใจ กับการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯด้วยอาชีพเกษตรกรรมยิ่งได้พูดคุยในเวลาต่อมายิ่งทำให้ตระหนักว่าคำบอกเล่าล้วนเต็มไปด้วยปรัชญาที่แฝงให้พอได้รับรู้ถึงหลักการการกระทำและการดำเนินชีวิตแม้จะเป็นตามวิถีของชาวบ้านคนหนึ่งที่แทบมองไม่เห็นความหรูหราจากวัตถุสิ่งของอันทันสมัย แต่อดรู้สึกไม่ได้ว่าที่พ่อผายใช้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขนั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน ยิ่งใหญ่กับการเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินคนหนึ่งที่เติบโตในดินแดนที่ราบสูง บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ผู้ที่พัฒนาตนเองจากศูนย์กลายมาเป็นผู้ส่งทอดความคิด บางที่บุคคลที่ยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่เสมอไป พ่อผายได้ทำเรื่องที่สอนให้คนอยู่ได้อย่างยั่งยืนไม่ได้อยู่ได้แบบยิ่งใหญ่แต่ฉาบฉวย พ่อผายสร้างมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาอีสานคนถิ่นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนอีโตน้อย โดยไม่ต้องสร้างตึกรามเป็นอาคารเรียน ไม่ต้องสร้างรั้วคอนกรีตสร้างอาณาบริเวณเป็นเขตมหาวิชชาลัยหรือศูนย์เรียนรู้ แต่แหล่งเรียนของมหาวิชชาลัยและศูนย์เรียนรู้คือท้องนา คือแหล่งน้ำ ป่ารอบๆบ้านนั่นเอง นั่นคือมหาวิชชาลัยของพ่อผาย สร้อยสระกลาง ปราชญ์เกษตรแห่งลุ่มแม่น้ำมูล จากถนนใหญ่ที่บริเวณสองข้างทางคือทุ่งนาของชาวอำเภอลำปลายมาศ ทางเข้าบ้านมีแผ่นป้ายทำด้วยปีกไม้เขียนมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาอีสานและศูนย์เรียนรู้ชุมชนอีโต้น้อย คนผ่านไปมาก็เห็นเพียงเท่านั้นแล้วก็อย่างที่บอกมาแต่ต้นว่าพื้นที่บ้านพ่อผายมีแต่ป่ากับแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงไม่ต้องจ้างใครจ้างตัวเองทำ ตั้งแต่ปากทางเข้าไปที่ตัวบ้าน มีต้นไม้ที่ปลูกไว้เจริญงอกงามแทบจะทุกตารางนิ้วของพื้นที่ และ มีสระน้ำขนาดใหญ่สลับเป็นช่วงน้ำเต็มตลอด น้ำนี้เองเป็นที่มาของความเจริญงอกงามแห่งต้นไม้แล้วยังเอาไปใช้ในการเกษตร ที่ขาดไม่ได้แน่นอนในน้ำมีปลาหลายหลากชนิดแน่โดยไม่ต้องสงสัย แล้วก็แอบคิดสงสัยว่า พ่อผายไม่เสียดายพื้นที่บ้างเลยหนอเอามาทำเป็นสระน้ำตั้งมากมาย ที่บ้านวันนั้นไม่เจอพ่อผายไปทำบุญที่วัดเป็นวันออกพรรษาพอดี จึงได้เดินทางไปหาพ่อพายที่วัด วัดบ้านนอกเป็นวัดประจำชุมชนชื่อวัดชัยศรี ถึงกำลังอยู่ในช่วงมีงานบุญออกพรรษา ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นพ่อแก่แม่เฒ่ารวมตัวกันอยู่ที่วัด แต่ภาพรวมๆแล้วช่างเงียบสงบเหลือเกิน แทบหาเสียงอึกทึกครึกโครมไม่มี แว่วแต่เสียงพูดกันของผู้ไปทำบุญพูดคุยมาจากศาลาการเปรียญที่สวมเสื้อผ้าสีขาวเพื่อทำการถือศีลรวมถึงพ่อพายด้วย พ่อผาย สร้อยสระกลาง มีอาชีพเป็นเกษตรกรแต่ตอนนี้เกษียณงานไปแทบทั้งหมดแล้ว ทำไม่ไหวภาระทั้งหมดให้เป็นเรื่องของลูกหลาน ตอนนี้ใช้ชีวิตแบบคนสูงอายุทั่วไป ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เข้าวัดทำบุญ ปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่ก็จะทำอยู่วัดชัยศรี นี่แหละ พ่อพายกล่าวว่า “ที่ต้องปฏิบัติธรรมก็เพราะทำให้ผมได้ทบทวนชีวิตตัวเองและครอบครัวว่าที่ผ่านนั้นเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลัง และได้นำหลักธรรมเรื่องของความเมตตา กรุณามาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นที่มาของการให้ ให้ทั้งความรู้และสิ่งของ และทำให้เป็นสุขุม สงบนิ่ง เยือกเย็น และมีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่พุ่งเข้ามาชนกับชีวิตของเราอีกสิ่งหนึ่งที่ผมใช้ในการดำเนินชีวิตคือมองโลกในแง่บวก เพื่อไม่ให้ตนเองเครียด ไม่รู้จะเครียดไปทำไมและการคิดในแง่บวกทำให้การดำเนินชีวิตดีขึ้น” ชีวิตช่วงก่อนหน้านี้ของพ่อพายนั้นยากจนมาก มีกินแต่ไม่มีตังค์ เพราะไม่มีงานทำ โตขึ้นมาก็มาเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เริ่มแรกเลี้ยงหมู ตอน ป. 4 ซื้อมาเลี้ยงจากเงินที่เก็บหอมรอมริบไว้ พอหมูออกลูกก็เอาไปขาย นำเงินซื้อวัวมาเลี้ยง พอวัวโตก็ขายไปซื้อควายมาเลี้ยง จนมีรายได้ และได้ทำการเกษตร ...........................................